ประกันรายได้ข้าวปี4 หลังจากที่คณะรัฐมนตรี(ครม.)ได้อนุมัติวงเงินจ่ายส่วนต่างโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวปีที่ 4 โดยจะกำหนดราคาส่วนต่างที่จะต้องจ่ายชดเชยให้กับเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ย้อนหลังไปจนถึงวันที่ 15 ต.ค.2565 ซึ่งเป็นงวดแรก และพิจารณางวดถัดไปที่จะจ่ายทุก 7 วัน รวมจ่ายทั้งสิ้น 33 งวดจนจบโครงการ
โดยจะเริ่มจ่ายงวดแรกในวันที่22 พ.ย.2565 เป็นต้นไป (โดยเก็บเกี่ยวก่อน15ต.ค.) จึงขอให้เกษตรกรตรวจสอบชื่อบัญชี ธ.ก.ส. ให้ตรงกับชื่อที่ขึ้นทะเบียนเกษตรกร โดยสามารถสอบถามรายละเอียดได้ที่ ธ.ก.ส. หรือสำนักงานพาณิชย์จังหวัดในพื้นที่
สำหรับการประกันรายได้ข้าวเปลือก 5 ชนิด กำหนดราคาประกันรายได้และจำนวนสิทธิ ดังนี้ ข้าวเปลือกหอมมะลิ ตันละ 15,000 บาท รายละไม่เกิน 14 ตัน ข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ ตันละ 14,000 บาท รายละไม่เกิน 16 ตัน ข้าวเปลือกปทุมธานี ตันละ 11,000 บาท รายละไม่เกิน 25 ตัน ข้าวเปลือกเจ้า ตันละ 10,000 บาท รายละไม่เกิน 30 ตัน และข้าวเปลือกเหนียว ตันละ 12,000 บาท รายละไม่เกิน 16 ตัน
มาตรการคู่ขนานที่จะช่วยดึงราคาข้าวเปลือกในช่วงที่ผลผลิตข้าวออกสู่ตลาดมาก โดยมี 3 มาตรการ ได้แก่ 1) มาตรการชะลอขาย โดยให้เกษตรกรเก็บเกี่ยวและจัดเก็บไว้ในยุ้งฉาง เป้าหมาย 2.5 ล้านตัน โดยรัฐบาลช่วยค่าฝากเก็บ 1,500 บาท/ตัน 2) มาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการรวบรวมของสหกรณ์ โดยช่วยดอกเบี้ยร้อยละ 3 ไม่เกิน 12 เดือน และ 3) มาตรการเพิ่มสภาพคล่อง โดยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวรับซื้อข้าวเปลือกและเก็บสต็อก เป็นระยะเวลา 2-6 เดือน ซึ่งรัฐจะช่วยดอกเบี้ยร้อยละ 3
ส่วนโครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว โดยช่วยลดต้นทุนการเพาะปลูกไร่ละ 1,000 บาท กำหนดไม่เกินรายละ 20 ไร่ หรือไม่เกิน 20,000 บาท/ครัวเรือนนั้น ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จะโอนเงินเข้าบัญชีเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนไว้กับกรมส่งเสริมการเกษตรโดยตรง
ทั้งนี้กรมการค้าภายในได้เงื่อนไขในการรับสิทธิของชาวนา3ข้อประกอบด้วย ชาวนาจะต้องรับสิทธิตามวันที่แจ้งเกี่ยวและต้องไม่ซ้ำแปลง ไม่เกินจำนวนขั้นสูงของข้าวแต่ละชนิดและรวมกันต้องไม่เกินความสูงของชนิดข้าวที่กำหนดไว้สูงสุด และถ้าชาวนาจะต้องแจ้งเกี่ยวช่วงเวลาต่างกันจะได้รับสิทธิตามชนิดข้าวที่เกี่ยวก่อน