นายอดิษฐ์ ชัยรัตนานนท์ สมาพันธ์สมาคมท่องเที่ยวไทย หรือ เฟตต้า (การรวมกลุ่มของ 8 สมาคมท่องเที่ยวหลักของไทย) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่าจากเป้าหมายการเป็นศูนย์กลางท่องเที่ยวโลก ต้องมีแนวทางการดำเนินการที่ชัดเจนและเป็นที่ยอมรับทางสากลคือการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนที่สร้างคุณภาพชีวิตให้กับประชาชนไทยที่ทำให้เกิดความสมดุลในทุกระดับและชุมชนกระจายรายได้สู่ครัวเรือนและลดความเหลื่อมล้ำเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ดังนั้นข้อเสนอของเฟสต้า ซึ่งเป็นการรวมตัวของสมาคมท่องเที่ยวหลักของไทย เพื่อขอให้นายสรวงศ์ เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ช่วยขับเคลื่อนท่องเที่ยว
1.ข้อเสนอเชิงนโยบายในภาพของ Ecosystem
เฟสต้าเสนอขอให้มีการตั้งคณะทำงานร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อติดตาม ประเมินสถานการณ์เฝ้าระวังความเสี่ยงและให้ข้อเสนอแนะในการทำงานทั้งในภาวะปกติและวิกฤต (Tourism Enforcement Committees) การจัดทำระบบตัวชี้วัดในการพัฒนาและแก้ไขเพื่อยกระดับประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวโลกภายใต้เป้าหมาย”การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน” เพื่อยกระดับการแข่งขันการท่องเที่ยวในเวทีโลก
การออกมาตรการแก้ไขแรงงานภาคการท่องเที่ยวให้สอดรับแนวโน้มสังคมผู้สูงอายุและประชากรที่ลดลงของประเทศ เช่น โครงการ Redesigned Thailand Tourism Job Description การแก้ไขและปรับปรุงกฎ ระเบียบ ที่เป็นอุปสรรคต่อการขับเคลื่อนและสร้างแนวทางการสนับสนุนอุตสาหกรรมให้มีความยืดหยุ่นและมีประสิทธิภาพต่อการทำงานของภาคเอกชน
โดยเฉพาะ พรบ.ธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ที่มีปัญหาจากการบังคับใช้มาแง่มุมของการปฏิบัติและไม่ครอบคลุม Tourism Ecosystem การออกมาตรการการเงินและการคลังสนับสนุนภาคเอกชนในการแข่งขันอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวบนเวทีโลกอย่างเป็นระบบที่เป็นแผนการทำงานล่วงหน้าอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ
2.แนวทางการขับเคลื่อนด้าน Supply ได้แก่
ขอให้ออกมาตรการส่งเสริมโรงแรมที่จดทะเบียนถูกต้อง เช่การลดภาษีที่ดิน และ สร้างแรงจูงใจให้โรงแรมนอกระบบเข้าสู่การจดทะเบียนที่ถูกต้อง การส่งเสริมผู้ประกอบการนำเที่ยวในการพัฒนาบุคลากรและปลดล็อกกฎหมายแรงงานบางตำแหน่งงานทักษะขั้นต่ำที่คนไทยไม่ยินยอมทำในตำแหน่ง โดยใช้แรงงานประเทศเพื่อนบ้านมาทดแทน ขอยกเว้นการบังคับใช้ Job Order ของกรมการท่องเที่ยว
การออกมาตรการขับเคลื่อน Thailand Tourism Carrier Capacity เพื่อให้เกิดการกระจายตัวของนักท่องเที่ยวทั้งในเมืองหลักและเมืองรอง เพื่อสร้างความสมดุลทรัพยากรด้านการท่องเที่ยวสู่ความยั่งยืน
