การพื้นตัวของอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ส่งผลต่อการขยายตัวของผู้โดยสารที่ใช้บริการสนามบินต่างๆรวม 39 แห่งทั่วไทย มีอัตราฟื้นตัวต่อเนื่องหลังโควิด ประกอบกับรัฐบาลมีนโยบาย IGNITE THAILAND ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยสู่อนาคตที่ยั่งยืน โดยผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวและศูนย์กลางการบินในภูมิภาค ดังนั้นการขยายศักยภาพของสนามบิน เพื่อรองรับนักท่องเที่ยว จึงมีความสำคัญ
ส่งผลให้ในช่วง 5 -10 ปีนี้จะเกิดการขยายศักยภาพของสนามบินที่มีอยู่ให้รองรับผู้โดยสารและเที่ยวบินได้เพิ่มขึ้น รวมถึงการสร้างสนามบินใหม่ ที่จะเกิดขึ้นในทุกภูมิภาคทั่วไทย โดยเป็นการลงทุนของบริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) AOT ซึ่งครองส่วนแบ่งกว่า 86.7% ของผู้ใช้บริการสนามบินทั้งหมดในไทย ด้วยเงินลงทุนกว่า 3.39 แสนล้านบาท
ตามมาด้วยโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก ที่เป็นโครงการ PPP ระหว่างรัฐ-UTA มูลค่าการลงทุน 2.04 แสนล้านบาท การสร้างสนามบินใหม่ 6 แห่ง ของกรมท่าอากาศยาน (ทย.) 2.16 หมื่นล้านบาท และการขยาย 2 สนามบินของบางกอกแอร์เวย์ส มูลค่าการลงทุน 2.3 พันล้านบาท
นายกีรติ กิจมานะวัฒน์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) AOT หรือ ทอท.เปิดเผยถึงทิศทางการพัฒนาสนามบินของทอท.ว่า ในช่วง 5-10 ปีนี้ จะเพิ่มศักยภาพสนามบินทั้ง 6 แห่งของทอท. เพื่อรอรับผู้โดยสารเพิ่มเป็น 170 ล้านคนในปี 2572 และเพิ่มเป็น 210 ล้านคน ภายในปี 2575
รวมถึงสร้างสนามบินใหม่อีก 2 แห่ง เพื่อให้สอดรับนโยบายของรัฐบาลในการผลักดันให้ไทยก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางการบินของภูมิภาค และยกระดับสนามบินสุวรรณภูมิให้ติดอันดับ 1 ใน 20 สนามบินที่ดีที่สุดในโลก ภายใน 5 ปี จากปัจจุบันอยู่ในอันดับ 58 ของโลก
โดยทอท. มีแผนพัฒนา “สนามบินสุวรรณภูมิ” เต็มพื้นที่ เพื่อรองรับเที่ยวบินเพิ่มจาก 68 เที่ยวบินต่อชั่วโมง เป็น 94 เที่ยวบินต่อชั่วโมง และเตรียมสร้างโครงการส่วนต่อขยายอาคารผู้โดยสารหลักด้านทิศตะวันออก (East Expansion) ลงทุน 1.25 หมื่นล้านบาท เพิ่มพื้นที่ได้อีก 8.1 หมื่นตร.ม. รองรับผู้โดยสารเพิ่มอีก 15 ล้านคน ขณะนี้อยู่ระหว่างออกแบบรายละเอียด คาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จปลายปี 2571
