จับตา! บาทแข็งแตะ 33 บาท เตือนผู้ส่งออก-นำเข้าปิดความเสี่ยง

21 ก.ย. 2567 | 01:59 น.
อัพเดตล่าสุด :21 ก.ย. 2567 | 01:59 น.

เตือนผู้ส่งออก-นำเข้าปิดเสี่ยงต่อเนื่อง คาดระยะสั้น เงินบาท“แข็งค่า”ต่อ แตะ 33บาท/ดอลลาร์ แนะจับตา เฟดลดดอกเบี้ย-เศรษฐกิจสหรัฐ กรุงไทยชี้ ลูกค้าป้องกันความเสี่ยงจากค่าเงินเพิ่มขึ้น แต่วงเงิน Forward  ผู้นำเข้าเริ่มเต็ม หันไปใช้ Option แทน

KEY

POINTS

  • ปัจจุบันเงินบาทแข็งค่าที่ระดับ 33 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งเพิ่มขึ้น 2.4% ตั้งแต่ต้นปี การเคลื่อนไหวนี้มีความผันผวนและมีแนวโน้มแข็งค่าต่อเนื่อง 
  • คาดว่าการประชุมของธนาคารแห่งประเทศไทยในเดือนตุลาคมจะส่งสัญญาณชัดเจนเกี่ยวกับนโยบายดอกเบี้ยในอนาคต
  • ผู้ส่งออกและนำเข้าควรระมัดระวังต่อความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน โดยมีแนวโน้มที่ผู้นำเข้าเริ่มใช้ Option มากขึ้นแทนการทำ Forward เนื่องจากวงเงิน Forward เริ่มเต็ม

ความกังวลต่อสถานการณ์เคลื่อนไหวของเงินบาทตั้งแต่ต้นปีถึงวันที่ 19 กันยายน 2567 เงินบาท “แข็งค่า” แล้ว 2.4% แม้ว่าหลังที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน(FOMC) ของธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด) มีมติ 11 ต่อ 1เสียงให้ลดดอกเบี้ย 0.50% สู่ระดับ 4.75%-5.00% ตามที่ตลาดคาด หนุนให้เงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ พลิกกลับมาปรับตัวสูงขึ้น 

เงินบาทผันผวน หลังผลประชุมเฟด

นางสาวกาญจนา โชคไพศาลศิลป์ ผู้บริหารงานวิจัย บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า ทิศทางเงินดอลลาร์เทียบค่าเงินบาทค่อนข้างผันผวน หลังผลประชุมเฟด ทั้งจังหวะเงินดอลลาร์อ่อนค่ารับข่าว จากนั้นเงินดอลลาร์ฟื้นตัวจากแรงซื้อคืนและอ่อนค่ากลับไปอีกรอบ สาเหตุจากตลาด ยังคงมองโอกาสการลดดอกเบี้ยของเฟด

นางสาวกาญจนา โชคไพศาลศิลป์ ผู้บริหารงานวิจัย บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย

"การปรับลดดอกเบี้ยเมื่อคืนวันที่ 18 กันยายนที่ผ่านมา ไม่ใช่เป็นการลดดอกเบี้ยครั้งเดียว เพราะเฟดส่งสัญญาณปรับลดดอกเบี้ยลงต่อในรอบการประชุมที่เหลือของปี"

โดยสัญญาณจาก dot plot สะท้อนว่า มีความเป็นไปได้ที่จะเห็นการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงอีก 0.50% ก่อนสิ้นปีนี้ และเฟดยังมีแนวโน้มที่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงต่อเนื่องในปีหน้า ซึ่งปัจจัยนี้จะกดดันให้เงินดอลลาร์อ่อนค่า และทำให้เงินบาทแข็งค่าไปทดสอบ 33 บาทต่อดอลลาร์ได้ 

การเคลื่อนไหวของสกุลเงินต่างๆ

อย่างไรก็ดี ภาพรวมการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทผันผวนเช่นกัน ซึ่งในครึ่งปีแรกและครึ่งปีหลังจะเป็นคนละภาพกัน จากครึ่งปีแรกจะเห็นเงินบาทอ่อนค่า จากนั้นเริ่มทยอยแข็งค่าตั้งแต่ต้นเดือนกรกฎาคมและครึ่งปีหลังเป็นต้นมาถึงปัจจุบัน โดยรวมเงินบาทแข็งค่ามาแล้ว 2.4% 

ปัจจัยภายนอกชี้ทิศทางค่าเงินบาท

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทยกล่าวว่า ส่วนตัวมองเฟดไม่เร่งลดดอกเบี้ยและเงินบาทได้ผ่านจุดแข็งค่าสุดไปแล้ว แนวโน้มเงินบาทจะอ่อนค่าลงบ้าง

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย

"จุดที่เงินบาทจะอ่อนค่ามากน่าจะมีช่วงเดียวคือ เดือนพฤศจิกายนปีนี้ที่จะมีการเลือกตั้งของสหรัฐอเมริกาหากทรัมป์ชนะการเลือกตั้ง หลังจากนี้ต้องไปรออีกทีในไตรมาส2 ปีหน้า (ปี2568) ซึ่งปกติเงินบาทจะอ่อนค่า แต่หากคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) ลดดอกเบี้ยนโยบายด้วยอาจจะมีจังหวะอ่อนได้อีก"

