สงครามเมียนมาทุบราคาข้าวโพดไทย ลอบนำเข้าขายถูกชาวไร่ยัน รง.ต้องซื้อ 9 บาท

06 พ.ค. 2567 | 02:33 น.
อัปเดตล่าสุด :06 พ.ค. 2567 | 02:36 น.

วงการจับตา สงครามเมียนมาพ่นพิษ พ่อค้าหนีตายขนข้าวโพดเมียนมาขายเทกระจาดราคาถูก ตํ่ากว่า 9 บาทต่อ กก.ทะลักเข้าไทย ทุบราคาในประเทศร่วง ขณะยกเลิกมาตรการ 3 : 1 ชั่วคราว ยังสรุปไม่จบ รอปลัดพาณิชย์คนใหม่สานต่อยันต้องรับซื้อจากเกษตรกรทุกเมล็ดไม่ตํ่ากว่า 9 บาทเท่านั้น

สถานการณ์สงครามในเมียนมา ยังมีการสู้รบ และปะทะกันเฉพาะจุด แต่กระจายเป็นวงกว้าง ส่อยืดเยื้อ ซึ่งผลกระทบส่วนหนึ่งได้ตกมาถึงประเทศไทย จากผลพวงสถานการณ์มีผลให้ผู้รวบรวมข้าวโพดส่งขายให้บริษัท หรือโรงงานผลิตอาหารสัตว์ในไทยบางราย ลักลอบนำเข้าข้าวโพดตามแนวชายแดนเมียนมาที่ได้รับผลกระทบจากการสู้รบ เข้ามาขายในราคาถูกกว่าราคาในไทย (ขายราคาตํ่ากว่า 9 บาทต่อกก.) ฉุดราคาข้าวโพดในประเทศตกตํ่า กระทบต่อเกษตรกร ปัญหาที่เกิดขึ้นอยู่ระหว่างการเจรจา 3 ฝ่าย ได้แก่ เกษตรกร,สมาคมการค้าพืชไร่ และสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย โดยกรมการค้าภายในได้จัดประชุมเพื่อกำหนดราคาประกันเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร หลังจะมีการยกเลิกมาตรการ 3 : 1 (ซื้อข้าวโพดในประเทศ 3 ส่วน นำเข้าข้าวสาลีได้ 1 ส่วน) ชั่วคราว

 

สงครามเมียนมาทุบราคาข้าวโพดไทย ลอบนำเข้าขายถูกชาวไร่ยัน รง.ต้องซื้อ 9 บาท

 

แหล่งข่าวจากวงการค้าพืชไร่ เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ผลกระทบจากสงครามในเมียนมา ทำให้ราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในประเทศตกตํ่าจากสินค้าลักลอบนำเข้า จากพ่อค้าได้นำข้าวโพดมาเร่ขาย โดยยอมขายในราคาถูกเพื่อให้ธุรกิจเดินได้ ขณะที่เกษตรกรของเมียนมาก็มีความจำเป็นต้องใช้เงินในเรื่องปัจจัย 4 เพื่อดูแลครอบครัว และอาจต้องหนีภัยจากสงครามที่อาจจะเกิดขึ้นเป็นระยะ ซึ่งในวงการกำลังจับตากันอยู่ เพราะปัจจุบันราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ (นอกฤดู) ของไทยเฉลี่ย 9 บาทกว่าต่อกิโลกรัม(กก.) จูงใจให้ผู้ค้าหันมาทำกำไรราคาในประเทศได้

สงครามเมียนมาทุบราคาข้าวโพดไทย ลอบนำเข้าขายถูกชาวไร่ยัน รง.ต้องซื้อ 9 บาท

ขณะที่นายเติมศักดิ์ บุญชื่น ประธานสภาเกษตรกรจังหวัดนครราชสีมา กล่าวถึง ความก้าวหน้าในการจัดทำโครงสร้างราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เพื่อให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในห่วงโซ่การผลิต สามารถรักษาระดับราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ให้มีเสถียรภาพได้ ในเรื่องนี้อยู่ระหว่างรอปลัดกระทรวงพาณิชย์คนใหม่ที่จะมาดำเนินนโยบายต่อ ซึ่งในส่วนของชาวไร่มีมติแล้วว่าผู้ประกอบการจะต้องรับซื้อข้าวโพดอาหารสัตว์ทุกเมล็ดในประเทศราคาเดียวที่  9 บาท/กก. เท่านั้น ถึงจะยอมให้ผ่อนปรนมาตรการ 3:1

