สมุนไพรไทยมาแรง! มูลค่าตลาดพุ่ง โอกาสทองผู้ประกอบการรายเล็ก

31 ส.ค. 2567 | 10:39 น.
อัพเดตล่าสุด :31 ส.ค. 2567 | 10:45 น.

กรมพัฒนาธุรกิจการค้า เผย ธุรกิจสมุนไพรไทย โตต่อเนื่อง 5 ปี โดยเฉพาะกลุ่มขายปลีก/ขายส่ง มีผู้ประกอบการ 15,060 ราย รองลงมา กลุ่มผลิต/แปรรูป 1,778 ราย และ กลุ่มเพาะปลูก 1,504 ราย โอกาสที่ผู้ประกอบการรายเล็ก

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ปัจจุบัน ธุรกิจสมุนไพร ถือเป็นโอกาสของผู้ประกอบการรายย่อยในประเทศ ให้เข้าทำธุรกิจ ซึ่งเป็นการเปลี่ยนภูมิปัญญาท้องถิ่นในครอบครัวสู่ผู้เล่นในตลาดอุตสาหกรรม 

โดยมูลค่าผลิตภัณฑ์สมุนไพรทั่วโลกปี 2022 มีมูลค่าสูงถึง 199 พันล้านดอลลาร์ และคาดการณ์ว่าปี 2033 มูลค่าจะอยู่ที่ 417 พันล้านดอลลาร์ (อ้างอิงจากอัตราแลกเปลี่ยน ณ วันที่ 21 สิงหาคม 2567 ที่ 1 ดอลลาร์สหรัฐ เท่ากับ 34.14 บาท)

ขณะที่ตลาดของผลิตภัณฑ์สมุนไพรในประเทศไทยในปี 2566 มีมูลค่าสูงถึง 56 พันล้านบาท สำหรับมูลค่าการส่งออกปี 2566 พืชสมุนไพร มีมูลค่า 483 ล้านบาท และสารสกัดสมุนไพร มีมูลค่า 382 ล้านบาท

ธุรกิจสมุนไพรเติบโตตามกระแสการรักสุขภาพของผู้คนทั่วโลก โดยเฉพาะหลังการระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้ตลาดสมุนไพรเติบโตขึ้นเป็นอย่างมาก รวมทั้งกระแสความนิยมในการบริโภค อุปโภคผลิตภัณฑ์ ‘ออร์แกนิค’ ยิ่งตอกย้ำตลาดสมุนไพรให้ขยายวงกว้างและมีกลุ่มผู้บริโภคหลายหลากมากขึ้น

สมุนไพรไทยมาแรง! มูลค่าตลาดพุ่ง โอกาสทองผู้ประกอบการรายเล็ก

อีกทั้งยังมีผลิตภัณฑ์สมุนไพรสำหรับสัตว์และสมุนไพรในการกําจัดศัตรูพืชเกิดขึ้นอีกด้วย ดังนั้น จึงเป็นโอกาส ที่สำคัญสำหรับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีของไทยในการเข้าทำธุรกิจในช่วงเวลานี้เป็นอย่างมาก

 

จากข้อมูลในระบบ DBD DataWarehouse+ ของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า พบว่า ‘ธุรกิจสมุนไพร’ ช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (ปี 2562 - 2566) คือ ช่วงก่อน - ระหว่าง - หลัง การระบาดของโรคโควิด-19 มีแนวโน้มการเติบโตที่ดีและมีทิศทางการประกอบธุรกิจที่เป็นบวก 

โดย ปี 2562 มีการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจ 1,303 ราย ทุน 2,178.55 ล้านบาท

ปี 2563 จัดตั้ง 1,547 ราย เพิ่มขึ้น 244 ราย หรือ 18.73% ทุน 5,344.15 ล้านบาท 

ปี 2564 จัดตั้ง 2,343 ราย เพิ่มขึ้น 796 ราย หรือ 51.46% ทุน 4,424.56 ล้านบาท

ปี 2565 จัดตั้ง 2,571 ราย เพิ่มขึ้น 228 ราย หรือ 9.74% ทุน 5,957.21 ล้านบาท 

ปี 2566 จัดตั้ง 2,534 ราย ลดลง 37 ราย หรือ 1.44% ทุน 5,855.62 ล้านบาท 

ปี 2567 มกราคม - กรกฎาคม จัดตั้ง 1,452 ราย ทุน 3,128,398 ล้านบาท 

สมุนไพรไทยมาแรง! มูลค่าตลาดพุ่ง โอกาสทองผู้ประกอบการรายเล็ก

ขณะที่ ธุรกิจสมุนไพร ปี 2564 สร้างรายได้ 867,531.41 ล้านบาท กำไร 38,760.99 ล้านบาท 