ทั้งด้าน เศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม ซึ่งตัวชี้วัด ครอบคลุมถึงความหนาแน่น และการกระจายตัวของนักท่องเที่ยว และ รายได้ประชากรในพื้นที่ เพื่อทำให้ภาคการท่องเที่ยวเป็นเครื่องมือในการลดความเหลื่อมล้ำของรายได้ และ สร้างคุณภาพชีวิตทางสังคมในทุกพื้นที่ด้านการท่องเที่ยว
การออกแบบการบริหารจัดการนักท่องเที่ยวหรือ Flow Management ตามคลัสเตอร์ท่องเที่ยว ออกมาตรการดูแลพัฒนายกระดับบุคลากร มัคคุเทศก์ไทย และ พนักงานขับรถ ให้มีทักษะเฉพาะทางที่สูงขึ้น และ มีความมั่งคงในวิชาชีพเพื่อสร้างแรงจูงใจในการสร้างบุคลากรรุ่นใหม่มาแทนที่
เร่งพัฒนาสร้างความเข้มแข็งอาสาสมัครท่องเที่ยวไทยเพื่อยกระดับความสามารถการบริหารจัดการด้านความปลอดภัยและการบริการของนักท่องเที่ยวรองรับทิศทางการเพิ่มปริมาณนักท่องเที่ยวไทยในอนาคต มาตรการดูแลทรัพยากรด้านการท่องเที่ยวทั้งทางธรรมชาติ และ มนุษย์สร้าง รวมถึงระบบอำนวยความสะดวกแก่นักท่องเที่ยว
รวมถึงผลักดัน Manmade Mega Projects สร้างพระราชวังกรุงศรีอยุธยา ซึ่งมีบันทึกทางประวัติศาสตร์เคยเป็นพระบรมมหาราชวังที่สวยที่สุดในโลก และ จะเป็นสถาปัตยกรรมแห่งเดียวที่เป็นสัญลักษณ์ของประเทศไทยทั้งทางด้านมรดกทางวัฒนธรรม และ แหล่งท่องเที่ยวระดับโลก
3.ข้อเสนอแนะด้าน Demand
ขอให้วางแผนการกระตุ้นตลาดในระยะ 3, 6, 12 เดือน ของแต่ละตลาดล่วงหน้าตามพฤติกรรมเฉพาะทางของแต่ละตลาด ของบสนับสนุนภาคเอกชนในการทำตลาดต่างประเทศที่มีความต่อเนื่อง และ ชัดเจนในแต่ละปีปฏิทิน มีแผนการสนับสนุนผู้ประกอบนำเที่ยวตลาดอินบาวด์ที่ทำตลาดออฟไลน์หรือช่องทางการตลาดปกติทั้งในและต่างประเทศ แผนการสนับสนุนการท่องเที่ยวภายในประเทศมีความต่อเนื่องและสม่ำเสมอในทุก ๆ ปีเช่นการเที่ยวข้ามภาค หรือการสนับสนุนบริษัท ห้างร้านจัดประชุมหรือท่องเที่ยวเป็นรางวัลหรืออบรมสัมนาในประเทศด้วยการลดภาษี
รวมถึงการออกมาตรการกระตุ้นตลาด”เมืองน่าเที่ยว” ได้แก่ การจัดทำโครงการ 2nd Tier city airport Loyalty Program สะสมแต้มให้ผู้เดินทางในสนามบินเมืองรอง เช่น อู่ตะเภา ขอนแก่น อุดรธานี เชียงราย กระบี่ หาดใหญ่ นครศรีธรรมราช และ อื่น ๆ โดยการนำภาคเอกชนในพื้นที่นั้น ๆ เข้าร่วมโครงการทำส่วนลดจากผู้เดินทางในสนามบินเมืองรองเพื่อสร้างแรงจูงใจให้เกิดความต้องการในตลาดตามเป้าหมายของการเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวโล
การจัดงบสนับสนุนเที่ยวบินพิเศษจากต่างประเทศสู่สนามบินเมืองรองที่เป็นเป้าหมาย ของบสนับสนุนการทำ Transfer จากสนามบินเมืองรองสู่ตัวเมืองเพื่อสนับสนุนสายการบินนำร่องสู่เมืองรองหรือเมืองน่าเที่ยวที่เป็นเป้าหมายการสนับสนุนบริษัทนำเที่ยวทำตลาด “เมืองน่าเที่ยว”ทั้งในประเทศและต่างประเทศ
นายศิษฎิวัชร ชีวรัตนพร นายกสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (แอตต้า) กล่าวว่าเอกชนยังเสนอให้มีการประชุมร่วมภาคเอกชนต่อเนื่อง การปราบปรามนอมินีที่ชัดเจน รวมถึงแก้ปัญหาแท็กซี่ป้ายดำ และยกระดับ กระทรวงท่องเที่ยวเป็นกระทรวงเศรษฐกิจ
หน้า 10 ฉบับที่ 4,029 วันที่ 22 - 25 กันยายน พ.ศ. 2567