สงครามเมียนมาทุบราคาข้าวโพดไทย ลอบนำเข้าขายถูกชาวไร่ยัน รง.ต้องซื้อ 9 บาท

ขณะแหล่งข่าวจากที่ประชุมแนวทางจัดทำโครงสร้างราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เผยว่า ได้ข้อสรุปที่สำคัญ คือ สมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย และสมาคมการค้าพืชไร่ มีข้อเสนอที่ยอมรับราคาที่รับซื้อจากเกษตรกร จังหวัดเพชรบูรณ์ ที่ 9 บาท/กก. ส่วนราคารับซื้อในจังหวัดอื่น ๆ เป็นไปตามระยะทาง และค่าขนส่งในแต่ละพื้นที่ ซึ่งต้องมีการประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกรทราบและเข้าใจเกี่ยวกับราคารับซื้อที่แตกต่างกันของแต่ละจังหวัด

สงครามเมียนมาทุบราคาข้าวโพดไทย ลอบนำเข้าขายถูกชาวไร่ยัน รง.ต้องซื้อ 9 บาท

 “สำหรับราคารับซื้อ ณ โรงงานอาหารสัตว์ (กทม. และปริมณฑล) สมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย เสนอค่าบริหารจัดการของผู้รวบรวม 0.70 บาท/กก.ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายต่างๆ เช่น ค่าทำแห้ง ค่าขนส่ง ค่าจัดการสต๊อก และกำไร ส่วนสมาคมการค้าพืชไร่ เสนอค่าบริหารจัดการให้ผู้รวบรวม 0.80 บาท/กก. เนื่องจากผู้รวบรวมมีข้อสังเกตว่าการทำแห้งในปัจจุบันมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นจากเดิม”

สงครามเมียนมาทุบราคาข้าวโพดไทย ลอบนำเข้าขายถูกชาวไร่ยัน รง.ต้องซื้อ 9 บาท

 นอกจากนี้ทางสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย ได้มีการกำหนดเกรดข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เป็นเกรดมาตรฐาน (เบอร์ 1 และเบอร์ 2) เกรดรอง (เบอร์ 3 และเบอร์ 4 ) และตกเกรด (ไม่รับซื้อ) เพื่อป้องกันการกีดกันรับซื้อและกำหนดราคาที่ไม่เป็นธรรมของโรงงานในช่วงที่ผลผลิตออกสู่ตลาดมาก อย่างไรก็ตามยังมีข้อเสนอให้มีการขึ้นทะเบียนนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จากต่างประเทศ (คลิกอ่าน) โดยเป็นการแจ้งข้อมูลผ่านคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.)

สงครามเมียนมาทุบราคาข้าวโพดไทย ลอบนำเข้าขายถูกชาวไร่ยัน รง.ต้องซื้อ 9 บาท

เช่น แจ้งการนำเข้า การรับซื้อ การขายและปริมาณคงเหลือ เพื่อให้สามารถแยกปริมาณที่นำเข้าออกจากปริมาณที่ผลิตได้ในประเทศเพื่อป้องกันการสวมสิทธิ์การใช้ทะเบียนเกษตรกร โดยให้จัดทำฐานข้อมูลร่วมกันระหว่างพ่อค้าและโรงงานอาหารสัตว์ เพื่อใช้ติดตามผลผลิต การนำเข้า การรับซื้อ การขนย้ายข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จากแหล่งรับซื้อต้นทางไปยังปลายทางโรงงานผลิตอาหารสัตว์ และให้มีการทบทวนโครงสร้างราคาประกันทุก ๆ 1 ปี หรือหากมีปัจจัยอื่นมากระทบให้ปรับปรุงมาตรการให้เหมาะสมได้ทันที

หน้า 9 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,989 วันที่ 5-8 พฤษภาคม พ.ศ. 2567