ปี 2565 สร้างรายได้ 905,960.10 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 38,428.69 ล้านบาท หรือ 4.43% กำไร 33,311.40 ล้านบาท

ปี 2566 รายได้ 872,466.83 ล้านบาท ลดลง 33,493.27 ล้านบาท หรือ 3.70% กำไร 27,497.70 ล้านบาท 

ถึงแม้ว่า ช่วงปี 2565-2566 ผลประกอบการจะลดลงเล็กน้อย แต่ในระยะยาวคาดว่าผลประกอบจะกลับมาเติบโตจากกระแสการนําสมุนไพรมารักษาโรคและเทรนด์รักสุขภาพ โดยการนําเอาสมุนไพรมาใช้ประโยชน์ในด้านต่างๆ

นางอรมน กล่าวต่อว่า การลงทุนของชาวต่างชาติในธุรกิจสมุนไพรไทย มีมูลค่าทั้งสิ้น 38,707.25 ล้านบาท หรือ 26.23% ของการลงทุนทั้งธุรกิจสมุนไพร โดยผู้ประกอบการไทยลงทุน 108,873.59 ล้านบาท หรือ 73.77% 

ส่วนชาวต่างชาติที่ลงทุนสูงสุด 3 อันดับแรก คือ อเมริกัน 11,809.12 ล้านบาท 30.51%

ญี่ปุ่น 5,082.04 ล้านบาท 13.13%

สิงคโปร์ 3,274.73 ล้านบาท 8.46% 

และ อื่นๆ 18,541.36 ล้านบาท 47.90%

สมุนไพรไทยมาแรง! มูลค่าตลาดพุ่ง โอกาสทองผู้ประกอบการรายเล็ก

ส่วนใหญ่เป็นการร่วมลงทุนระหว่างคนไทยกับชาวต่างชาติ ทั้งในกลุ่มเพาะปลูก กลุ่มผลิต/แปรรูป และกลุ่มขายปลีก/ขายส่ง เป็นต้น 

ปัจจุบัน (ข้อมูล ณ วันที่ 31 กรกฎาคม 2567) มีธุรกิจสมุนไพรมีนิติบุคคลดำเนินกิจการอยู่จำนวน 18,342 ราย ทุนรวม 147,580.84 ล้านบาท แบ่งเป็น 

  • กลุ่มเพาะปลูก 1,504 ราย ทุน 6,265.44 ล้านบาท 
  • กลุ่มผลิต/แปรรูป 1,778 ราย ทุน 16,523.04 ล้านบาท
  • กลุ่มขายปลีก/ขายส่ง 15,060 ราย ทุน 124,792.36 ล้านบาท

 

แบ่งตามขนาดธุรกิจ ขนาดเล็ก (S) จำนวนทั้งสิ้น 17,224 ราย   ขนาดกลาง (M) จำนวนทั้งสิ้น 806 ราย ขนาดใหญ่ (L) จำนวนทั้งสิ้น 312 ราย 

ส่วนใหญ่ประกอบธุรกิจในรูป บริษัทจำกัด 15,654 ราย ทุน 136,176.99 ล้านบาท ห้างหุ้นส่วนจำกัด/ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล 2,669 ราย ทุน 3,110.87 ล้านบาท  บริษัทจำกัดมหาชน 19 ราย ทุน 8,292.98 ล้านบาท

ธุรกิจส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในกรุงเทพมหานคร 7,873 ราย รองลงมาคือ ภาคกลาง 4,077 ราย ต่อมาคือภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 1,737 ราย ภาคเหนือ 1,644 ราย ภาคตะวันออก 1,285 ราย ภาคใต้ 1,311 ราย และ ภาคตะวันตก 415 ราย