นโยบายลดดอกเบี้ยดันเศรษฐกิจฟื้น เอกชนชี้สัญญาณดี เร่งขับเคลื่อนธุรกิจโต

27 ต.ค. 2567 | 21:10 น.

เอกชนเผยเศรษฐกิจไทยสัญญาณดี นโยบายการปรับลดดอกเบี้ยช่วยผู้ประกอบการ-กำลังซื้อฟื้นตัวแนะพัฒนาศักยภาพแรงงาน เตรียมรับการลงทุนอุตสาหกรรมใหม่

นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานกรรมการหอการค้าไทย และนายกสมาคมการค้าอาหารอนาคตไทย เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า จากภาพรวมการส่งออกไทย 8 เดือนแรกของปี 2567 โตขึ้นประมาณ 4.2% ทำให้คาดว่าตลอดทั้งปีน่าจะเติบโตและส่งผลดีต่อภาวะเศรษฐกิจ แม้ที่ผ่านมาจะสังเกตได้ว่าในประเทศไทยมีข่าวการดอกเบี้ยปรับเพิ่มขึ้นตลอด แต่ในครั้งนี้ถือเป็นช่วงที่มีโอกาสได้เห็นดอกเบี้ยอยู่ในช่วงขาลงบ้าง

หลังจากมีนโยบายลดอัตราดอกเบี้ย สิ่งแรกที่เห็นผลได้ทันทีคือ ธนาคารต่างเริ่มทยอยปรับลดดอกเบี้ยลง ทำให้ต้นทุนในการทำธุรกิจของผู้ประกอบการเบาลง แม้จะยังไม่ส่งผลมากนักแต่เป็นสัญญาณที่ดี ถัดมาในประเด็นที่สองคือ เกิดสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโดยตรง

โดยการลดดอกเบี้ยในช่วงนี้ประเทศไทยไม่ใช่ผู้ริเริ่มเป็นประเทศแรก เพราะมีหลายประเทศในโลกปรับลดอัตราดอกเบี้ยไปก่อนหน้าแล้ว เป็นสัญญาณการกระตุ้นเศรษฐกิจของแต่ละประเทศที่เกิดขึ้นทั่วโลก เพื่อกระตุ้นกำลังซื้อผู้บริโภคให้ทยอยกลับมา แม้ไม่ใช่การปรับเปลี่ยนเพื่อให้เกิดผลในทันทีแต่จะส่งผลในระยะยาว และส่งผลดีต่อตลาดโลกด้วย และเป็นโอกาสของประเทศไทยที่ยังคงพึ่งพาการส่งออก ทำให้ส่งสินค้ไปยังต่างประเทศได้มากขึ้นด้วย

ขณะเดียวที่ รายงานผลประกอบการธนาคารพาณิชย์ประจำงวด 9 เดือนปี 2567 ซึ่งกำไรสุทธิเพิ่มขึ้นแต่กลับปล่อยสินเชื่อลดลงถึง 3 แสนล้านบาท ได้ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะผู้ประกอบการธุรกิจเอกชนรายเล็กและเอสเอ็มอีที่ไม่มีหลักทรัพย์สามารถยื่นขอกูเงินลงทุนจากธนาคารได้ หลายรายต้องอาศัยกู้เงินจากนอกระบบเพื่อไม่ให้ธุรกิจล้มลง และกรณีนี้จะแตกต่างจากภาพใหญ่ของประเทศที่ธุรกิจเอกชนยังคงเดินหน้าผลักดันเศรษฐกิจไปได้ด้วยดี

 

นโยบายลดดอกเบี้ยดันเศรษฐกิจฟื้น เอกชนชี้สัญญาณดี เร่งขับเคลื่อนธุรกิจโต

นายวิศิษฐ์ กล่าวว่า เมื่อสถานการณ์เริ่มมีความมั่นคงและเกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจ ความเสี่ยงของธนาคารเริ่มจะลดลงด้วย รวมถึงความเคลื่อนไหวของเศรษฐกิจทั้งโลกที่มีแนวโน้มฟื้นตัวขึ้น ฉะนั้นในตอนนี้จึงเริ่มเห็นมาตรการช่วยเหลือธุรกิจรายย่อยออกมาจากธนาคารของภาครัฐ ที่ออกแคมเปญช่วยเหลือผู้ประกอบการมากขึ้น ธนาคารบางแห่งสามารถยื่นกู้ขอสิ้นเชื่อได้ในวงเงินจำกัด บางแห่งเริ่มออกแคมเปญอัตราดอกเบี้ยพิเศษ เป็นต้น

