AOT เปิดแผนขยาย “สนามบินเชียงใหม่” รวมชดเชยเสียง 2.4 หมื่นล้าน

03 ต.ค. 2567 | 21:26 น.

เปิดแผนขยายสนามบินเชียงใหม่ ระยะที่ 1 ของ AOT ยกระดับรองรับผู้โดยสาร 20 ล้านคนต่อปี ในอีก 4 ปีข้างหน้านี้ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) และได้เปิดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่ เป็นครั้งแรกไปแล้ว โดยคาดว่าเริ่มก่อสร้างได้ในปี 2568

ปัจจุบันสนามบินเชียงใหม่มีศักยภาพรองรับผู้โดยสารได้สูงสุด 8 ล้านคนต่อปี ก่อนโควิด มีผู้โดยสาร 11 ล้านคน เกินศักยภาพการรองรับไปแล้ว แต่หลังโควิด ปัจจุบันกลับมาอยู่ 8 ล้านคนต่อปี ซึ่งเดิมบริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ AOT หรือ ทอท.มีแผนจะการรองรับผู้โดยสารได้สูงสุดถึง 15 ล้านคนต่อปี

แต่ล่าสุด มีแผนจะเพิ่มขีดความสามารถในการขยายสนามบินเชียงใหม่ รองรับผู้โดยสารที่ 20 ล้านคนต่อปี เพิ่มการรองรับเที่ยวบินจาก 24 เที่ยวบินต่อชั่วโมง เป็น 31 เที่ยวบินต่อชั่วโมง ในอีก 5 ปีข้างหน้า

โดยจะมีการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศหลังใหม่ มีพื้นที่กว่า 95,000 ตารางเมตร รวมทั้งจะปรับปรุงอาคารผู้โดยสารภายในประเทศ ทำให้มีพื้นที่ให้บริการเพิ่มเป็น 66,600 ตารางเมตร เพื่อรองรับผู้โดยสารระหว่างประเทศ 13 ล้านคนต่อปี และผู้โดยสารในประเทศ 7 ล้านคน ด้วยหลุมจอดอากาศยาน 31 หลุมจอด จากปัจจุบันรองรับได้ 16 หลุมจอด วงก่อสร้าง 15,087 ล้านบาท (ไม่รวมผลกระทบทางเสียง)

ไฮไลต์การพัฒนาสนามบินเชียงใหม่ คือ การก่อสร้างอาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศใหม่ ( เทอร์มินัล 2) ดีไซน์คอนเซ็ปต์เน้นอัตลักษณ์เชียงใหม่ อาทิ ร่มบ่อสร้าง โดยจะเป็นอาคาร 3 ชั้น ออกแบบ Flow อาคารผู้โดยสารยุคใหม่ แบ่งเป็น

  1. ผู้โดยสารขาเข้า ที่ชั้น 3 ซึ่ง Check-in และ Scan กระเป๋าแบบ in-line พร้อมพื้นที่ ตรวจหนังสือเดินทาง และ Dutyfree Shop ก่อนเข้า พื้นที่พักคอย ก่อนเข้า Gate
  2. ผู้โดยสารขาออก ที่ชั้น 2 จาก Gate ผ่านจุดตรวจ ตม. และลงไปรับกระเป๋าที่ชั้น 1 ก่อนออกนอกอาคาร

ทั้งนี้อาคารเทอร์นัล 2 จะใช้ Gate ร่วมกับ เทอร์มินัล 1 เชื่อมต่อกัน ซึ่งออกแบบเป็น Swing Gate เพื่อปรับการใช้งานได้ระหว่าง International และ Domestic Gate ตามความเหมาะสมในแต่ละช่วงเวลา

นอกจากนี้โครงการนี้ออกแบบควบคู่กับการพัฒนารถไฟฟ้า LRT สายสีแดง ของเมืองเชียงใหม่ ซึ่งจะมีเส้นทางมาอยู่ด้านขอบของสนามบินเชียงใหม่ พร้อมกับมีสถานีเชื่อมกับบริเวณ อาคารสำนักงานสนามบินเชียงใหม่ หลังใหม่ ด้านหลังอาคารจอดรถ โดยจะเชื่อมกับ เทอร์มินัล 2 ด้วย Sky Walk ได้โดยตรง

