"พิมพ์ภัทรา" เร่ง 3 เหมืองโปแตซ หวังเห็นปุ๋ยกระสอบแรกผลิตจากไทย

14 มี.ค. 2567 | 01:55 น.
อัพเดตล่าสุด :14 มี.ค. 2567 | 02:14 น.

"พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รมว.อุตสาหกรรม" เร่ง 3 เหมืองโปแตซเดินหน้ากิจการ ลั่นอยากเห็นปุ๋ยกระสอบแรกไทย หวังข่วยลดต้นทุนให้เกษตรกร สร้างรายได้จากการส่งออก ไม่ต้องพะวงเรื่องราคาช่วงเกิดสถานการณ์ต่างประเทศ

นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยถึงประเด็นความคืบหน้าการดำเนินโครงการเหมืองโปแตซในประเทศไทย ว่า ต้องการเห็นปุ๋ยโปแตซกระสอบแรกที่ผลิตจากในประเทศ เนื่องจากมองว่าหากไทยสามารถทำได้ จะช่วยลกต้นทุนให้กับเกษตรกร 

อีกทั้ง ยังจะช่วยสร้างรายได้เข้าประเทศจากการส่งออก และที่สำคัญคือเรื่องของความมั่นคง โดยมองว่าหากไทยผลิตปุ๋ยได้เองก็จะลดการพึ่งพาการนำเข้าจากต่างประเทศ ไม่ต้องพะวงเรื่องของราคาที่อาจปรับขึ้นจากสถานการณ์ที่ไม่อาจควบคุมได้ เช่น ภาวะสงคราม เป็นต้น

"แร่โปแตซของไทยทั้ง 3 เหมือง หากสามารถขุดขึ้นมาทำปุ๋ยได้ จะมีมากเพียงพอสำหรับใช้ภายในประเทศ  และเพื่อการส่งออก ซึ่งหมายถึงความมั่นคงในประเทศ เพราะไม่ว่าจะเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้นที่ต่างประเทศ ไทยจะมีปุ๋ยใช้แน่นอน  ไม่ต้องขึ้นอยู่กับราคาตลาดโลกเวลาที่มีปัญหากัน ที่สำคัญที่สุดคือมีรายได้จากการส่งออกแน่นอน"
 

ทั้งนี้ ปัจจุบันกระทรวงฯเองก็พยายามเข้าไปดูแล รวมถึงเป็นสื่อกลางในการหาผู้ร่วมทุน และกระตุ้นทั้ง 3 เหมืองให้เร่งดำเนินการ โดยจากข้อมูลพบว่ามีกลุ่มทุนหลายรายให้ความสนใจ ซึ่งกระทรวงฯก็พยายามให้ได้มีการเจรจาร่วมกัน

"พิมพ์ภัทรา" เร่ง 3 เหมืองโปแตซเดินหน้ากิจการ ลั่นอยากเห็นปุ๋ยกระสอบแรกไทย

เช่นเดียวกับกลุ่มทุนจากต่างประเทศ แต่ประเด็นดังกล่าวนี้จะต้องมีการศึกษาเรื่องของกฏหมายอย่างรอบครอบควบคู่กันไปด้วยว่าจะสามารถทำได้หรือไม่ อย่างไร

"เวลานี้หลายฝ่ายก็พยายามช่วยกันอย่างเต็มที่ ล่าสุดนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเองก็ได้ลงพื้นที่ติดตามแผนการฟื้นฟูเหมืองแร่โปแตช จังหวัดอุดรธานี โดยพยายามหาแนวทางในการนำแร่ดปแตซขึ้นมาผลิตปุ๋ยให้ได้ อีกทั้งยังพยายามหาผู้ร่วมทุนจากต่างประเทศเข้ามาอย่างต่อเนื่อง"
 

อย่างไรก็ดี จากการตรวจสอบของ "ฐานเศรษฐกิจ" เกี่ยวกับความพร้อมของเหมืองโปแตซในประเทศไทยพบว่า มีทั้งหมด 3 โครงการ ประกอบด้วย

