อินเด็กซ์จับมือภิรัชบุรี จัดนิทรรศการอวกาศครั้งแรกในเอเชีย

23 ก.ย. 2567 | 21:43 น.

อินเด็กซ์ ร่วม ภิรัชบุรี จัดงานอวกาศครั้งใหญ่ "SPACE JOURNEY BANGKOK" พร้อมเดินหน้าดันไทยเป็นฮับนวัตกรรม-เทคโนโลยีเอเชีย

ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ เปิดเผยว่า  ภาพรวมธุรกิจอวกาศทั่วโลก มีมูลค่า 3.3 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว 100 ล้านล้านบาท ภายใน 10 ปีข้างหน้า ซึ่งเป็นตัวเลขที่สะท้อนให้เห็นถึงศักยภาพและการเติบโตอย่างรวดเร็วของอุตสาหกรรมนี้

ปัจจุบัน ธุรกิจอวกาศไม่ได้จำกัดอยู่เพียงการสำรวจอวกาศเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการนำเทคโนโลยีอวกาศมาประยุกต์ใช้ในด้านต่างๆ เช่น การสื่อสาร การถ่ายภาพจากดาวเทียม และอื่นๆ ทำให้เกิดการแข่งขันที่สูงขึ้นในภาคเอกชนทั่วโลก บริษัทต่างๆ ต่างเข้ามาลงทุนและพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน

ด้วยความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่ขับเคลื่อนให้ธุรกิจอวกาศเติบโตอย่างรวดเร็ว ล่าสุด อินเด็กซ์ ครีเอทีฟ ร่วมกับ ภิรัชบุรี กรุ๊ป ได้นำนิทรรศการด้านอวกาศระดับโลกมาจัดแสดง ณ ประเทศไทยเป็นครั้งแรกในภูมิภาคเอเชีย

อินเด็กซ์จับมือภิรัชบุรี  จัดนิทรรศการอวกาศครั้งแรกในเอเชีย

ภายใต้ชื่อ "SPACE JOURNEY BANGKOK" ซึ่งนับเป็นก้าวสำคัญในการจุดประกายความสนใจและสร้างแรงบันดาลใจด้านวิทยาศาสตร์และอวกาศให้แก่คนไทยทุกเพศทุกวัย อีกทั้งยังเป็นการตอกย้ำถึงศักยภาพของประเทศไทยในการเป็นศูนย์กลางด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีแห่งภูมิภาค

นายเกรียงกานต์ กาญจนะโภคิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารร่วม บริษัทอินเด็กซ์ ครีเอทีฟ วิลเลจ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ที่ผ่านมานิทรรศการอวกาศระดับโลกนี้ มีการจัดแสดงไปแล้ว 5 ประเทศในยุโรป ภายใต้ชื่อ “Cosmos Discovery Space Exhibition”

ซึ่งมีผู้เข้าชมงานรวมกว่า 1 ล้านคน โดยการจัดแสดงในประเทศไทยครั้งนี้ มีเป้าหมายผู้เข้าชมงาน 200,000 คน ในระยะเวลา 4 เดือน ซึ่งคิดว่าผู้เข้าชมส่วนใหญ่จะเป็นคนไทย 70% และชาวต่างชาติ 30%

อินเด็กซ์จับมือภิรัชบุรี  จัดนิทรรศการอวกาศครั้งแรกในเอเชีย

โดยมองว่าเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านอวกาศ มีความเกี่ยวเนื่องและสัมพันธ์กับชีวิตประจำวันอยู่ตลอด จากที่เคยได้มีโอกาสเข้าชมงานในต่างประเทศ ทำให้ได้เปิดมุมมองใหม่และเกิดแรงบันดาลใจ ได้เห็นถึงความพยายามของมนุษย์ในการออกไปสู่นอกโลก เป็นสิ่งที่เหนือขีดจำกัดและเกินกว่าจินตนาการ 

จึงเกิดความคิดในการจุดประกายอยากให้คนไทยได้เห็น จนนำมาซึ่งการจัดงาน Space Journey Bangkok ครั้งแรกที่ประเทศไทย และเป็นครั้งแรกในเอเชีย สมกับความตั้งใจและเป้าหมายเพื่อเปิดโลกแห่งการเรียนรู้ให้กับคนไทย โดยเฉพาะกลุ่มเยาวชน นักเรียน นักศึกษา เพื่อนำไปต่อยอดสู่การพัฒนาเทคโนโลยีด้านอวกาศ     