ทั้งมีแผนก่อสร้างโครงการส่วนต่อขยายอาคารผู้โดยสารหลักด้านทิศตะวันตก (West Expansion) อาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 2 (SAT-2) อาคารผู้โดยสารด้านทิศใต้ (South Terminal) และรันเวย์ 4 ลงทุน 1.2 แสนล้านบาทในปี 2568-2573
ส่วน “สนามบินดอนเมือง” จะพัฒนาเฟส 3 วงเงินลงทุน 3.6 หมื่นล้านบาท รับผู้โดยสารจาก 30 ล้านคน เป็น 40 ล้านคนต่อปี สร้างอาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศหลังใหม่ (อาคาร 3) รับผู้โดยสารได้ 18 ล้านคนต่อปี เปิดให้บริการปี 2571 และจะปรับปรุงอาคารผู้โดยสาร อาคาร 1 และ 2 ให้เป็นอาคารผู้โดยสารภายในประเทศ รองรับผู้โดยสาร 22 ล้านคนต่อปี
ปัจจุบันอยู่ระหว่างออกแบบ คาดว่าจะก่อสร้างปี 2568 แล้วเสร็จปี 2573 และมีแผนจะปรับปรุงพื้นที่กว่า 2.1 หมื่นตร.ม. เพื่อก่อสร้างอาคารรับรองพิเศษ สำหรับเครื่องบินส่วนบุคคล (Private Jet Terminal)
“สนามบินภูเก็ต” จะพัฒนาเฟส 2 วงเงิน 6.21 พันล้านบาท รองรับผู้โดยสารจาก 12.5 ล้านคน เป็น 18 ล้านคนต่อปี โดยจะก่อสร้างส่วนต่อขยายอาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศ เพื่อเพิ่มพื้นที่อีกกว่า 1.77 แสนตร.ม. คาดว่าแล้วเสร็จปี 2572 และจะมีการพัฒนาที่จอดอากาศยานสำหรับเครื่องบินทะเล หรือ Seaplane ด้วย
“สนามบินเชียงใหม่” จะพัฒนาเฟส 1 วงเงินงบประมาณ 1.5 หมื่นล้านบาท ซึ่งจะสร้างอาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศหลังใหม่ มีพื้นที่กว่า 9.5 หมื่นตร.ม. รวมทั้งจะปรับปรุงอาคารผู้โดยสารภายในประเทศ ทำให้มีพื้นที่ให้บริการเพิ่มขึ้นเป็น 6.66 หมื่นตร.ม. เพื่อเพิ่มขีดความสามารถรองรับผู้โดยสารจาก 8 ล้านคนต่อปี เป็น 20 ล้านคนต่อปี คาดว่าจะสามารถเริ่มดำเนินการได้ในปี 2569
รวมทั้งทอท.ยังจะก่อสร้างสนามบินใหม่ 2 แห่ง ได้แก่ “ท่าอากาศยานอันดามัน” หรือ สนามบินภูเก็ตแห่งที่ 2 บนพื้นที่ 7,300 ไร่ ลงทุนประมาณ 8 หมื่นล้านบาท ประกอบด้วย การก่อสร้างอาคารผู้โดยสารเพื่อรองรับผู้โดยสาร 22.5 ล้านคนต่อปี ทางวิ่ง 2 เส้น รองรับเที่ยวบินได้ 43 เที่ยวบินต่อชั่วโมง และหลุมจอดอากาศยาน 44 หลุมจอด ตั้งอยู่อำเภอตะกั่วทุ่ง จังหวัดพังงา ห่างจากสนามบินภูเก็ต 23.4 กิโลเมตรคาดว่าจะใช้เวลาดำเนินการอีก 7 ปี
