วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2566 พลตำรวจเอก สุรเชษฐ์ หักพาล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ร่วมกับกรมประมงได้จัดการประชุมรับฟังความคิดเห็นผู้แทนชาวประมงพื้นบ้านในประเด็นการจัดให้มีใบอนุญาตทำการประมงพื้นบ้าน ณ ห้องประชุมอานนท์ กรมประมง โดยได้เรียนเชิญตัวแทนของพี่น้องประมงพื้นบ้าน 56 องค์กร องค์กรละ 5 คน มาร่วมกันปรึกษาหารือ แสดงความคิดเห็น มีผู้เข้าร่วมประชุมกว่า 200 คน
ปัจจุบัน "เรือประมงพื้นบ้าน" มีจำนวน 49,002 ลำ โดยเป็นขนาดไม่เกิน 3 ตันกรอส จำนวน 34,240 ลำ ขนาด 3-5 ตันกรอส จำนวน 9,580 ลำ ขนาด 5-7 ตันกรอส จำนวน 3,008 ลำ ขนาด 7-10 ตันกรอส จำนวน 2,174 ลำ กระจายตัวตลอด 22 จังหวัดชายทะเลของประเทศไทย ถ้าคิดว่าเรือประมงพื้นบ้าน 1 ลำ จะสร้างรายได้ให้ครอบครัวละ 5คน เท่ากับเรามีพี่น้องชาวประมงพื้นบ้านที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้กว่า 250,000 คน
พลตำรวจเอก สุรเชษฐ์ กล่าวว่า “คณะกรรมการนโยบายการประมงแห่งชาติ โดยท่านรองนายกรัฐมนตรี (พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ) ได้มีนโยบายออกใบอนุญาตทำการประมงพื้นบ้านให้กับพี่น้องชาวประมงพื้นบ้าน เพื่อเป็นกลไกในการร่วมกันบริหารจัดการสัตว์น้ำของแต่ละพื้นที่ แต่ละฤดูกาล ที่แตกต่าง หลากหลาย อีกทั้งยังเป็นเอกสารรับรอง “การมีตัวตน” ในการประกอบอาชีพที่ภาครัฐสามารถเข้าไปดูแลช่วยเหลือ ส่งเสริม สนับสนุนได้อย่างตรงเป้าหมาย สมศักดิ์ศรี วิถีประมงที่ยั่งยืน
สำหรับการออกใบอนุญาตทำการประมงพื้นบ้าน จะทำได้ก็ต้องมีกฎหมายรองรับ ซึ่งปัจจุบัน พ.ร.ก.ประมงฯ ก็รองรับส่วนนี้ไว้แล้ว แต่ทำนองเดียวกัน ถ้าไม่มีใบอนุญาตก็จะกลายเป็นความผิด ซึ่งอัตราโทษปรับตาม พ.ร.ก. กำหนดไว้สูงถึง 1 แสนบาทเป็นจำนวนเงินที่สูงจึงอาจกลายเป็นช่องว่างให้เกิดการ “ประพฤติมิชอบ” ทั้งในรูปแบบรีดไถ เก็บส่วย จากเจ้าหน้าที่ กลายเป็นปัญหาใหม่ขึ้นมาอีก จึงได้มอบหมายให้มาจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นพี่น้องประมงพื้นบ้านอย่างกว้างขวาง ให้เกิดความรู้ ความเข้าใจ
ตลอดจนรับข้อเสนอแนะ ข้อสังเกตต่างๆ ในการออกใบอนุญาต เพื่อเป็นประโยชน์สูงสุดต่อพี่น้องซึ่งผมตั้งใจว่าจะลงพื้นที่ให้มากที่สุด พบปะพี่น้องให้กว้างขวางที่สุดและจะได้นำข้อพิจารณาที่พี่น้องเสนอแนะมาจัดรูปแบบ วิธีการ ตลอดจนปรับปรุงรายละเอียดต่าง ๆ ในการออกใบอนุญาตทำการประมงพื้นบ้าน และนำเสนอต่อ ท่านรองนายกรัฐมนตรี พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ ประธานกรรมการนโยบายการประมงแห่งชาติ พิจารณาดำเนินการให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตการทำประมงพื้นบ้านต่อไป
ผู้สื่อข่าวรายงานชาวประมงพื้นบ้านที่เข้ามารับฟัง ความคิดเห็นส่วนใหญ่ก็เป็นห่วงภาษีอากรที่จะต้องเสียค่าใบอนุญาตในแต่ละเครื่องมือ ว่าจะสูงเกินไป รวมทั้งค่าปรับหากเป็นไปตาม พรก.การประมง ค่อนข้างสูง รับไม่ไหว และ มีการเรียกร้องให้ขอใบอนุญาตตั้งแต่ 5 ตันกรอสขึ้นไป และขอให้เพิ่มเรือดำหอย ให้เป็นเครื่องมือที่จะต้องขอใบอนุญาตในอนาคต ซึ่งกรมประมงกำลังศึกษาอยู่ว่าจะบรรจุหรือไม่
ทั้งนี้การรับฟังความคิดเห็นยังไม่ได้บทสรุป
เฟซบุ๊ก Economy by Than รายงานสด เวทีรับฟังความเห็นออกใบอนุญาตประมงพื้นบ้าน