นายปิติภัทร บุรี ประธานเจ้าหน้าที่บริหารภิรัชบุรี กรุ๊ป  กล่าวว่า การศึกษานั้น จริงๆ ไม่ใช่แค่เรื่องในห้องเรียน หรืออ่านหนังสือ หรือค้นคว้าผ่านอินเทอร์เน็ต ซึ่งอีกหนึ่งในการเรียนรู้ที่ช่วยส่งเสริมเราได้ คือการได้มีโอกาสเรียนรู้ผ่านประสบการณ์ที่ดี (Education through Experience)

เราได้มีโอกาสไปดูพิพิธภัณฑ์ทั้งในประเทศและต่างประเทศ สังเกตว่าพิพิธภัณฑ์ที่ดีต้องทันสมัย เข้าถึงได้ และมากกว่านั้นคือ สามารถนำมาสะท้อนการเปลี่ยนแปลงตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันได้ ซึ่ง Space Journey Bangkok เป็นหัวข้อที่ตอบโจทย์นั้น เพื่อให้ได้ประสบการณ์ที่ครบถ้วน

อินเด็กซ์จับมือภิรัชบุรี  จัดนิทรรศการอวกาศครั้งแรกในเอเชีย

สำหรับค่าใช้จ่ายในการนำ Space Journey Bangkok เข้ามาจัดแสดงนั้น จึงค่อนข้างสูง รวมถึงค่าลิขสิทธิ์ การนำอุปกรณ์เข้ามา และขนาดของพื้นที่ ที่ต้องใช้ถึง 2,000 ตารางเมตร จึงอยากให้คนไทยและเพื่อนบ้านในแถบอาเซียนได้มีโอกาสชมงาน Space Journey Bangkok ครั้งนี้

โดยได้พิจารณาให้เปิดเข้าชม ถึง 4 เดือน ซึ่งคิดว่าเป็นระยะเวลาที่เหมาะสมเพื่อให้ทุกคนสามารถจัดสรรเวลาเข้ามาชมงานได้ อย่างไรก็ดี ในพื้นที่ไบเทคบุรี มีการรองรับได้มากกว่า 400 กว่างาน และปีนี้เราคาดการณ์ว่าจะมีถึง 7 ล้านคนที่เข้ามายังสถานที่ของเรา

เราได้พัฒนาธุรกิจด้านความบันเทิงอย่างต่อเนื่อง ทั้งในเชิง Sport Service Entertainment  ที่ BEAT Active และ BITEC Live ที่รองรับการจัดคอนเสิร์ตซึ่งเพิ่งเปิดตัวไป โดยมีกลุ่มลูกค้าหลัก 4 กลุ่ม ได้แก่ People & Business, Active Lifestyle, Family, Group of friend

นอกจากนี้เรายังให้ความสำคัญกับการจัดงานที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา โดยในช่วง 4 เดือนนี้ จะมีถึง 8 งานที่จัดขึ้นเพื่อกลุ่มเด็กและนักศึกษา และไบเทคบุรีเล็งเห็นความสำคัญของตลาดกลุ่ม B2C โดยเชื่อมั่นว่าความหลากหลายของกิจกรรมจะช่วยต่อยอดธุรกิจและตอบสนองต่อความต้องการของตลาดได้อย่างมีประสิทธิภาพในอนาคต เพื่อสร้างโอกาสใหม่ๆ และตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคในระดับที่สูงขึ้น  

การนำ Space Journey Bangkok มาจัดในครั้งนี้ ช่วยส่งเสริมกลุ่มการศึกษาให้มากขึ้น  ซึ่งคนไทยหลายๆ คนอาจจะรู้สึกว่าเรื่องที่อยู่นอกโลกมันเป็นเรื่องไกลตัวแต่จริงๆ แล้วประเทศไทยของเรามีศักยภาพและความสามารถในหลากหลายด้านที่น่าทึ่งกว่าที่หลายคนคาดคิด

