นายมนัส บุญพัฒน์ นายสมาคมคนกรีดยางและชาวสวนยางรายย่อย เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ในวันที่ 6 ธันวาคม 2565 ในนามตัวแทน สมาคมคนกรีดยางและชาวสวนยางรายย่อย และภาคีเครือข่ายชาวสวนยางและชาวสวนปาล์มน้ำมันแห่งประเทศไทย และวิสาหกิจชุมชนฯน้ำยางสดและแปรรูปยาง เพื่อที่จะบอกเล่าความความเสียหาย ที่ขายผลผลิตต่ำกว่าต้นทุนจากการดูดายไม่เอาใจใส่ของผู้มีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรง " เวลา14.00 น.พร้อมกันที่หน้าสำนักงานตลาดกลางยางพารานครศรีธรรมราช(หลังสถานีรถไฟจันดี) โดยมีประเด็น 3 ข้อ
1.เร่งรัดโครงการประกันรายได้ยางพารา ระยะที่ 4 ให้ออกมาเร็วที่สุด หลังจากเลื่อนมา 2 รอบแล้ว ทำให้เห็นว่าไม่ได้สนใจเรื่องชาวสวนยางเลย
2.การแก้ปัญหาราคายางตกต่ำขายผลผลิตต่ำกว่าต้นทุน จะแก้ปัญหาอย่างไร โดย วันนั้นจะมาบอกเล่าความเสียหาย จากการนิ่งดูดายไม่เอาใจใส่ของผู้มีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรง
3.นักการเมือง พรรคการเมืองที่จะมาขอเสียงคะแนนจากชาวสวนยาง จะต้องเตรียมข้อมูล โดยเฉพาะในยุทธศาสตร์ด้านเศรษฐกิจเรื่องของยางพาราให้ชัด และไม่ใช่ใช้วิธีการแบบเดิม เพราะสุดท้ายก็เป็นการมาเอาภาษีส่วนกลางมาใช้ในการอุดหนุน ในรูปแบบ ลดแลกแจก แถม โดยเปลี่ยนชื่อ ต่างๆ นานา
นายมนัส กล่าวว่า ในวันดังกล่าวเชิญสื่อมวลชน รวมถึงผู้ที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะชาวสวนยางมาร่วมรวมพลังกันให้มาก เพื่อให้ผู้มีอำนาจมาแก้ปัญหา และรับฟังความเดือดร้อนของชาวสวนยางในวันนั้นด้วย
สอดคล้องกับ นายนัยฤทธิ์ จำเล ประธานกรรมการชุมนุมสหกรณ์โคนมแห่งประเทศไทย จำกัด กล่าวว่า เมื่อวันที่ 2 ธ.ค.65 มีมติให้มีความประสงค์ขออนุญาตใช้สถานที่เพื่อชุมนุมเรียกร้องการติดตามการปรับขึ้นราคากลางอาหารเสริม(นมโรงเรียน ในวันที่ 6 ธันวาคม 2565 เวลา 10.00-18.00 น. ณ บริเวณทำเนียบรัฐบาล
โดยมีเกษตรกรที่ประกอบอาชีพการเลี้ยงโคนมจากทั่วประเทศเข้าร่วมการชุมนุมเรียกร้องดังกล่าวจำนวน 1,000 คน และมีการใช้เครื่องขยายเสียง จำนวน 1 เครื่อง เพื่อกดดันการปรับราคาน้ำนมดิบใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับราคากลางนมโรงเรียน
ด้านนายมงคล สุขเจริญคณา นายกสมาคมประมงสมุทรสงคราม กล่าวว่า จากสถานการณ์ ณ ปัจจุบันนี้ น้ำมันเชื้อเพลิงซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการออกทำประมง มีราคาตันทุนที่สูงมาก ซึ่งเป็นปัญหาความเดือดร้อนของสมาชิกชาวประมงอยู่ในขณะนี้ เพราะไม่สามารถแบกรับต้นทุนที่สูงขึ้นไหว สาเหตุมาจากเรือแทงค์เกอร์ไม่สามารถนำน้ำมันเขียวออกมาจำหน่ายให้กับชาวประมงได้ เนื่องจากโดนหน่วยงานตำรวจบางหน่วยงานจ้องที่จะตรวจจับ ซึ่งทำให้ผู้ประกอบการน้ำมันแทงค์เกอร์ไม่กล้าออกมาจำหน่ายโดยองค์กรภาคประมงจังหวัดสมุทรสงคราม นำโดย สหกรณ์ประมงแม่กลอง จำกัด , สมาคมประมงสมุทรสงคราม และสมาคมประมงเรือลากคู่สมุทรสงคราม ได้ตระหนักถึงปัญหาความเดือดร้อนในเรื่องนี้ จึงมีมติ
1. เห็นชอบให้ 3 องค์กรชาวประมงจังหวัดสมุทรสงคราม ช่วยเร่งรัดหน่วยงานที่รับผิดชอบกับโครงการน้ำมันเขียวเร่งแก้ไขปัญหาโดยเร่งด่วน
2. กรณีไม่มีความคืบหน้าเรื่องน้ำมันเขียว ขอให้ 3 องค์กรภาคประมงจังหวัดสมุทรสงคราม นัดหมายสมาชิกชาวประมงไปชุมนุมที่หน้ากระทรวงการคลัง เพื่อเรียกร้องให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เร่งแก้ไขปัญหาให้กับสมาชิกชาวประมงโดยเร่งด่วน