“ท่าอากาศยานล้านนา” หรือสนามบินเชียงใหม่แห่งที่ 2 บนพื้นที่ 8,050 ไร่ ลงทุนประมาณ 7 หมื่นล้านบาท ประกอบด้วย การก่อสร้างอาคารผู้โดยสารเพื่อรองรับผู้โดยสาร 24 ล้านคนต่อปี ทางวิ่ง 2 เส้น รองรับเที่ยวบินได้ 41 เที่ยวบินต่อชั่วโมง หลุมจอดอากาศยาน 38 หลุมจอด รองรับปริมาณการขนส่งสินค้าทางอากาศได้ 3.2 หมื่นตัน ตั้งอยู่ในอำเภอสันกำแพง จ.เชียงใหม่ และอำเภอบ้านธิ จ.ลำพูน ซึ่งห่างจากสนามบินเชียงใหม่ 22 กิโลเมตร คาดว่าจะใช้เวลาดำเนินการอีก 7 ปี
อีกทั้งหาก AOT สามารถเข้าบริหาร 3 สนามบินภูมิภาคของกรมท่าอากาศยาน (ทย.) ได้ก็มีแผนจะพัฒนาสนามบินอุดรธานี รองรับผู้โดยสารจากปัจจุบัน 3.4 ล้านคนต่อปี เพิ่มเป็น 6.5 ล้านคนต่อปี เที่ยวบินเพิ่มเป็น 20 เที่ยวบินต่อชั่วโมง ลงทุนราว 3,500 ล้านบาท และจะพัฒนาสนามบินบุรีรัมย์ให้สามารถรองรับผู้โดยสารจากปัจจุบัน 7.8 แสนคนต่อปี เพิ่มเป็น 2.8 ล้านคนต่อปี เที่ยวบินเพิ่มเป็น 25 เที่ยวบินต่อชั่วโมง วงเงินลงทุนราว 460 ล้านบาท และสนามบินกระบี่จะพัฒนาให้รองรับผู้โดยสารจากปัจจุบัน 4 ล้านคนต่อปี เพิ่มเป็น 12 ล้านคนต่อปี และเที่ยวบินเพิ่มเป็น 31 เที่ยวบินต่อชั่วโมง วงเงินลงทุน 6,500 ล้านบาท
แหล่งข่าวระดับสูงจากกรมท่าอากาศยาน (ทย.) กล่าวว่า การสร้างสนามบินใหม่ของทย.ภายใต้การสนับสนุนงบลงทุนจากรัฐบาล มีสนามบินที่เตรียมจะสร้างใหม่ 6 แห่ง ประมาณการณ์มูลค่าการลงทุนรวม 2.16 หมื่นล้านบาท โดยตัดสนามบินนครปฐม ที่เคยมีแผนจะสร้างออกไป เนื่องจากถูกคัดค้านและมีปัญหาเรื่องการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม EIA ซึ่งสนามบินใหม่ จะประกอบไปด้วย
ไม่เพียงสนามบินของรัฐเท่านั้นในส่วนของการพัฒนาสนามบินของภาคเอกชน ผู้เล่นหลักจะประกอบไปด้วย การพัฒนาสนามบินของ “บางกอกแอร์เวย์ส” และโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก ของ บริษัทอู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น จำกัด หรือ “UTA” ซึ่งเป็นโครงการร่วมลงทุน PPP ระหว่างรัฐและ UTA มูลค่าการลงทุน 2.04 แสนล้านบาท เปิดให้บริการปี 2572
นายพุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) และหนึ่งในพันธมิตรผู้ลงทุนโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา และเมืองการบินภาคตะวันออก กล่าวว่า บางกอกแอร์เวย์ส มีแผนจะพัฒนาศักยภาพการให้บริการของ 2 สนามบิน ได้แก่ สนามบินสมุย และสนามบินตราด รวมมูลค่าการลงทุน 2,300 ล้านบาท ในช่วงระยะเวลา 2-3 ปีนี้