“ที่ผ่านมาสิ่งที่ผู้ประกอบการธุรกิจต้องทำคือ ปรับตัวอยู่ตลอดเพื่อให้อยู่รอด แม้ส่วนหนึ่งที่ปรับตัวไม่ทันจะยุติกิจการไปแล้ว แต่ส่วนที่ยังเหลืออยู่มาจนถึงปัจจุบันก็ต้องติดตามนโยบายอย่างใกล้ชิดไม่ว่าจะเป็นนโยบายภายในประเทศไทยหรือนโยบายต่างประเทศ และต้องดูกลุ่มเป้าหมาย ลูกค้า ตลาด และปรับสินค้าให้ตรงกับความต้องการของผู้บริโภคมากขึ้น ในทางหนึ่งอาจเรียกได้ว่ายุคนี้ผู้ประกอบการไม่สามารถอยู่ในคอมฟอร์ตโซนได้”

นายวิศิษฐ์  กล่าวว่า ในเรื่องของภาพการลงทุนก็เริ่มมีสัญญาณดีขึ้น โดยเฉพาะในภูมิภาคอาเซียน เป็นโอกาสสำหรับนักลงทุนจากหลายประเทศทั่วโลกที่จะเข้ามาในพื้นที่ และประเทศไทยต้องหันมองตัวเองว่ามีความพร้อมและศักยภาพมากแค่ไหน สำหรับการเชิญชวนนักลงทุนแต่ละกลุ่มทั้งธุรกิจและอุตสาหกรรมยุคใหม่ เช่น อุตสาหกรรมชิปอิเล็กทอร์นิกส์ แผ่นแผงวงจรที่มีระบบ Ai เข้ามาเกี่ยวข้อง

เห็นได้ชัดเจนว่าพื้นฐานโครงสร้างธุรกิจและโลจิสติกส์คือสิ่งสำคัญสำหรับการตัดสินใจของนักลงทุน อย่างการเชื่อมต่อเส้นทางไปยังหลากหลายประเทศที่สามารถขยายตลาดและสร้างโอกาสทางธุรกิจได้ แม้ประเทศไทยจะมีจุดเด่นในข้อนี้ แต่ต้องเพิ่มเติมคือ 1. เรื่อง FTA หรือเขตการค้าเสรีกับประเทศที่อยู่ไกลออกไปอีก เพื่อเพิ่มความครอบคลุมของตลาดให้มากขึ้น 2. ความพร้อมในโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งรถ เรือ ราง อากาศ และการเชื่อมต่อของถนนหนทางเพื่อส่งสินค้า รวมถึงเรื่องน้ำและไฟที่จำเป็นต้องใช้ในธุรกิจและอุตสาหกรรม ต้องพร้อมรองรับเพื่ออนาคต โดยข้อนี้ประเทศไทยถือว่ามีพร้อมเพียงพอ เรียกได้ว่าศักยภาพหลายอย่างได้เปรียบประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคเดียวกันหลายส่วน

ทั้งนี้ หากต้องการให้ผู้ประกอบการไทยสามารถแข่งขันกับผู้ประกอบการในประเทศอื่นได้จะต้องร่วมขับเคลื่อนกัน 3 ส่วน คือ 1.ภาครัฐจะต้องมีรายงานความยากง่ายในการประกอบธุรกิจ หรือ The Ease of Doing Business ต้องวิเคราะห์การพัฒนาและลดต้นทุนของภาคธุรกิจให้ได้มากที่สุด และหลายอย่างในปัจจุบันใช้เรื่องเทคโนโลยีเข้ามาช่วยได้ ไม่ว่าจะเป็นการตรวจสอบ การลงทะเบียน หรือการยื่นเอกสารที่ไม่จำเป็นต้องใช้แรงงานคน สามารถได้ด้วยระบบดิจิทัล

2. ภาคธุรกิจต้องมีความพร้อม เพื่อเดินหน้าทำธุรกิจกับทุกประเทศทั่วโลก ทั้งติดตามข่าวสารกฎเกณฑ์ ระเบียบข้อบังคับใหม่ ต้องเท่าทันสถานการณ์โลก และ 3.ภาคแรงงาน ประเทศไทยไม่ได้มีแรงงานจำนวนมาก ฉะนั้น ต้องพัฒนาคนให้เป็นแรงงานคุณภาพ เร่งสร้างคนให้มีทักษะที่ตรงกับอุตสาหกรรมใหม่