“ปุ๋ยคนละครึ่ง” ส่อเลื่อน “ธรรมนัส” ยันไม่ล้ม ปรับใหม่เป็นรอบนาปรังปี 68

07 ส.ค. 2567 | 23:00 น.

นายกสมาคมชาวนาฯ ยัน “ปุ๋ยและชีวภัณฑ์คนละครึ่ง” ไม่ล้ม “ธรรมนัส” ลุยเดินหน้า ปรับใหม่จากฤดูนาปี เป็นนาปรัง 68 เสนอจ่ายปุ๋ยไร่ละ 500 บาทไม่เกิน 20 ไร่ ชาวนาไม่ต้องจ่ายเงินสมทบ ดึง “อีซีไรซ์” ใช้ AI พัฒนาข้าวพันธุ์ใหม่ ใช้นํ้าน้อย ปลูกได้ทุกฤดู ให้ผลิตสูง แข่งเวียดนาม-อินเดีย

 ในแต่ละปีรัฐบาลต้องใช้งบประมาณเพื่อดำเนินโครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าวมาตั้งแต่ปี 2562 โดยใช้งบฯถึงปีละ 54,300 ล้านบาท ซึ่งเป็นการใช้เงินตามมาตรา 28 ของนโยบายการเงินการคลังของประเทศ เพื่อสนับสนุนลดต้นทุนการผลิตและค่าเก็บเกี่ยวข้าวให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวไร่ละ 1,000 บาทไม่เกิน ครัวเรือนละ 20 ไร่

อย่างไรก็ดีโครงการดังกล่าวไม่สามารถสร้างความเข้มแข็งให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวได้อย่างยั่งยืน และเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนช่วยเหลือให้ดำรงชีพได้ จึงเห็นสมควรสนับสนุนการลดต้นทุนเกษตรกรผู้ปลูกข้าวปีการผลิต 2567/68 โดยสนับสนุนปุ๋ยที่เหมาะสมตามความต้องการของเกษตรกรผู้ปลูกข้าวแบบให้เกษตรกรมีส่วนร่วมสมทบค่าปุ๋ยในลักษณะ “ปุ๋ยและชีวภัณฑ์คนละครึ่ง” (ภาครัฐและเกษตรกรจ่ายคนละครึ่ง) งบ 2.99 หมื่นล้านบาท ไม่เกินครัวเรือนละ 500 บาทต่อไร่ ไม่เกิน 20 ไร่ หรือไม่เกินรายละ 10,000 บาท

 

ปราโมทย์ เจริญศิลป์

 

นายปราโมทย์ เจริญศิลป์ นายกสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติ (นบข.) เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ถึงความคืบหน้าโครงการปุ๋ยและชีวภัณฑ์คนละครึ่ง ว่า ล่าสุด ทางสมาคมฯ ได้สอบถามไปยังร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ถึงข้อเท็จจริง ตามที่ได้มีกระแสข่าวว่าจะมีการถอยหรือล้มโครงการ ได้รับการยืนยันจากร้อยเอกธรรมนัสว่า “ไม่ล้ม” แต่อาจจะปรับเปลี่ยนไปดำเนินการในฤดูนาปรังปี 2568 เนื่องจากในฤดูนาปีชาวนาในหลายพื้นที่ได้ปลูกข้าวไปกันเกือบหมดแล้ว

 

“ทางสมาคมฯได้เสนอไปว่า หากจะเดินหน้าต่อก็ไม่อยากให้ชาวนาจ่ายเงินสมทบ ให้จ่ายปุ๋ยตามจริงที่ชาวนาทำนากันดีกว่า ส่วนในอนาคตหากชาวนาได้รับกระทบราคาข้าวตกตํ่า ร้อยเอกธรรมนัสบอกว่าไม่ต้องห่วง รัฐบาลก็จะผลักดันโครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ไร่ละ 1,000 บาท ไม่เกิน 20 ไร่ หรือไม่เกินครัวเรือนละ 20,000 บาท หรือเงินช่วยเหลือชาวนา ในการแก้ไขปัญหา”

“ปุ๋ยคนละครึ่ง” ส่อเลื่อน “ธรรมนัส” ยันไม่ล้ม ปรับใหม่เป็นรอบนาปรังปี 68

นายปราโมทย์ กล่าวอีกว่า สมาคมชาวนาฯ ได้ก้าวสู่ปีที่ 12 ที่ผ่านมาได้มีการเรียกร้องขอการสนับสนุนจากภาครัฐในเรื่องการพัฒนาข้าวพันธุ์ใหม่ ๆ จากที่ผ่านมาบางครั้งไม่ตอบโจทย์ความต้องการตลาด ทำให้ 172 สายพันธุ์ข้าวที่กรมการข้าวรับรอง บางพันธุ์ไม่ได้ผลผลิตตามความต้องการ และมีบางพันธุ์มีอายุการเก็บเกี่ยวนาน ทำให้มีต้นทุนเพิ่ม

 

ทางสมาคมฯจึงได้ให้ บริษัท อีซีไรซ์ ดิจิทัล เทคโนโลยี จำกัด (บจก.) นำ AI มาใช้เพื่อการพัฒนาพันธุ์ข้าวให้ตอบโจทย์ความต้องการของชาวนา 4.6 ล้านครัวเรือน โดยบริษัทได้รับปากว่าจะมีการรับรองพันธุ์ข้าวทุกปี เริ่มตั้งแต่ปี 2568 เป็นต้นไป โดยพันธุ์ข้าวจะให้ผลผลิตต่อไร่เพิ่มขึ้น อายุเก็บเกี่ยวสั้น และใช้นํ้าน้อย

นายภูวินทร์ คงสวัสดิ์

สอดคล้องกับ นายภูวินทร์ คงสวัสดิ์ ผู้ก่อตั้งและซีอีโอ อีซีไรซ์ ดิจิทัล เทคโนโลยี (Easy Rice Tech) เทคสตาร์ทอัพด้านการเกษตร กล่าวว่า บริษัทกำลังทำเทคโนโลยีเอไอขึ้นมา เพื่อทำพันธุ์ข้าวให้เร็วขึ้น เพราะต้องไปสู้อินเดีย ที่การพัฒนา 1 พันธุ์ข้าว ใช้เทคโนโลยีตัดแต่งในการพัฒนาพันธุ์ข้าว 4 ปี ส่วนเวียดนามใช้เวลา 5 ปี

“ผมได้ไปปรึกษากับสมาคมชาวนาฯ และเสนอทางรัฐมนตรีเกษตรฯ ในเบื้องต้นท่านรับทราบและเห็นด้วยที่จะใช้เทคโนโลยี AI ระบุยีนพันธุ์ข้าว ในการพัฒนาสายพันธุ์ จะใช้เวลาเพียง 3 ปี (จากเดิมไทยใช้เวลา 10 ปี ในการพัฒนาพันธุ์ข้าว 1 พันธุ์) โดยมีคุณสมบัติ ต้นเตี้ย มีผลผลิตเพิ่มขึ้น ใช้ปุ๋ยและนํ้าน้อยลง วันนี้อินเดียกับเวียดนามกำลังทำพันธุ์ข้าวที่ใช้นํ้าน้อย เพราะรับรู้ว่านํ้าในอนาคตอาจจะมีน้อยลง”

 

หน้า 9 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 4,016 วันที่ 8-10 สิงหาคม พ.ศ. 2567