โครงการที่นครราชสีมา 

  • เนื้อที่ : 9,005 ไร่ 
  • ปริมาณแร่สำรองประมาณ : 2.2 ล้านตัน 
  • ผู้ได้รับใบอนุญาติประทานบัตร : บริษัท ไทยคาลิ จำกัด ได้รับในอนุญาติตั้งแต่ปี 2558 
  • ความคืบหน้าล่าสุด : ประสบปัญาเรื่องน้ำรั่วจากการขุดเจาะอุโมงแบบเอียงเข้าไปสู่ชั้นแร่ ดังนั้น ไทยคาลิ จึงยื่นหนังสือขอเปลี่ยนแปลงแผนผังปรับเปลี่ยนเป็นการเจาะอุโมงค์แนวดิ่ง โดยเรื่องดังกล่าวอยู่ระหว่างการพิจารณา ซึ่งเจ้าหน้าที่กำลังเร่งตรวจสอบ แต่เนื่องจากมีรายละเอียดค่อนข้างมากจึงคิดว่าในเดือนมี.ค. หรือเม.ย.หากทุกอย่างถูกต้องครบถ้วนก็น่าจะพิจารณาอนุญาติให้มีการเปลี่ยนแปลงแผนผังโครงการทำเหมืองได้

อย่างไรก็ดี โครงการดังกล่าวยังมีข้อร้องเรียนจากชาวบ้านที่อ้างว่าน้ำรั่วออกจากพื้นที่การทำเหมืองสร้างความร้อน กพร.จึงได้ตั้งคณะกรรมการลงไปตรวจสอบในพื้นที่ ซึ่งได้ผลเบื้องต้นมาเรียบร้อยแล้ว แต่ต้องนำผลดังกล่าวไปให้ชาวบ้านที่ร้องเรียนรับทราบว่ามีความพึงพอใจหรือไม่อย่างไร โดยจะเป็นข้อมูลประกอบการอนุญาติการเปลี่ยนแปลงแผนผังด้วย
 
โครงการที่จังหวัดชัยภูมิ

  • เนื้อที่ : 9,700 ไร่ 
  • ปริมาณแร่สำรองประมาณ : 17.3 ล้านตัน 
  • ผู้ได้รับอนุญาติประทานบัตร : บริษัท อาเซียนโปแตชชัยภูมิ จำกัด (มหาชน) ได้รับอนุญาติตั้งแต่ปี 2558
  • ความคืบหน้าล่าสุด : ปัจจุบันบริษัทดังกล่าวประสบปัญหาเรื่องหนี้ และเงินผลประโยชน์ของรัฐมูลค่าหลายพันล้าน โดยกำลังอยู่ระหว่างการเจรจาขอปรับโครงสร้างหนี้ หรือพักชำระหนี้ ประนีประนอมไกล่เกลี่ย ซึ่ง กพร. ได้มีฟ้องร้องคดีไปที่ศาล ซึ่งจะต้องรอความเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมบัญชีกลาง อัยการเจ้าของคดี หากสามามารถไกล่เกลี่ยได้ บริษัทก็อาจจะหาผู้ร่วมลงทุนต่อได้

โครงการที่จังหวัดอุดรธานี 

  • เนื้อที่ : 26,000 ไร่
  • ปริมาณแร่สำรอง : 23.7 ล้านตัน 
  • ผู้ได้รับอนุญาติประทานบัตร : บริษัท เอเซีย แปซิฟิค โปแตช คอร์ปอเรชั่น จำกัด (APPC) ได้รับใบอนุญาติตั้งแต่ปี 2565
  • ความคืบหน้าล่าสุด : อยู่ระหว่างการหาผู้ร่วมลงทุน ซึ่งเชื่อว่าจะสามารถเริ่มดำเนินการอย่างจริงจังได้ประมาณเดือนมิ.ย.-ก.ค. 67 โดย APPC ยืนยันว่าจะมีผู้เข้ามาร่วมลงทุนด้วยอย่างแน่นอน