นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ เปิดเผยว่า ตามที่กรมวิชาการเกษตร ได้รับมอบนโยบายจาก รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ให้มีการจัดตั้ง“ศูนย์ตรวจสอบคุณภาพและมาตรฐานสินค้าเกษตรก่อนการส่งออก (ทางอากาศ) ไปยังประเทศปลายทาง” ซึ่งความร่วมมือดังกล่าวเป็นความร่วมมือระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และ กระทรวงคมนาคม ซึ่งจะเป็นการอำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบการในการส่งออกสินค้าพืชไปยังประเทศปลายทาง สินค้าเกษตรมีความสดใหม่ และมีคุณภาพที่ดี ซึ่งศูนย์ดังกล่าวจะช่วยลดการกักตรวจที่ด่านของประเทศคู่ค้า
กรมวิชาการเกษตรได้จัดทำโครงการจัดการสารเคมีในผักและผลไม้เพื่อการส่งออกไปยังประเทศญี่ปุ่น (Control measures)เพื่อขอยกเลิกการกักกันตรวจสารตกค้างที่ด่านนำเข้าประเทศญี่ปุ่น โดยเสนอต่อ กระทรวงสาธารณสุขแรงงานและสวัสดิการญี่ปุ่น (MHLW) เป็นลักษณะการ Pre-certification และเป็นมาตรการสมัครใจไม่ได้เป็นข้อบังคับ โดย MHLW พิจารณาอนุมติเห็นชอบโครงการ Control measures
ประเทศญี่ปุ่น เป็นตลาดส่งออกสินค้าเกษตรที่มีความสำคัญ และมีความเข้มงวดในการนำเข้าผักและผลไม้สดจากต่างประเทศ ซึ่งจะต้องเป็นไปตามกฎหมาย Food Sanitation Law ที่มีข้อกำหนดในการห้ามจำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่มีสารพิษหรือสารอันตรายต่อผู้บริโภค ผักและผลไม้สดที่นำเข้าจากต่างประเทศจะต้องทดสอบสารเคมีตกค้าง และ ผลการทดสอบต้องเป็นไปตามระบบ Positive listซึ่งในวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2566 อธิบดีกรมวิชาการเกษตร ได้เป็นประธานพิธีเปิดประชุมคณะเจ้าหน้าที่จากกระทรวงสาธารณสุขแรงงานและสวัสดิการญี่ปุ่น เพื่อเตรียมตรวจประเมินโครงการฯ
ทั้งนี้ทั้งสองหน่วยงาน ได้จัดเจ้าหน้าที่ในการตรวจประเมินร่วมกัน ระหว่างวันที่ 27 กุมภาพันธ์ – 3 มีนาคม 2566 ในมะม่วง กลุ่มเกษตรแปลงใหญ่ อ.สากเหล็ก จ.พิจิตร และกระเจี้ยบเขียว ในแปลงเกษตรกร จังหวัด นครปฐมตามมาตรการการกักตรวจสารเคมีตกค้างทางการเกษตร เพื่ออำนวยความสะดวกในการส่งออกสินค้าเกษตรไปยังประเทศญี่ปุ่น
อธิบดีกรมวิชาการเกษตร ยังได้เชิญชวน กลุ่มเกษตรกรต่าง ๆ กลุ่มสมาชิกสหกรณ์การเกษตร กลุ่มเกษตรแปลงใหญ่ ในพื้นที่ปลูกมะม่วง อำเภอ เนินมะปรางค์ วังทอง และ วัดโบสถ์ จังหวัดพิษณุโลก และกลุ่มเกษตรกรที่ปลูกกระเจี้ยบเขียวแหล่งอื่นของประเทศ เข้าร่วมโครงการฯให้เกิดการขยายตลาดเพิ่ม ส่งออกมะม่วง และ กระเจี้ยบเขียวในปริมาณที่มากขึ้น
สำหรับเงื่อนไขของโครงการ Control measures เป็นมาตรการสมัครใจ ไม่บังคับ หากเข้าร่วมต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนด โครงการดังกล่าวประกอบด้วยการดำเนินการของ 3 ภาคส่วน ดังนี้
กรมวิชาการเกษตร มีหน้าที่ในการควบคุม กำกับ ดูแล ผู้ส่งออกและเกษตรกรเครือข่ายให้ปฏิบัติตามเงื่อนไขของโครงการ ประกอบด้วย การตรวจสอบคุณสมบัติของผู้ส่งออกและเกษตรกรเครือข่ายเพื่อเสนอรายชื่อต่อ กระทรวงสาธารณสุขแรงงานและสวัสดิการญี่ปุ่น
ผู้ประกอบการส่งออกมีหน้าที่ในการควบคุมดูแลเกษตรกรเครือข่ายโดยเฉพาะการใช้สารเคมีของเกษตรกรให้เป็นไปตามมาตรฐานค่า Positive list และจัดทำระบบตรวจสอบย้อนกลับของผลิตภัณฑ์ของประเทศญี่ปุ่น ผลผลิตที่ส่งออกต้องมาจากเกษตรกรเครือข่ายเท่านั้น
เกษตรกรเครือข่าย มีหน้าที่ในการปฏิบัติตามหลักการการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับพืชอาหาร (GAP) รวมถึงการใช้สารเคมีตามคำแนะนำของผู้ส่งออกซึ่งสอดคล้องกับมาตรฐานที่ประเทศญี่ปุ่นกำหนด ประโยชน์ที่ผู้ส่งออกในโครงการ Control Measures จะได้รับ คือ การยกเว้นการกักตรวจที่ด่านนำเข้าประเทศญี่ปุ่นตามมาตรการ Order inspection และ ลดค่าตรวจวิเคราะห์ที่ด่านนำเข้าประเทศญี่ปุ่น โดยสินค้าสามารถผ่านด่านตรวจไปยังแหล่งจำหน่ายได้ทันที
ปัจจุบันมีผู้ส่งออกที่อยู่ภายใต้โครงการดังนี้ มะม่วง และมะม่วงฟรีซดราย 18 ราย คิดเป็นปริมาณ 17,080 ตัน คิดเป็นมูลค่า 1,309 ล้านบาทมังคุด 10 ราย คิดเป็นปริมาณ 1,084 ตัน มูลค่า 108. 43 ล้านบาท กล้วย 6 ราย คิดเป็นปริมาณ 3,490.8 ตัน มูลค่า 110.52 ล้านบาท หน่อไม้ฝรั่ง 6 ราย คิดเป็นปริมาณ 854 ตัน มูลค่า 68.32 ล้านบาท กระเจี้ยบเขียว 11 ราย คิดเป็นปริมาณ 14,401.5 ตัน มูลค่า 792.1 ล้านบาท
อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวตอนท้ายว่า โครงการจัดการสารเคมีในผักและผลไม้เพื่อการส่งออกไปยังประเทศญี่ปุ่น ซึ่งมีการวิเคราะห์ว่า การส่งออกภายใต้โครงการฯ จะช่วยลดมูลค่าที่สูญเสียจากการต่อรองของผู้นำเข้าและการกักตรวจที่ด่านของประเทศญี่ปุ่น โดยมีมูลค่าประมาณ 1,200-1,400 ล้านบาทต่อปี ช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ส่งออกไทยในตลาดส่งออกประเทศญี่ปุ่น และส่งผลต่อเนื่องไปยังเกษตรกรเครือข่ายให้มีอาชีพและรายได้มั่นคงยิ่งขึ้น