โดย “สนามบินสมุย” อยู่ระหว่างปรับปรุงอาคารผู้โดยสาร จากเดิม 7 อาคาร เพิ่มเป็น 11 อาคาร คาดว่าจะใช้เวลาก่อสร้างราว 2 ปี คาดว่าจะใช้งบลงทุนราว 1,500 ล้านบาท อีกทั้งปัจจุบันอยู่ระหว่างการขอขยายจำนวนเที่ยวบินเข้าสมุย จาก 50 เที่ยวบินต่อวัน เพิ่มเป็น 73
ขณะที่โครงการพัฒนา “สนามบินตราด” เตรียมแผนจะสร้างอาคารผู้โดยสารเพิ่มเติม และขยายระยะทางวิ่ง (Runway) เพื่อรองรับเครื่องบินขนาดใหญ่ จะเริ่มสร้างปี 2568 แล้วเสร็จกลางปี 2569 คาดว่าจะใช้งบ 700-800 ล้านบาท
ทั้งนี้พื้นที่ในการพัฒนาสนามบินตราด จะเป็นการลงทุนในพื้นที่ใหม่ ห่างจากสนามบินตราดเดิมเป็นกิโลเมตร ซึ่งเป็นที่ดินแลนด์แบงก์ที่มีอยู่แล้ว ราว 1,600 ไร่ แต่จะนำมาพัฒนาราว 200-300 ไร่ เพื่อรองรับเครื่องบินขนาดใหญ่ขึ้น สำหรับเส้นทางบินจากต่างประเทศเข้าสนามบินตราด เมื่อสนามบินตราดแห่งใหม่เปิดให้บริการ ก็จะใช้อาคารสนามบินตราดเดิมทำธุรกรรมเกี่ยวกับคาร์โก้
นายพุฒิพงศ์ ยังกล่าวต่อว่า ส่วนแผนในการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาฯ UTA อยู่ระหว่างเจรจาเงื่อนไขสัญญา กับทางอีอีซีใหม่อีกครั้ง จากเดิมที่ขอเจรจาขยายเฟสการลงทุน จาก 4 ระยะ เป็น 6 ระยะ ซึ่งการก่อสร้างในช่วงแรกเดิมได้ขอลดการให้บริการโดยสารผู้โดยสารจาก 15.9 ล้านคน เป็น 12 ล้านคนต่อปี แต่ยังคงจำนวนตามแผนเดิมที่ 60 ล้านคนต่อปี
แต่ล่าสุดเมื่อดูจากปัจจัยหลักหลายเรื่องที่เกิดขึ้น ทำให้คาดการณ์จำนวนผู้โดยสารที่จะมาใช้บริการสนามบินอู่ตะเภา อาจจะไม่เหมือนที่คาดไว้ตั้งแต่แรกที่เสนอแผนพัฒนาไป
เนื่องจากรัฐบาลประกาศจะพัฒนาและปรับปรุง สนามบินสุวรรณภูมิ และสนามบินดอนเมืองเต็มเฟส ซึ่งไม่ได้มีเรื่องนี้ ตอนนี้เราคำนวณการลงทุนอู่ตะเภาในตอนนั้น รวมถึงความล่าช้าต่างๆที่ทำให้อีอีซี ยังไม่สามารถส่งมอบพื้นที่ให้ UTA เข้าไปลงทุนได้ ซึ่งล่าช้ามากว่า 4 ปีแล้ว อาทิ โครงการรถไฟความเร็วสูง(ไฮสปีด) เชื่อม 3 สนามบิน และสถานการณ์โควิด-19 ที่เกิดขึ้น
ดังนั้น UTA จะเจรจากับ EEC ขอลดการก่อสร้างในระยะแรก ลดลงไปอีก โดยยังอยู่ระหว่างการหารือเป็นการภายในว่าควรจะอยู่เท่าไหร่ ควรจะอยู่ที่ 8 ล้านคน หรือจะเคาะตัวเลขที่เท่าไหร่ แต่ปลายทางก็ยังจะรองรับผู้โดยสารได้เท่าเดิมตามแผนที่เสนอไป และ UTA หวังว่าจะได้รับหนังสือแจ้งให้เอกชนเริ่มงาน (NTP) ที่คาดว่าจะได้เข้าพื้นที่ก่อสร้างเพื่อลงทุนได้ในปลายปีนี้หรือต้นปีหน้า เพราะต้องใช้เวลาก่อสร้าง 3 ปี