“พาณิชย์” ดันอาหารไทย ขึ้นแท่นซอฟต์พาวเวอร์ หนุนเศรษฐกิจท่องเที่ยว

11 ธ.ค. 2566 | 07:49 น.
อัพเดตล่าสุด :11 ธ.ค. 2566 | 07:57 น.

“พาณิชย์” ถก 2 หน่วยงานรัฐ ปลุกอาหารไทย รับนโยบายซอฟต์พาวเวอร์ เร่งอัด 3 แคมเปญ ดึงผลิตภัณฑ์ของดีชุมชน สร้างรายได้เข้าประเทศ หวังขับเคลื่อนเศรษฐกิจท่องเที่ยวโตต่อเนื่อง

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า สำหรับการประชุมหารือแนวทางการผลักดันเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ผ่านนโยบายซอฟต์พาวเวอร์ (Soft Power) ของรัฐบาล เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวและสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ ภายใต้ยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ ร่วมกับ นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา และ นางสาวฐาปนีย์ เกียรติไพบูลย์ ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) นั้น จากที่รัฐบาลมีนโยบายให้ร่วมกันผลักดันใช้ Soft Power ของประเทศเป็นเครื่องมือสำคัญขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจประเทศเติบโตได้อย่างเข้มแข็ง 

“พาณิชย์”  ดันอาหารไทย ขึ้นแท่นซอฟต์พาวเวอร์ หนุนเศรษฐกิจท่องเที่ยว

ทั้งนี้กรมพัฒนาธุรกิจการค้าจึงเตรียมที่จะร่วมมือกับกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และ ททท. ในการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการใช้ประโยชน์จากโครงการอาหารไทย (Thai SELECT) และสินค้าชุมชน (Smart Local) ซึ่งเป็นซอฟต์พาวเวอร์ (Soft Power) อย่างหนึ่ง ในการเพิ่มรายได้ให้ท้องถิ่น โดยเฉพาะการสร้างความตระหนักรู้แก่นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ ผ่านอาหาร วัฒนธรรม ประเพณี สถานที่ท่องเที่ยว ตลอดจนสินค้าชุมชนหลากหลายประเภท ทำให้เกิดการจดจำและพร้อมเผยแพร่ต่อให้กับญาติพี่น้องและเพื่อนของตน
 

นางอรมน กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ที่ประชุมเห็นร่วมกันว่าจะผลักดันอาหารไทยเป็น Soft Power ของประเทศ โดยในส่วนของกรมพัฒนาธุรกิจการค้ามีร้านอาหาร Thai SELECT อยู่ทั่วประเทศ 370 ร้าน ที่ผ่านการเห็นชอบของคณะกรรมการคัดเลือกว่าผ่านเกณฑ์มาตรฐานของอาหารไทย ทันสมัย มีเสน่ห์คงความเป็นเอกลักษณ์ไทย มีอัตลักษณ์ต่อยอดภูมิปัญญาท้องถิ่น ร้านตกแต่งสวยงาม บริการเป็นเลิศ และสินค้าผลิตภัณฑ์ชุมชนที่ได้มาตรฐานมีคุณภาพดีของ Smart Local อยู่ทั่วประเทศ 

 

ขณะเดียวกันกรมฯจะร่วมมือกับกระทรวงท่องเที่ยวฯ และ ททท.ประชาสัมพันธ์ร่วมกับเส้นทางท่องเที่ยวเพื่อสร้างความประทับใจและขยายการตลาด การเข้าถึงของนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติ โดยอาหารไทยเป็นที่รู้จักได้รับความนิยมและเป็นที่ชื่นชอบจากคนทั่วโลกอยู่แล้ว 

 

นอกจากนี้อาหารไทยยังเป็นต้นทุนทางภูมิปัญญาและวัฒนธรรมที่เข้มแข็งของไทยมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว รสชาติที่หลากหลาย ความสวยงาม และความอร่อยที่เป็นจุดเด่นสำคัญ ส่งผลให้อาหารไทยเป็น Soft Power ลำดับ 1 ของประเทศ และไม่ยากที่จะผลักดันให้นักท่องเที่ยวรู้จัก/ลิ้มลองรสชาติอาหารไทยเพิ่มขึ้น สร้างรายได้เข้าประเทศ สร้างความจดจำ พร้อมใช้จ่ายเงินเพื่อให้เข้าถึงอาหารไทยและผลิตภัณฑ์ของเด่นของดีในชุมชน และส่งต่อความพิเศษ Soft Power ไทย ผ่านเรื่องราว เรื่องเล่า และประสบการณ์ร่วมที่น่าประทับใจ
 

