อาหารแห่งอนาคต หรือฟิวเจอร์ ฟู้ด (Future Food) ถือเป็นจุดเปลี่ยน และเป็นเทรนด์ใหม่ ที่ตอบโจทย์ความมั่นคงทางอาหารของโลก จากเป็นอาหารที่มีความปลอดภัย มีความแปลกใหม่ ดีต่อสุขภาพ สร้างความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม ลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก ตอบโจทย์ลดโลกร้อน ในส่วนของภาคเอกชนไทยได้เอาจริงเอาจังในเรื่องนี้ โดยในปี 2565 ได้มีการจัดตั้งสมาคมการค้าอาหารอนาคตไทย มีวิสัยทัศน์เพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรมอาหารอนาคตของไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืนตามหลักเศรษฐกิจ BCG
นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานกรรมการหอการค้าไทย ในฐานะนายกสมาคมการค้าอาหารอนาคตไทย เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า อาหารอนาคตเป็นที่สนใจ และเป็นกระแสของผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศ ทำให้เป็นโอกาส ส่งผลให้มีจำนวนผู้ประกอบการในการวิจัยพัฒนา การผลิต และทำตลาดอาหารอนาคตมากขึ้น ทั้งในกลุ่ม SME สตาร์ทอัพ รวมถึงกลุ่มบริษัทขนาดใหญ่ เช่น ซีพีเอฟ เบทาโกร ไทยยูเนี่ยน เนท์เล่ และกลุ่ม ปตท. เป็นต้น ทำให้ตลาดอาหารอนาคตมีความคึกคักมากยิ่งขึ้น ขณะที่จำนวนสมาชิกของสมาคมการค้าอาหารอนาคตไทยมีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ สะท้อนถึงการเติบโตของอุตสาหกรรม
สำหรับในปี 2565 การส่งออกสินค้าอาหารของไทยในภาพรวมมีมูลค่า 1.51 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 22% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของก่อน ในจำนวนนี้เป็นการส่งออกอาหารอนาคตมูลค่า 129,301 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 23% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า โดยตลาดส่งออกอาหารอนาคตไทย 5 อันดับแรกได้แก่ อาเซียน สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป (อียู 27 ประเทศ)และสหราชอาณาจักร จีน และญี่ปุ่น (กราฟิกประกอบ)
ในปีนี้คาดการณ์ส่งออกอาหารไทยในภาพรวมจะทรงตัวถึงเติบโต 0-2% ส่วนอาหารอนาคตคาดจะทรงตัวที่ 0% เป็นผลกระทบจากสถานการณ์เศรษฐกิจและการค้าโลกที่ชะลอตัว ส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อของผู้บริโภค ขณะที่ยังมีความท้าทายของโลกที่ยังต้องติดตามสถานการณ์อีกมาก เช่น ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ ภัยธรรมชาติ แนวโน้มดอกเบี้ย และมาตรการทางการค้าใหม่ ๆ ส่วนปัจจัยในประเทศ ได้แก่ ภาพรวมเศรษฐกิจ ภาคการท่องเที่ยว สถานการณ์ทางการเมือง ความแปรปรวนทางสภาพอากาศที่ส่งผลต่อภัยแล้ง กระทบปริมาณและราคาวัตถุดิบ
“ในปี 2567 คาดการส่งออกอาหารอนาคตของไทยจะมีมูลค่าราว 1.3-1.35 แสนล้านบาท โต 3-5% เมื่อเทียบกับปี 2566 จากเศรษฐกิจโลกคาดจะฟื้นตัวดีขึ้น จากสหรัฐฯหยุดขึ้นดอกเบี้ย ทำให้ผู้บริโภคเกิดความมั่นใจในการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น จากเทรนด์อาหารอนาคตได้รับความนิยมมากขึ้น และราคาสินค้าคาดจะเพิ่มขึ้นตามปรากฎการณ์เอลนีโญที่ส่งผลกระทบต่อวัตถุดิบ”
8 เทรนด์มาแรง 3 ปีจากนี้
นายวิศิษฐ์ กล่าวอีกว่า ข้อมูลของ Forbes นิตยสารการเงินชั้นนำในสหรัฐ คาดตลาดฟิวเจอร์ ฟู้ดของโลกในปี 2568 จะมีมูลค่าถึง 3.1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือมากกว่า 10 ล้านล้านบาท สำหรับเทรนด์อาหารอนาคตที่มาแรงในปี 2566 และคาดจะมาแรงในช่วง 3 ปีนับจากนี้มี 8 กลุ่มได้แก่ 1.Protein Choices ที่มีความยืดหยุ่นผสมผสานทั้งโปรตีนจากสัตว์และพืช 2.Balanced Wellness ที่ผู้บริโภควางแผนจะจัดการกับสุขภาพจิตของตนเอง 3.Proactive Personalization ที่ผู้บริโภคสนใจผลิตภัณฑ์ที่ตรงกับความต้องการทางโภชนาการ 4.Trust and Traceability ที่ผู้บริโภคต้องการทราบถึงที่มาที่ไปของอาหารว่าส่วนผสมอะไรบ้าง
