ไม่ใช่เพียงกระทบเกษตรกรที่ทำให้ขายหมูไม่ได้และแบกภาระขาดทุนสะสมมายาวนาน แต่ผลกระทบหนึ่งที่สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าใคร ก็คือผลกระทบต่อ “ผู้บริโภค” หรือประชาชนคนไทยที่นั่งอยู่ท่ามกลางขบวนการหมูเถื่อน
ตั้งแต่ปี 2564 เป็นต้นมา มีการลักลอบนำหมูเถื่อนเข้ามาแล้วกว่า 2,385 ตู้คอนเทนเนอร์ ขณะที่จับล็อตใหญ่สุดได้เพียง 161 ตู้จากท่าเรือแหลมฉบัง นั่นหมายความว่า จนถึงปัจจุบันหมูเถื่อนเหล่านั้นได้ถูกขายให้คนไทยไปแล้วเป็นส่วนใหญ่ แม้จะยืนยันไม่ได้ว่าหมูเถื่อนที่ยังเหลือและซุกซ่อนอยู่ตามห้องเย็นมีอยู่ในปริมาณเท่าใด แต่ก็พอจะประเมินได้ว่าหมูเหล่านั้นถูกแช่แข็งมายาวนาน 1-2 ปี
เป็นไปได้อย่างยิ่งที่เนื้อหมูเหล่านั้นจะหมดอายุ ขึ้นรา หรือสิ้นสภาพการเป็นเนื้อหมูที่สามารถนำมารับประทานได้ นอกจากหมูเถื่อนจะเป็นหมูที่ลักลอบนำเข้าประเทศอย่างผิดกฎหมาย และเลี่ยงภาษีศุลกากรแล้ว ประเด็นสำคัญที่กระทบผู้บริโภคอย่างรุนแรงและอันตรายที่สุดคือ เนื้อหมูเหล่านี้ไม่ผ่านการตรวจสอบโรคหรือสารปนเปื้อนใด ๆ จากหน่วยงานราชการไทย ซึ่งมีโอกาสสูงมากที่จะปนเปื้อนสารที่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “สารเร่งเนื้อแดง”จากประเทศต้นทางที่อนุญาตให้ใช้สารนี้ได้อย่างถูกกฎหมาย อาทิ ประเทศในแถบอเมริกาใต้
ทำอย่างไรจึงจะปกป้องผู้บริโภคให้ปลอดภัยจากขบวนการหมูเถื่อนได้? ในเชิงกฎหมาย สืบสวน สอบสวน จับกุม ที่กำลังดำเนินไป ทุกคนรอคอยที่จะเห็นโฉมหน้าผู้บงการรายใหญ่ ให้ได้รับโทษทัณฑ์ตามกฎหมาย นับเป็นการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุหากสามารถถอนรากถอนโคนขบวนการนี้ได้จริง ขณะที่ในมุมมองของคนกินหมูหรือผู้บริโภคแล้ว การแก้ปัญหาเฉพาะหน้าก็จำเป็น เพราะลำพังมองดูด้วยตาเปล่า ไม่มีทางเลยที่ประชาชนจะสามารถแยกได้ว่าหมูแช่แข็งนั้นหมดสภาพ หรือมีสารเร่งเนื้อแดงปนเปื้อนหรือไม่
จะดีกว่าหรือไม่ ถ้าหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรงเกี่ยวกับสุขภาพประชาชน จะลงพื้นที่ตรวจสอบเนื้อหมูตามจุดจำหน่ายต่าง ๆ เพื่อร่วมกันสร้างความมั่นใจให้ผู้บริโภคว่า จะได้รับประทานเนื้อหมูของเกษตรกรไทยที่ปลอดภัย ไร้กังวล นอกเหนือไปจากการรณรงค์แนะนำให้เลือกซื้อเนื้อหมูจากแหล่งที่เชื่อถือได้ หรือให้สังเกตแหล่งจำหน่ายที่มีสัญลักษณ์ “ปศุสัตว์ OK” ที่มีการสื่อสารออกมาเป็นประจำอยู่แล้ว
ทำไมต้องกังวลกับสารเร่งเนื้อแดง”
สารเร่งเนื้อแดงเป็นสารในกลุ่มเบต้าอะโกนิสท์ มีฤทธิ์กระตุ้นการทำงานของหัวใจ ขยายหลอดลม สลายไขมัน เพิ่มระดับกลูโคสในเส้นเลือด เป็นตัวยาสำคัญที่ใช้ในยาบรรเทาโรคหอบหืดของมนุษย์ หากนำมาผสมในอาหารหรือน้ำให้หมูกิน จะมีผลให้สัตว์หัวใจเต้นเร็วขึ้น ทนต่อความร้อนได้น้อยลง และเกิดภาวะเครียดจากความร้อน (heat stress) หมูจะมีอาการสั่นอยู่ตลอดเวลา ลักษณะมัดกล้ามจึงนูนเด่นกว่าปกติ ทำให้ซากหมูมีเนื้อแดงมาก และมีไขมันน้อย ตรงกับความต้องการของผู้บริโภค ส่งผลให้ผู้เลี้ยงขายได้ราคาดี
แต่ถ้าผู้บริโภครับประทานหมูที่มีสารเร่งเนื้อแดงตกค้างอยู่ จะทำให้มีผลต่อการทำงานของระบบประสาทที่ควบคุมการทำงานของกล้ามเนื้อหัวใจ กล้ามเนื้อหลอดเลือด หลอดลม กระเพาะปัสสาวะ เป็นต้น เป็นอันตรายมากสำหรับหญิงมีครรภ์ ผู้ป่วยโรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน และโรคไฮเปอร์ไทรอยด์
จึงเป็นที่มาให้ประเทศไทยและและอีกหลายประเทศ ห้ามใช้สารกลุ่มนี้ในการผลิตอาหารสัตว์โดยเด็ดขาด เป็นอันตรายในอาหาร (food hazard) ประเภทอันตรายทางเคมี (chemical hazard) ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 269) พ.ศ. 2546 เรื่องมาตรฐานอาหารที่มีการปนเปื้อนสารเคมีกลุ่มบีตา-อะโกนิสต์
ผู้เขียนก็เป็นผู้บริโภคคนหนึ่ง จึงเห็นด้วยอย่างยิ่ง หากภาครัฐจะลงพื้นที่ตรวจสารเร่งเนื้อแดงในจุดจำหน่ายต่าง ๆ ทั้งแผงหมูในตลาดสด ร้านขายหมูติดแอร์ หรือแม้แต่ซูเปอร์มาร์เก็ต ทั้งนี้ ก็เพื่อความปลอดภัยและสร้างความมั่นใจให้ผู้บริโภคในการบริโภคเนื้อหมู ตลอดจนเพื่อสุขอนามัยที่ดีของประชาชนคนไทย ลดโอกาสเกิดปัญหาสุขภาพในระยะยาว ไม่ให้รัฐต้องเสียงบประมาณในการรักษาอาการเจ็บป่วยของประชาชนที่จะตามมาในอนาคต
บทความและข้อมูลโดย : ผศ.ดร.นายสัตวแพทย์ ดุสิต เลาหสินณรงค์ และ รศ.ดร.นายสัตวแพทย์ กัมพล แก้วเกษ ภาควิชาเวชศาสตร์คลินิกและการสาธารณสุข คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล