“บาทแข็ง-สงครามตะวันออกกลาง-เทรดวอร์” 3 ปัจจัยเสี่ยงสุด ทุบศก.ไทย Q4

01 ต.ค. 2567 | 22:22 น.

นักวิชาการชี้ 3 ปัจจัยเสี่ยง กระทบเศรษฐกิจไทยมากสุดในโค้งสุดท้าย ทั้ง“บาทแข็งค่า-สงครามตะวันออกกลางขยายวง-สงครามการค้าสหรัฐ-จีนรอบใหม่” จี้รัฐ-เอกชนรับแรงกระแทก จับตาอิสราเอลบุกเลบานอน โจมตีเยเมนทุบส่งออกไทยไปตะวันออกกลาง 3.9 แสนล้านทรุด

รองศาสตราจารย์ ดร.อัทธ์  พิศาลวานิช ผู้เชี่ยวชาญเศรษฐกิจระหว่างประเทศ เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ถึงมุมมอง 3 ปัจจัยเสี่ยงอันดับแรกต่อเศรษฐกิจไทยในช่วงไตรมาสที่ 4 หรือโค้งสุดท้ายของปีนี้ว่า

ปัจจัยเสี่ยงอันดับ 1 เป็นเรื่องของเงินบาทที่แข็งค่ามากสุดในรอบ 30 เดือน จากต้นปีอยู่ที่ 35-36 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ล่าสุดอยูที่ระดับ 32 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อผู้ส่งออกของไทยอย่างรุนแรง ทั้งในแง่ผู้ส่งออกที่ไม่ได้ทำประกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยน(ทำฟอร์เวิร์ด)ไว้จะประสบภาวะขาดทุน หรือขาดทุนกำไรมากเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มสินค้าเกษตร / เกษตรแปรรูปที่ใช้วัตถุดิบในประเทศเป็นหลัก

ส่วนในรายที่อยู่ระหว่างเจรจาซื้อขายในคำสั่งซื้อหรือออร์เดอร์ใหม่ เพื่อส่งมอบสินค้าปลายปีนี้ หรือต้นปีหน้า จะมีความยากลำบากในการเจรจาราคาซื้อขายเพื่อไม่ให้ขาดทุน ขณะที่เงินบาทแข็งค่าจะส่งผลให้ราคาสินค้าไทยมีราคาที่สูงขึ้นตามอัตราแลกเปลี่ยนที่แข็งค่าขึ้น ผู้นำเข้าอาจหันไปนำเข้าสินค้าจากประเทศคู่แข่งขันอื่น ๆ ที่ค่าเงินแข็งค่าน้อยกว่าไทยแทน เช่น จีน เวียดนาม เป็นต้น

“เงินบาทที่แข็งค่าขึ้นมีปัจจัยสำคัญจากสหรัฐลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงในรอบ 4 ปี โดยลดลงแรงถึง 0.50% ส่งผลต่อค่าเงินที่ประเทศต่าง ๆ มีความผันผวนในทิศทางทางที่แข็งค่าขึ้น ซึ่งเงินบาทไทยแข็งค่าเป็นอันดับต้น ๆ ของภูมิภาค

เทียบกับเงินหยวนเงินบาทไทยแข็งค่าขึ้น 1.5% ทำให้ราคาสินค้าไทยไปจีนมีราคาเพิ่มขึ้น 1.5% เว้นแต่ว่าเราจะบริหารค่าเงินให้อ่อนลงไป ขณะที่เงินด่องของเวียดนามไม่แข็งค่าเลย ส่วนเงินรูเปียห์ของอินโดนีเซียแข็งค่าขึ้นเพียง 1% ทำให้การส่งออกสินค้าไทยเสียเปรียบในการแข่งขัน ตรงนี้ให้เป็นปัจจัยเสี่ยงอันดับที่ 1”

รองศาสตราจารย์ ดร.อัทธ์  พิศาลวานิช ผู้เชี่ยวชาญเศรษฐกิจระหว่างประเทศ

ทั้งนี้หากรัฐบาลไม่เข้าไปแทรกแซงค่าเงินบาทมีโอกาสจะแข็งค่าถึงระดับ 31-32 บาทต่อดอลลาร์จะยิ่งกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันส่งออกไทยมากยิ่งขึ้น โดยแนวทางหนึ่งที่ช่วยได้คือ ไทยต้องลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เพื่อทำให้เงินบาทอ่อนค่าลง

ปัจจัยเสี่ยงอันดับ 2 สงครามในตะวันออกกลาง ที่เวลานี้อิสราเอลได้ขยายวงสงครามไปยังเลบานอน รวมถึงในเยเมน และส่งสัญญาณไปยังอิหร่าน จะส่งผลให้สถานการณ์ยิ่งทวีความรุนแรง และมีความตรึงเครียดมากขึ้น และจะมีผลกระทบกับการค้าโลก การค้าไทยกับกลุ่มประเทศในตะวันออกกลาง รวมถึงการค้าไทยกับยุโรปที่ต้องใช้เส้นทางขนส่งทางเรือผ่านทะเลแดง มีต้นทุนค่าระวางเรือที่ยังคงระดับสูง จากเรือมีความเสี่ยงถูกโจมตี ซึ่งต้องจับตาผลกระทบจากราคาน้ำมันในตลาดโลกว่าจะพุ่งขึ้นมากน้อยแค่ไหน

“สงครามในตะวันออกครั้งนี้มองว่าจบยาก และคงยืดเยื้อ เพราะสหรัฐเข้าข้างและสนับสนุนอิสราเอล แม้สหรัฐจะพูดถึงการหยุดยิงมานานแล้วตั้งแต่สมัยการสู้รบในกาซาก็ยังไม่เคยหยุดยิง อิสราเอลก็ยังถล่มกาซาจนราบเป็นหน้ากลอง เสมือนเป็นการแสดงละคร เพราะเขามีผลประโยชน์ระหว่างกันอยู่ ขณะที่อีกฝั่งหนึ่งมีอีกหลายกลุ่มที่อิหร่านให้การสนับสนุนก็พร้อมรบแบบกองโจรกับอิสราเอลเพราะโดยแสนยานุภาพของอาวุธแล้วสู้ไม่ได้ ทั้งฮิชบอลเลาะห์ในเลบานอน ฮูตีในเยเมน และยังอีกหลายกลุ่ม”

อนึ่ง การค้าไทย-ตะวันออกกลาง (15 ประเทศ)ในปี 2566 มีมูลค่ารวม 1.38 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 6.95% ที่ไทยค้ากับโลก โดยไทยส่งออกมูลค่า 393,481 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 4% ของการส่งออกไทย ขณะที่ไทยนำเข้าจากตะวันออกกลาง 988,929 ล้านบาท  คิดเป็นสัดส่วน 9.82% ของการนำเข้าไทยจากทั่วโลก โดยไทยขาดดุลการค้าตะวันออกกลาง 595,448 ล้านบาท จากส่วนใหญ่เป็นการนำเข้าน้ำมัน 

ส่วนช่วง 6 เดือนแรกปี 2567 การค้าไทย-ตะวันออกกลางมีมูลค่ารวม 980,416 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 8.33% โดยไทยส่งออก 279,502 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8.86% ไทยนำเข้า 700,914 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8.12% ไทยขาดดุลการค้า 421,413 ล้านบาท  ทั้งนี้หากสงครามในตะวันออกกลางยังยืดเยื้อและทวีความรุนแรงและขยายวงมากขึ้น คาดจะส่งผลกระทบการค้าไทย-ตะวันออกกลางปรับตัวลดลง