5.Earth-Friendly Production ผู้บริโภคต้องการหลักฐานการสร้างและฟื้นฟูสภาพแวดล้อม 6.Social Impact ผู้บริโภคค้นหาแบรนด์ที่รับประกันว่าเกษตรกรได้รับการปฏิบัติอย่างมีจริยธรรม 7.Modern Pet Parenting สัตว์เลี้ยงเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัว และ 8.Experiential Eating ผู้บริโภคต้องการลองรสชาติใหม่ ๆ
ทั้งนี้เพื่อให้ตลาดอาหารแห่งอนาคตของไทยขยายตัวมากขึ้น ภาคเอกชนมีข้อเสนอต่อภาครัฐ ดังนี้ ขอให้การส่งเสริมและสนับสนุนผู้ประกอบการอาหารทุกขนาดธุรกิจ โดยเฉพาะกลุ่มสตาร์ทอัพ และ SME, ยกระดับนวัตกรรมอาหารอนาคตทั้งในเรื่องคุณภาพ และมาตรฐาน และมีต้นทุนที่ลดลง, การสร้างตลาดทั้งในและต่างประเทศ, การปรับปรุงกฎระเบียบต่าง ๆ ที่อาจเป็นอุปสรรคต่อกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารอนาคต, การสร้างฐาน BIG DATA เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถนำข้อมูลที่แม่นยำมาใช้ในการวางแผนทางการตลาด เช่น พฤติกรรมผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงการส่งเสริมด้านแหล่งเงินทุนงานวิจัยที่สามารถใช้ได้จริงในเชิงพาณิชย์
“ฐานเศรษฐกิจ” รวบรวมข้อมูลล่าสุดพบว่า ผู้ประกอบการของไทยต่างหันมาพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารแห่งอนาคตมากขึ้นทุกขณะ ไม่ว่าจะเป็น “ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป” ที่จับมือ 4 สตาร์ทอัพ ส่งแบรนด์ “OMG Meat” อาหารโปรตีนทางเลือกเข้าสู่ตลาดในรูปอาหารทะเลจากพืช เช่น ขนมจีบปู หอยจ๊อปู นักเก็ต และรูปแบบที่ไม่ใช่อาหารทะเล เช่น เนื้อไก่ หมู จากพืช
ขณะที่บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ นำร่องเปิดตัวผลิตภัณฑ์เนื้อจากพืช “MEAT ZERO” ไปก่อนหน้านี้ ล่าสุดเปิดตัวผลิตภัณฑ์กลุ่มอาหารและเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ ภายใต้แบรนด์ INNOWENESS และผลิตภัณฑ์ “Nutrimax” ซุปไก่ผสมฟักทองและไข่ อาหารทางการแพทย์สูตรครบถ้วน พัฒนาร่วมกับโรงพยาบาลรามาธิบดี และ “Fito Puree” ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร น้ำผักและผลไม้รวมผสมวิตามิน มีสารอาหารกลุ่มไฟโตนิวเทรียท์ จากผักผลไม้ 5 สี 26 ชนิด
บริษัท ธนากรผลิตภัณฑ์น้ำมันพืช จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายน้ำมันพืช “กุ๊ก” ภายใต้กลุ่มพูลผล ผลิต “วุ้นเส้นต้นสน” ที่ผลิตโดยใช้แป้งถั่วเขียว 100% เป็นฟิวเจอร์ฟู้ด เพราะดัชนีน้ำตาลต่ำ, ไม่มี Gluten, ไม่ดัดแปลงพันธุกรรม พัฒนานวัตกรรมสินค้า “วุ้นเส้นไม่ฟอกสี” ตอบโจทย์เรื่องสุขภาพ และในปี 2567 จะเปิดตัวสินค้านวัตกรรมอินกรีเดี้ยนสำหรับอุตสาหกรรมแพลนต์เบส (Plant-based)
กลุ่มธุรกิจ TCP พร้อมเปิดตัวแบรนด์ “ฟาร์มซ่า” (FarmZaa) เครื่องดื่มโซดาน้องใหม่ ที่ผลิตจาก “มะปี๊ด ผลไม้ถิ่นเมืองจันท์”, “แพลนเนต” (Planett) เครื่องดื่ม Floral Soda ไม่มีน้ำตาล และแคลอรี่ และ “เบสท์เชอรัล คอลลาเจน กัมมี่” ที่ผ่านการคัดเลือกและเป็นส่วนหนึ่งของโชว์เคสอาหารแห่งอนาคต “เบทาโกร” เปิดตัว “Mealty!” แพลนต์เบสโปรตีนพรีเมียม ในรูปแบบพร้อมทาน กับ 3 เมนู อาหารไทย ได้แก่ หลนเต้าเจี้ยว น้ำพริกลงเรือ และ คั่วกลิ้งหมูสับจากพืช เป็นต้น
หน้า 1 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3924 วันที่ 21 – 23 กันยายน พ.ศ. 2566