นางสาวปวีณา จริยฐิติพงศ์ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ AOT เปิดเผยว่า กระบวนการด้าน EIA โครงการพัฒนาท่าอากาศยานเชียงใหม่ คาดว่าจะดำเนินการศึกษาแล้วเสร็จราวต้นปี 2568

จากนั้นจะนำเสนอโครงการต่อครม. เพื่อขออนุมัติใช้งบประมาณของ ทอท.ในการก่อสร้างโครงการ และงบประมาณในการชดเชยผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมให้กับประชาชน รวมวงเงิน ทั้งหมดอยู่ที่ราว 24,000 ล้านบาท

เมื่อผ่านครม.ก็จะดำเนินการหาผู้รับจ้างในการก่อสร้าง คาดว่าจะเริ่มดำเนินการก่อสร้างราวกลางปี 2568 ใช้เวลาในการก่อสร้าง 5 ปี หรือแล้วเสร็จประมาณปี 2573

“ประเด็นผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ทอท.ให้ความสำคัญมาก โดยเฉพาะเรื่องเสียงที่จะเตรียมงบประมาณการชดเชยให้กับประชาชนที่ได้รับผลกระทบ รวมถึงผลกระทบด้านอื่นๆ โดยรอบสนามบิน ขณะเดียวกันยังให้ความสำคัญประเด็นผลกระทบระหว่างการก่อสร้าง ที่จะมีประชาชนและการจราจรที่เพิ่มมากขึ้น ซึ่งได้เตรียมแผนด้านบริหารจัดการด้านจราจรไว้แล้ว” นางสาวปวีณา กล่าวทิ้งท้าย

ด้านนาวาอากาศโทรณกร เฉลิมแสนยากร ผู้อำนวยการท่าอากาศยานเชียงใหม่ เปิดเผยว่า สนามบินเชียงใหม่มีแผนพัฒนาภาพรวมของการเชื่อมต่อการขนส่งทางอากาศ กับสนามบินสุวรรณภูมิที่เป็นสนามบินหลักของการบิน ที่สามารถเชื่อมโยงกับแผนพัฒนาท่าอากาศยานเชียงใหม่ ระยะที่ 1 ที่จะขยายพื้นที่อาคารผู้โดยสาร จากปัจจุบัน 35,000 ตารางเมตร เป็น 100,000 ตารางเมตร ในอีก 4 ปีข้างหน้า (พ.ศ. 2570)

ทั้งนี้เพื่อให้เห็นถึงศักยภาพด้านการบินในเส้นทางบินระยะไกล (Long-haul) จากสนามบินสุวรรณภูมิที่จะเชื่อมต่อผู้โดยสารต่างชาติ เข้ามาท่องเที่ยวยัง จ.เชียงใหม่ เพิ่มมากขึ้น ขณะเดียวกันก็สามารถเชื่อมต่อเส้นทางจาก จ.เชียงใหม่ ไป จ.ภูเก็ต ถือเป็นการเชื่อมโยงการเดินทางได้อย่างสมบูรณ์แบบในอีก 4 ปีข้างหน้า

การขยายสนามบินเชียงใหม่ จะเป็นการยกระดับศักยภาพของสนามบิน ที่จะรองรับผู้โดยสารเพิ่มเป็น 20 ล้านคนต่อปี ระหว่างรอแผนพัฒนาสนามล้านนา ซึ่ง AOT อยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ในการลงทุน เพื่อรองกับการขยายตัวของผู้โดยสารที่เดินทางมาเที่ยวภาคเหนือเพิ่มขึ้นในอนาคต

หน้า 10 ฉบับที่ 4,032 วันที่ 3 - 5 ตุลาคม พ.ศ. 2567