“อรรถกร” ชูโมเดลบริหารสหกรณ์ 2.2 ล้านล้าน ยกระดับทำงาน แก้ทุจริต

25 พ.ค. 2567 | 02:30 น.
อัพเดตล่าสุด :25 พ.ค. 2567 | 02:37 น.

“อรรถกร ศิริลัทธยากร” แสดงวิสัยทัศน์ โมเดลบริหารสหกรณ์ 2.2 ล้านล้าน ยกระดับทำงาน แก้ทุจริต ผลักดันนโยบายสู่เป้าหมายการเพิ่มรายได้เกษตรกร 3 เท่าภายใน 4 ปี

พลันที่ชื่อ “อรรถกร ศิริลัทธยากร” สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) บัญชีรายชื่อ และโฆษกพรรคพลังประชารัฐ​ ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่พระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ เมื่อวันที่ 27 เมษายน 2567 ให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และได้ปฏิบัติภารกิจมาจนถึงปัจจุบันร่วมเกือบ 1 เดือนแล้ว “ฐานเศรษฐกิจ” สัมภาษณ์พิเศษ “อรรถกร ศิริลัทธยากร” รัฐมนตรีใหม่ป้ายแดง ถึงทิศทางการทำงานร่วมกับร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อผลักดันนโยบายสู่เป้าหมายการเพิ่มรายได้เกษตรกร 3 เท่าภายใน 4 ปี

 

 

อรรถกร ศิริลัทธยากร

ยกระดับทำงานด้วยเทคโนโลยี

นายอรรถกร กล่าวว่า จาก 9 นโยบายหลักของร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ตั้งเป้าเพิ่มรายได้เกษตรกร 3 เท่า ภายใน 4 ปี ถือเป็นเป้าหมายหลักของตนเช่นกัน เพราะตั้งใจอยู่แล้วว่า หากมีโอกาสได้มาทำงานเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรฯ จะทำงานภายใต้การบริหารจัดการของรัฐมนตรีเพื่อแบ่งเบาภาระ และผลักดันนโยบายไปสู่เป้าหมาย

ส่วนภารกิจย่อยได้รับมอบหมายให้กำกับดูแลและประสานกับหน่วยงานต่างๆ รวม 7 หน่วยงาน ได้แก่ กรมตรวจบัญชีสหกรณ์, กรมส่งเสริมสหกรณ์, กรมพัฒนาที่ดิน, สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.), สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน), องค์การสะพานปลา และสำนักงานพิพิธภัณฑ์เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (องค์การมหาชน

“ผมเน้นเรื่องการยกระดับการทำงาน เพราะเราคงไม่ไปยกระดับหน่วยงาน เพราะแต่ละหน่วยงานมีภารกิจ และพันธกิจที่ชัดเจนอยู่แล้ว ก็อยากจะไปยกระดับการทำงานโดยเน้นหลักการใช้เทคโนโลยีต่าง ๆ ในการช่วยเหลือและแบ่งเบาภาระ ยกตัวอย่างบางงานสมมติเมื่อก่อนอาจจะใช้เวลานาน 1-2 วัน ก็อยากจะลดภาระเรื่องของเวลาลงมา เพื่อที่จะให้ทางบุคลากรของเรามีเวลาเพิ่มขึ้นในการช่วยกันคิด และช่วยกันทำในสิ่งที่ต่อยอดนอกเหนือจากงานประจำ หรืองานรูทีน ผมหวังอย่างนั้นมากกว่า”

 

เคลื่อน 7 กรม ดันรายได้เกษตรกร

 

“อรรถกร” ชูโมเดลบริหารสหกรณ์ 2.2 ล้านล้าน ยกระดับทำงาน แก้ทุจริต

 

สำหรับ 7 กรม ที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแล จะทำงานเสริมกัน เพราะหน่วยงานของกระทรวงเกษตรฯ มีถึง 22 หน่วยงานหลัก ถึงแม้จะได้รับมอบหมายให้ดูแล 7 หน่วยงาน แต่ด้านเนื้องาน ทางรัฐมนตรีเกษตรฯ ได้เปิดโอกาสให้สามารถไปทำงานร่วมกับหน่วยงานอื่น ๆ ที่ท่านกำกับดูแลได้ ตราบใดที่การทำงานไม่ได้ไปขัดกันเองกับนโยบายรัฐมนตรี โดยรัฐมนตรีเกษตรฯยินดีให้ตนเข้าไปปรึกษา และขอคำแนะนำ และที่สำคัญยังสามารถเข้าไปช่วยแก้ไขปัญหาหน่วยงานอื่นๆ อีก 15 หน่วยงาน ได้ด้วย