เช่น อาหารไทยที่ผ่านมาตรฐานระดับสากลจนได้รับเลือกให้เป็นอาหารสำหรับนักบินอวกาศ หรือเทคโนโลยีไมโครชิปและดาวเทียมที่ผลิตโดยคนไทย รวมถึงนักวิชาการไทยที่ร่วมงานกับองค์กรชั้นนำระดับโลกอย่างนาซ่า

อินเด็กซ์จับมือภิรัชบุรี  จัดนิทรรศการอวกาศครั้งแรกในเอเชีย

เหตุการณ์เหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่าการเดินทางสู่อวกาศมิใช่เรื่องไกลตัวสำหรับคนไทยอีกต่อไป นิทรรศการครั้งนี้จึงเป็นการเปิดโอกาสให้ทุกคนได้สัมผัสและเรียนรู้เรื่องราวเกี่ยวกับอวกาศอย่างใกล้ชิด ผ่านการจัดแสดงแบบจำลองและชิ้นส่วนจริงที่เกี่ยวข้องกับการสำรวจอวกาศจากทั่วโลก

เราหวังว่านิทรรศการครั้งนี้จะสร้างแรงบันดาลใจให้กับทุกคน ตระหนักถึงความสำคัญของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่นำไปสู่การพัฒนาประเทศ ในอนาคต

ภายในนิทรรศการจะแบ่งออกเป็นห้องต่างๆ ที่มีการบอกเล่าตั้งแต่ประวัติศาสตร์การเริ่มต้นขึ้นไปสำรวจอวกาศตั้งแต่ครั้งแรกจนถึงปัจจุบัน ห้องให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับอดีต ปัจจุบัน และอนาคตของการสำรวจอวกาศ ห้องรวบรวมวัตถุจริงและวัตถุหาชมยากกว่า 600 ชิ้น

ทั้งจากสหรัฐอเมริกา สหภาพโซเวียต และอื่นๆ นำมาจัดแสดงใน 10 ห้องนิทรรศการในรูปแบบเสมือนจริง โซนโลกจักรวาลแบบ Interactive พร้อมมอบประสบการณ์ชมภาพยนตร์ 3 มิติ และกิจกรรมแห่งความสนุกสนาน ต่างๆ อาทิ  คอสมอส แคมป์ (Cosmos Camp) พบกับศูนย์ฝึกอบรมนักบินอวกาศ การขับขี่ VR รวมถึงเครื่องไจโรสโคป เป็นต้น 

ไฮไลต์ที่น่าสนใจสำหรับนิทรรศการในครั้งนี้ 

  • ชิ้นส่วนประกอบดั้งเดิมของเครื่องยนต์ F1 ของกระสวยอวกาศ แซทเทิร์น V (Saturn V) ที่กอบกู้มาจากก้นมหาสมุทรแปซิฟิก  โดย Jeff Besos เจ้าของ Amazon 
  • แผงควบคุมต้นฉบับจากศูนย์บัญชาการภารกิจฮูสตัน ที่วิศวกรได้ใช้สื่อสารกับนักบินอวกาศในภารกิจ Apollo และกระสวยอวกาศชุดแรกๆ 
  • แบบจำลอง 1:1 ของโมดูลควบคุมยาน Apollo  โมเดลนี้ได้ติดตั้งอุปกรณ์ควบคุมตามยุคสมัยตลอดระยะเวลาการบิน ซึ่งนักบินอวกาศต้องอยู่ในพื้นที่แคบที่ต้องแบ่งปันพื้นที่กับวัสดุที่เก็บมาด้วย เช่น ชิ้นส่วนหินจากดวงจันทร์
  • แบบจำลองรถสำรวจดาวอังคาร หุ่นยนต์ที่ทำงานหนักที่สุดนอกโลกจากเดิมมีแผนทำงาน 90 วัน แต่สุดท้ายทำงานถึง 5,498 วัน 
  • แบบจำลองของยานสำรวจดวงจันทร์ ช่วยนักบินอวกาศไม่ต้องเดินเท้าในภารกิจ Apollo 15, 16 และ 17 
  • รถสำรวจดวงจันทร์ Lunokhod ของรัสเซีย ส่งขึ้นไปแทนมนุษย์บนยาน Luna ผ่านการควบคุมจากศูนย์ควบคุมภาคพื้นดิน  
  • Collection ของอุกกาบาต รวมหินจากดาวอังคารของสะสมที่มีเอกลักษณ์มูลค่าต่อกรัมสูงกว่าทองคำ