นางอรมน กล่าวต่อว่า กรมพัฒนาธุรกิจการค้าพร้อมเป็นส่วนหนึ่งที่ผลักดันอาหารไทยเป็น Soft Power ที่ครองใจนักท่องเที่ยว โดยเร่งผลักดันร้านอาหารไทยที่ได้รับตราสัญลักษณ์ Thai SELECT ของกรมฯ สร้างโอกาสทางการตลาด ภายใต้สโลแกนอาหารไทย ต้อง Thai SELECT และเชื่อมโยงสู่ภาคการท่องเที่ยว โดยมุ่งหวังให้ร้าน Thai SELECT เป็นหนึ่งใน Soft Power ที่คนทั่วโลกต้องการเดินทางมาลิ้มลอง ขับเคลื่อนให้เกิดกระแสนิยมบริโภคอาหารไทย และเผยแพร่วัฒนธรรมไทยให้ดังไกลไปทั่วโลก 

 

สำหรับการเตรียมจัดกิจกรรมในครั้งนี้ทั้ง 3 หน่วยงาน จะร่วมจัดทำแผนปฏิบัติการเชิงรุกและเร่งดำเนินการให้เห็นผลเป็นรูปธรรมต่อไป  ได้แก่ 1.แคมเปญส่งเสริมการตลาดร่วมกัน เช่น การส่งเสริมร้านอาหาร Thai SELECT ผ่านแคมเปญเที่ยว ฟิน กิน Thai SELECT ขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยพลัง Soft Power อาหารไทย การเชื่อมโยงแหล่งท่องเที่ยวกับสินค้าชุมชน (Smart Local) และธุรกิจในพื้นที่ ทั้งการบูรณาการส่งเสริมการตลาดเชิงพื้นที่ ส่งเสริมการท่องเที่ยว อนุรักษ์ภูมิปัญญาชุมชน และเพิ่มคุณค่าของประสบการณ์ร่วม

 

2.กิจกรรมร่วมกับกลุ่มวิสาหกิจชุมชนและศูนย์การเรียนรู้ชุมชนในแต่ละท้องถิ่น เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวเข้าไป ณ ชุมชนมากขึ้น และจัดเส้นทางท่องเที่ยวเพื่อความยั่งยืนของชุมชน ประชาสัมพันธ์แนะนำแหล่งท่องเที่ยว ที่พัก (Homestay) คู่กับสินค้าชุมชน (DBD Smart Local/ Digital Village) และร้านอาหารพื้นถิ่น (Thai SELECT) เพื่อสร้างความเข้มแข็งและให้เกิดการกระจายรายได้สู่ท้องถิ่น เพิ่มช่องทางการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ชุมชน สร้างโอกาสทางการค้าให้ผลิตภัณฑ์ชุมชน (Smart Local) เข้าถึงกลุ่มนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น

 

3.การเชื่อมเส้นทางท่องเที่ยวเพื่อเปิดประสบการณ์ใหม่ๆ ในทุกๆ วัน ที่จะช่วยส่งเสริมการขายผลิตภัณฑ์ชุมชน ร้านอาหารไทย Thai SELECT ในพื้นที่ ผ่านกิจกรรมของเด่นพื้นที่ ของดีพื้นถิ่น เพื่อสร้างจุดเด่นและความแตกต่าง รวมทั้ง จัดทำเส้นทางท่องเที่ยวเมืองหลักและเมืองรองร้านอาหาร Thai SELECT ในทุกภูมิภาค เช่น ภาคเหนือ : เชียงใหม่ เชียงราย น่าน พิษณุโลก นครสวรรค์ ภาคกลาง : พระนครศรีอยุธยา ชัยนาท ลพบุรี สุพรรณบุรี ราชบุรี ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ : นครราชสีมา บุรีรัมย์ หนองคาย บึงกาฬ ร้อยเอ็ด ภาคตะวันออก : ชลบุรี จันทบุรี ตราด สระแก้ว นครนายก ภาคใต้ : สุราษฎร์ธานี พัทลุง นครศรีธรรมราช ตรัง ยะลา