เป็นครั้งแรกวงการโคนมในประเทศไทย “น้ำนมดิบ” ขาดแคลนอย่างหนัก ทำให้นมพาณิชย์ นมโรงเรียน และนมผง เกิดความปั่นป่วน ล่าสุด กระทบกับโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน วงเงิน 1.4 หมื่นล้านบาท ทำให้มีการประเมินกันในวงการมีหลาย "สหกรณ์-โรงเอกชน” ประมาณร่วม 20 โรง ผิดสัญญาส่งนมไม่ครบ 260 วัน ตามสัญญา นั้น
ต่อกรณีดังกล่าวนี้ นายสัตวแพทย์ประภาส ภิญโญชีพ รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ ในฐานะ “มิสเตอร์โคเนื้อ-โคนม” เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ตามหลักการจัดส่งนมโรงเรียน ประจำปีการศึกษา 2565 ตามประกาศคณะกรรมการอาหารนมเพื่อเด็กและเยาวชน เพื่อให้เด็กนักเรียนได้ดื่มจำนวน 260 วันต่อปี โดยผู้ประกอบการที่ได้รับการจัดสรรสิทธิจะตกลงกับหน่วยจัดซื้อ/โรงเรียนทุกแห่ง เพื่อกำหนดชนิดนมโรงเรียนที่ต้องการซื้อแล้วแต่กรณี
ทั้งนี้ หากมีปัญหาในการดำเนินการตามประกาศคณะกรรมการอาหารนมเพื่อเด็กและเยาวชน เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการดำเนินงานโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน ประจำปีการศึกษา 2565 ให้เป็นอำนาจของคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนโครงการอาหารนมเพื่อเด็กและเยาวชน ระดับกลุ่มพื้นที่ พิจารณาเป็นกรณี ๆ ไป หากผู้ประกอบการรายใดผิดสัญญาส่งนมโรงเรียนจะมีผลต่อหลักเกณฑ์ในการจัดโควตาในปีการศึกษาถัดไป ซึ่งตรงนี้มีบทลงโทษอยู่ ก็จะมีคณะพิจารณา เมื่อตรวจสอบพบผิดจริงก็จะมีบทลงโทษ
ต่อข้อถามที่ว่า หากมีผู้ประกอบการทำหนังสือมาขอขยายระยะเวลาการส่งนมโรงเรียนให้ภายหลังได้หรือไม่ “มิสเตอร์โคนม” กล่าวว่า "ไม่ได้" เพราะผลคือเด็กไม่ได้ดื่มนมตามเงื่อนไข ซึ่งเป็นหลักเกณฑ์ตั้งแต่ปีที่แล้วจะต้องให้เด็กได้ดื่มนมครบ 260 วันตามสัญญา
สอดคล้องกับ นายนัยฤทธิ์ จำเล ประธานชุมนุมสหกรณ์โคนมแห่งประเทศไทย จำกัด กล่าวว่า ไม่มีน้ำนมดิบก็ผิดสัญญาแล้ว หลายที่ไม่มีนมกล่องยูเอชทีส่งให้เด็กนักเรียน เพราะระบุจะต้องส่งนมให้ครบตามสัญญา 260 วัน หากไม่มีนมส่งก็ต้องถูกฟ้องถูกทำโทษซึ่งเป็นสัญญาของปี 2565 และขณะนี้กำลังทำสัญญาปี 2566 ก็มีทั้งโทษเก่า คือผิดสัญญา ส่วนโทษใหม่อาจจะได้รับผลกระทบไปด้วย เนื่องจากปีที่ผ่านมาส่งนมไม่ครบ ก็จะโดนตัดสิทธิ์ 10-20%
“ต้องถามถึงมิสเตอร์โคนม ว่าจะแก้ไขปัญหาอย่างไรเพื่อให้เด็กนักเรียนได้ดื่มนมครบตามสัญญา และต้องไปสอบถามโรงเรียนไหนที่เด็กยังไม่ได้ดื่มนมก็มีหลายที่ไม่มีนมส่ง ภาคใต้ก็เยอะเลย และก็มีหลายที่มาเอาน้ำนมดิบที่สหกรณ์โคนมกำแพงแสน แต่พอเอาไปแล้วก็ไม่สามารถส่งแทนกันได้ (ก่อนทำนมโรงเรียน โรงนมพาสเจอร์ไรส์จะต้องระบุว่าจะไปผลิตนมกล่องที่ไหนช่วงปิดเทอม ยกตัวอย่างหากระบุผลิตสหกรณ์โคนมกำแพงแสน จะไปเอานมกล่องที่ผลิตหนองโพ ไปส่งแทนไม่ได้ จะผูกพันแบบพันธสัญญา) ส่วนใหญ่โรงนมพาสเจอร์ไรส์ จะทำสัญญากันไว้หลายที่ จะไม่ได้ทำไว้ทีเดียว เผื่อตรงนี้ขาด”
อนึ่ง "โครงการนมโรงเรียน" เกิดขึ้น เมื่อปี พ.ศ. 2535 สมัยนายชวน หลีกภัย เป็นนายกรัฐมนตรี ได้มีมติคณะรัฐมนตรี จัดตั้ง "โครงการนมโรงเรียน" เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรผู้ผลิตโคนม อีกทั้งส่งเสริมสุขภาพอนามัยให้แก่เด็กและเยาวชนโครงการนมโรงเรียน พร้อมทั้งมีเงื่อนไขว่า น้ำนมที่ใช้เป็นวัตถุดิบในโครงการนมโรงเรียนต้องเป็นน้ำนมดิบจากเกษตรกรในประเทศ
โดยมีจุดประสงค์หลัก ๆ 3 อย่าง คือ
1. เพื่อพัฒนาร่างกายของเด็กนักเรียนให้มีสุขภาพพลานามัยที่สมบูรณ์ แข็งแรง และมีน้ำหนักและส่วนสูงเป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐานของกระทรวงสาธารณสุข
2. เพื่อเป็นการปลูกฝังให้เด็กไทยรักการดื่มนม
3. เพื่อสนับสนุนให้มีการใช้น้ำนมดิบในโครงการส่งเสริมการเลี้ยงโคนมของรัฐบาล