ส่วนทิศทางดอกเบี้ยนโยบายของไทยนั้นส่วนตัวมองปลายเดือนต.ค.จะมีการประชุมนักวิเคราะห์ จะเป็นจุดที่ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)จะส่งสัญญาณชัดเจนว่าจะ “ลดหรือไม่ลดดอกเบี้ยนโยบาย” โดยการตัดสินใจทำอะไรน่าจะเห็นในเดือนธ.ค. สิ้นปีนี้ 

ทั้งนี้ ผลประชุมล่าสุดของธปท.ตีความได้หลายแบบ เพราะคนมองว่า มีการพูดถึงหนี้เสียเยอะขึ้น กังวลคุณภาพของเครดิตอาจจะเหมือนปูทางไปสู่การลดดอกเบี้ยหรือไม่

"แต่ถ้าเรามองอีกมุมคือ ธปท.ยังไม่ลดดอกเบี้ยนโยบาย เพราะจากสัญญาณอาจจะแค่บอกว่า มีปัญหาแต่จะแก้ปัญหาด้วยเครื่องมือที่เจาะจง เช่น มาตรการปล่อยสินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม(RL)รวมถึงสนับสนุนให้มีการรวมหนี้” 

ส่วนความเสี่ยงช่วงที่เหลือ แนะนำให้ติดตามดอกเบี้ยเฟดและเศรษฐกิจของสหรัฐ เพราะจะสร้างความผันผวนกับตลาดการเงินได้พอสมควร ซึ่งขึ้นกับเหตุผลในการลดดอกเบี้ยและแนวโน้มในการลดดอกเบี้ยเพราะอะไร ถ้าบอกว่า เร่งลดดอกเบี้ยเพราะภาพของเศรษฐกิจสหรัฐจะชะลอชัดเจน เงินบาทจะแข็งค่าหลุด 33บาท/ดอลลาร์ แต่กรณีนี้อาจจะเป็นกรณีแย่สุด

สำหรับทิศทางเงินบาทนั้น ส่วนตัวมองว่า ปัจจัยภายนอกจะมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงของค่าเงินบาท เพราะปัจจัยพื้นฐานในประเทศการส่งออกและการท่องเที่ยวไม่น่าจะผิดคาด แต่ก็ต้องจับตามองว่า ส่งออกและการท่องเที่ยวไทยจะเป็นอย่างไร

รวมถึงค่าระวางเรือกับค่าขนส่งสินค้า ซึ่งจะมีผลต่อดุลบัญชีเดินสะพัดพอควร (ล่าสุดค่าระวางเรือทยอยปรับลดลงเหลือ 4,100 ดอลลาร์ต่อตู้ขนาด 40ฟุตจากก่อนหน้าเกือบ 6,000 ดอลลาร์) ถัดมาคือ ฟันด์โฟลว์ ซึ่งจะสะท้อนว่า นักลงทุนต่างชาติยังเชื่อมั่นกองทุนวายุภักษ์หรือรัฐบาลไทยหรือไม่ และราคาทองคำ(ถ้าทองคำไม่มีอัพไซซ์ เงินบาทก็จะไม่ค่อยมีปัจจัยหนุน) 

ขณะที่บอนด์ยีลด์ไทยค่อนข้างนิ่ง สาเหตุจาก

  1. ดอกเบี้ยนโยบายของไทยไม่เปลี่ยนแปลง
  2. บอนด์ยีลด์สหรัฐปรับลดลงเรื่อยๆ จึงเป็นจุดที่บอนด์ยีลด์ของไทยปรับขึ้นยาก เห็นได้จากบอนด์ยีลด์ของไทยแต่ละช่วงอายุปรับลดลงในอัตราน้อยกว่าบอนด์ยีลด์ของสหรัฐ

ขณะที่ความกังวลต่อซัพพลายจาก “ดิจิทัล วอลเลต”ไม่มีแล้ว เพราะปรับรูปแบบทยอยจ่ายเงิน อีกทั้งสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ(สบน.)แถลงแผนกู้เงินเพิ่มในวงเงินไม่มาก

ส่วนการป้องกันความเสี่ยงของผู้นำเข้าและผู้ส่งออกนายพูนกล่าวว่า ลูกค้าเปิดใจป้องกันความเสี่ยงจากค่าเงินเพิ่มขึ้น แต่ช่วงนี้วงเงินผู้นำเข้าจะเริ่มเต็ม ทำให้เมื่อเงินบาทแข็งค่ามาก ไม่สามารถทำ Forward ได้ บางส่วนอาจจะรอซื้อ Spot แต่ผู้ส่งออกจะบ่นมากในจังหวะที่เงินบาทแข็งค่า เพราะลูกค้าวงเงินไม่พอในจังหวะที่จะปิดความเสี่ยง อาจจะลำบากใจที่จะปิดความเสี่ยง เพราะมาเจอภาวะเรทต่ำ 

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาลูกค้าของกรุงไทยเลือกรับมือด้วยกลยุทธ์ใช้เครื่องมือ Option ช่วยเสริมกับลูกค้าที่ทำ Forward เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นเร็วความผันผวนสูง ซึ่งการทำ Option เหมือนประกันความเสี่ยงให้กับลูกค้าได้และเท่าที่ทราบปริมาณทำ Option มีสัญญาณโตขึ้น


หน้า 13 หนังสือพิมพ์ ฐานเศรษฐกิจ  ฉบับที่ 4,029 วันที่ 22 - 25 กันยายน พ.ศ. 2567