 

“ได้ยึดถือนโยบายหลักของท่านรัฐมนตรีว่าการฯ เพื่อผลักดันการเพิ่มรายได้เกษตรกร 3 เท่าภายใน 4 ปี ซึ่งก็จะเป็นนโยบายหลักของผมไปโดยปริยาย แต่โดยส่วนตัวก็จะมีนโยบายเสริมของหน่วยงานต่าง ๆ ทั้ง 7 หน่วยงานเพื่อที่จะไปยกระดับการทำงาน ซึ่งหลักการบริหารผมใช้คำว่าทำงานร่วมกันมากกว่า เพราะบางเรื่องก็ยอมรับตรง ๆ ว่า ทางหัวหน้าหน่วยงานต่างๆ ก็มีความชำนาญ มีประสบการณ์ตรงนี้มากกว่า ดังนั้นการให้เกียรติกัน ก็จะทำให้การทำงานได้ง่ายยิ่งขึ้น ซึ่งได้มีโอกาสพูดคุยกับผู้บริหารทั้ง 7 หน่วยงานแล้ว แต่ในรายละเอียดของแต่ละหน่วยงานกำลังเร่งทำกันอยู่ แต่ก็มีบางหน่วยงานที่ได้มอบแนวทางไปแล้วว่าอยากจะให้ขับเคลื่อนนโยบายอย่างไรไปเรียบร้อยแล้ว”

ยกโมเดลบริหารสหกรณ์ 2.27 ล้านล.

ยกตัวอย่าง กรมส่งเสริมสหกรณ์ และกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ เป็น 2 องค์กรที่ดูแลเกษตรกร ปัจจุบันมีสมาชิกสหกรณ์อยู่ 12 ล้านคน มีการขับเคลื่อนธุรกิจผ่านระบบสหกรณ์มูลค่ากว่า 2.27 ล้านล้านบาท หรือประมาณ 12.75% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) และมีมูลค่าสินทรัพย์โดยรวมมากถึง 4 ล้านล้านบาท ดังนั้นการที่จะไปดูแลยกระดับ แม้กระทั่งแก้ไขปัญหาไม่ใช่เรื่องง่าย แล้วถ้าจะใช้การแก้ปัญหาตามประเพณีเดิมก็คงจะได้ผลแบบเดิม  ดังนั้นส่วนตัวมองว่า จะต้องหาเครื่องมือมายกระดับในการทำงานในการช่วยกันตรวจสอบ ยิ่งเครื่องมือดีเท่าไร ยิ่งทำให้การตรวจสอบมีความชัดเจนโปร่งใส และจะทำให้ปัญหาการทุจริตลดลง นั่นคือ แนวทางหลักแนวทางหนึ่ง ส่วนแนวทางที่เหลือ ก็มีความจำเป็นที่จะไปช่วยกันแบ่งปันประสบการณ์กับสหกรณ์ต่าง ๆ อาทิ สหกรณ์ร้านค้า สหกรณ์บริการ สหกรณ์ออมทรัพย์ และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน เป็นต้น เพื่อให้สามารถยกระดับไปจุดสูงสุดที่สร้างรายได้ให้เพียงพอ มีช่องทางการขายสินค้า หรือทำงานในเชิงสหกรณ์ให้มีรายได้เพิ่มขึ้น พอเกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น เรื่องหนี้สินก็จะลดลงโดยปริยาย

 

“สิ่งสำคัญที่สุดที่รัฐมนตรีว่าการฯ เคยเล่า มีหลายคนตั้งคำถามว่าทำไมกระทรวงเกษตรฯ ถึงลงพื้นที่มาก ซึ่งต้องยอมรับว่าตลอดสองสัปดาห์ที่ผ่านมาผมทำงานไม่ได้หยุดเลย โดยท่านรัฐมนตรีฯให้ข้อคิดว่า การที่เราจะไปลงพื้นที่อย่าไปลงอย่างเดียว ถ้าลงแล้วปัญหาของชาวบ้านก็ต้องได้รับการแก้ไขด้วย ดังนั้นการลงพื้นที่เพื่อรับฟังปัญหาถือเป็นกุญแจสำคัญ ที่จะทำให้สามารถแก้ไขปัญหาได้รวดเร็วและตรงจุดมากยิ่งขึ้น นี่คือหัวใจสำคัญของการทำงานของกระทรวงเกษตรฯในยุคนี้” นายอรรถกร กล่าวยํ้าตอนท้าย

หน้า 9 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,994 วันที่ 23-25 พฤษภาคม พ.ศ. 2567