สรท.เป่าปากส่งออกโต 2% ไม่หมู ครึ่งหลังต้อง 2.4 หมื่นล้านดอลลาร์ต่อเดือน

17 ก.ค. 2567 | 06:48 น.
อัปเดตล่าสุด :17 ก.ค. 2567 | 07:00 น.

สรท.ชี้ส่งออกไทยปี 67 โต 2% ไม่หมู โจทย์ท้าทายเดือนที่เหลือต้องทำได้ไม่ตํ่า 2.43 หมื่นล้านดอลลาร์ต่อเดือน ท่ามกลางความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ และสงครามการค้าฉุดเศรษฐกิจโลก อีกด้านจับตาใกล้ชิด “ทรัมป์”คัมแบ็กประธานาธิบดีสหรัฐ ไทยเสี่ยงถูกตรวจสอบเข้ม

ภาคการส่งออก หนึ่งในเครื่องยนต์หลักในการขับเคลื่อนการขยายตัวเศรษฐกิจไทย ช่วง 5 เดือนแรกปี 2567 ขยายตัวที่ 2.6% ขณะที่ช่วงครึ่งปีหลัง หรือในเดือนที่เหลือของปีนี้ทิศทางแนวโน้มส่งออกไทยยังน่าห่วง จากเศรษฐกิจและการค้าโลกยังชะลอตัว ขณะต้นทุนของผู้ส่งออกสูงขึ้นจากค่าระวางเรือที่ปรับตัวสูงขึ้น และต้นทุนการผลิตยังทรงตัวในระดับสูง ทั้งจากค่าไฟฟ้า นํ้ามัน และค่าแรงขั้นตํ่าที่จ่อปรับขึ้นเป็น 400 บาทต่อวัน

นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า สรท.คาดการณ์ ณ เดือนกรกฏาคม ส่งออกไทยปี 2567 คาดยังขยายตัวได้ 1-2% ทั้งนี้การส่งออกไทยที่จะขยายตัวได้ที่ 1% ในเดือนที่เหลือของปีนี้ต้องทำตัวเลขให้ได้เฉลี่ย 2.38 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐต่อเดือน และหากจะขยายตัวได้ 2% ต้องทำให้ได้เฉลี่ย 2.43 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐต่อเดือน

สรท.เป่าปากส่งออกโต 2% ไม่หมู ครึ่งหลังต้อง 2.4 หมื่นล้านดอลลาร์ต่อเดือน

ตัวเลขดังกล่าวถือเป็นตัวเลขที่ท้าทาย ท่ามกลางปัจจัยเสี่ยงในเดือนที่เหลือของปีนี้ยังมีอยู่มาก อาทิ ค่าระวางเรือเส้นทางไปยุโรปปรับตัวสูงขึ้น 4 เท่า จากเรือเลี่ยงเส้นทางทะเลแดงที่ยังมีเหตุการณ์โจมตีเรือบรรทุกสินค้าของกลุ่มฮูตี ทำให้ต้องวิ่งอ้อมไปทางแหลมกู๊ดโฮปของแอฟริกาใต้ ส่งผลให้ค่าระวางเรือจากช่วงปกติประมาณ 1,500 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตู้ 20 ฟุต ปรับเพิ่มขึ้นเป็น 4,500-5,500 ดอลลาร์สหรัฐต่อตู้ในเวลานี้ ขณะที่ตลาดยุโรป หลายประเทศมีปัญหาเศรษฐกิจชะลอตัวซํ้าเติมส่งออกไทยไปสหภาพยุโรป (อียู)ชะลอตัวลง

นอกจากนี้ปัญหาสงครามจากความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ และสงครามการค้าสหรัฐ-จีนรอบใหม่ กระทบการค้าโลก และการค้าระหว่างประเทศของไทย รวมถึงต้องจับตาการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐในปลายปีนี้ ที่จะส่งผลต่อทิศทางเศรษฐกิจและการค้าโลก โดยหากโดนัลด์ ทรัมป์ ได้กลับมาเป็นผู้นำสหรัฐ ไทยมีความเสี่ยงที่จะถูกสหรัฐตรวจสอบเข้มข้นขึ้น จากที่จีนมาใช้ไทยเป็นฐานผลิตเพื่อส่งออกในหลายสินค้าไปสหรัฐ

ชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.)

“กลยุทธ์ในการตั้งรับของผู้ส่งออกไทยหากโดนัลด์ ทรัมป์ได้กลับมาเป็นผู้นำสหรัฐ ที่สำคัญคือ ต้องติดตามว่าสหรัฐจะมีมาตรการทางการค้าอย่างไร หรือรุนแรงแค่ไหนกับประเทศที่มีนักลงทุนจีนมาตั้งฐานการผลิต ส่วนกลยุทธ์เชิงรับ สินค้าเชิงยุทธศาสตร์หลัก ๆ ที่เราส่งออกไปสหรัฐ เช่น อิเล็กทรอนิกส์ ชิ้นส่วนยานยนต์ และสินค้าไฮเทคต่าง ๆ ต้องพัฒนาการผลิตสินค้าให้ได้ตามมาตรฐานที่สหรัฐกำหนด แต่หากไบเดนหรือตัวแทนจากพรรคเดโมแครตได้เป็นประธานาธิบดีต่ออีกสมัย นโยบายการค้าคงไม่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมาก แต่ก็ต้องติดตามว่าเขาจะมีมาตรการอะไรออกมาอีก และจะส่งผลกระทบกับเราหรือไม่”

ขณะเดียวกันในส่วนของภาครัฐต้องช่วยกำกับดูแลต้นทุนของผู้ประกอบการไทยเพื่อไม่ให้ความสามารถในการแข่งขันเสียเปรียบประเทศคู่แข่งมาก อาทิ ดูแลต้นทุนค่าไฟฟ้า ค่าพลังงานต่าง ๆ ค่าแรงขั้นตํ่า รวมถึงค่าระวางเรือให้อยู่ในอัตราที่เหมาะสม การจัดหาแหล่งเงินทุนดอกเบี้ยตํ่าให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเพื่อให้มีสภาพคล่องและเดินหน้าธุรกิจต่อไปได้ และเร่งส่งเสริมกิจกรรม Trade Promotion ในตลาดใหม่ และตลาดเดิม เพื่อให้เข้าถึงตลาดคู่ค้าและผู้บริโภคในต่างประเทศมากขึ้น

นอกจากนี้ต้องเร่งปรับโครงสร้างภาคการส่งออกของไทยให้เป็นชาติการค้า หรือ Trading Nation เพื่อรองรับการแข่งขันในระยะยาว ซึ่งเรื่องนี้ ตนอยู่ระหว่างรวบรวมแนวคิดจากอดีตรองนายกรัฐมนตรี อดีตรัฐมนตรี และผู้ที่ครํ่าหวอดในวงการส่งออกไทยในแต่ละสาขารวม 30 คน ในเรื่องการปรับโครงสร้างภาคการส่งออกของไทยสู่ Trading Nation โดยจะจัดทำเป็นหนังสือ และจะมีการเปิดตัวในเดือนกันยายนนี้

“ข้อกังวลมากที่สุดของผู้ส่งออกไทยในเวลานี้คือ ความขัดแย้งทางภูมิศาสตร์ ทำให้เกิดสงครามหลายคู่ของโลก หากยังยืดเยื้อและบานปลายก็จะยังคงกระทบเศรษฐกิจและการค้าโลกต่อไป”นายชัยชาญ กล่าว