รายการ "เข้าเรื่อง" ของเผยแพร่ทางช่องยูทูปฐานเศรษฐกิจ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผอ.ศูนย์มุสลิมศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้วิเคราะห์สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลและกลุ่มฮิซบอลเลาะห์ในเลบานอน ท่ามกลางความกังวลของประชาคมโลกว่าความขัดแย้งนี้อาจขยายตัวเป็นสงครามเต็มรูปแบบ
ดร.ศราวุฒิ อธิบายว่า แม้ในขณะนี้ยังไม่ถือว่าเป็นสงครามเต็มรูปแบบ เนื่องจากทั้งสองฝ่ายยังไม่ได้ประกาศสงครามอย่างเป็นทางการ แต่อย่างไรก็ตาม การที่อิสราเอลโจมตีทางอากาศและการสังหารผู้นำระดับสูงของฮิซบอลเลาะห์ ถือเป็นสัญญาณที่น่ากังวลอย่างยิ่ง
สัญญาณสำคัญที่บ่งชี้ว่าความขัดแย้งอาจขยายตัวเป็นสงครามเต็มรูปแบบ คือการเคลื่อนกำลังภาคพื้นดินของอิสราเอลเข้าสู่เลบานอน ซึ่งหากเกิดขึ้นก็จะนำไปสู่การเข้าร่วมของประเทศมหาอำนาจอื่น ๆ เช่น สหรัฐอเมริกาและอิหร่าน ส่งผลให้สงครามขยายวงกว้างไปทั่วภูมิภาคตะวันออกกลางและกระทบต่อเศรษฐกิจโลกอย่างรุนแรง
ซึ่งปัจจัยที่อาจนำไปสู่การขยายตัวของความขัดแย้ง ประการแรกคือ ท่าทีของประเทศอิหร่านในฐานะพันธมิตรสำคัญของฮิซบอลเลาะห์ อิหร่านมีอิทธิพลอย่างมากต่อการตัดสินใจของกลุ่มติดอาวุธนี้ หากอิหร่านสนับสนุนการขยายความขัดแย้ง สถานการณ์อาจทวีความรุนแรงขึ้นอย่างรวดเร็ว
ประการต่อมาคือสถานการณ์ภายในเลบานอนเอง ที่ประชาชนส่วนใหญ่ที่ไม่ต้องการเห็นสงคราม เนื่องจากประเทศกำลังเผชิญปัญหาเศรษฐกิจและการเมืองอยู่แล้ว อีกทั้งยังไม่มีรัฐบาลอย่างเป็นทางการในขณะนี้ ซึ่งอาจส่งผลต่อการตัดสินใจของฮิซบอลเลาะห์
ประการสุดท้ายคือการเมืองภายในอิสราเอลเอง โดยรัฐบาลของนายเนทันยาฮูกำลังเผชิญแรงกดดันทางการเมือง จากความล้มเหลวในการจัดการกับกลุ่มฮามาสในฉนวนกาซา ดังนั้นการเปิดศึกกับฮิซบอลเลาะห์อาจเป็นความพยายามในการเรียกคะแนนนิยมและเบี่ยงเบนความสนใจจากปัญหาภายในประเทศ
สำหรับผลกระทบของการเมืองสหรัฐอเมริกาต่อสถานการณ์ในตะวันออกกลางนั้น ดร.ศราวุฒิให้มุมมองว่า หากกามาลา แฮร์ริส ชนะการเลือกตั้ง อาจมีแนวโน้มที่จะพยายามหยุดสงครามในฉนวนกาซามากกว่า ซึ่งอาจนำไปสู่การลดความตึงเครียดในภูมิภาค แต่หากโดนัลด์ ทรัมป์ ชนะการเลือกตั้ง ก็อาจให้การสนับสนุนอิสราเอลอย่างเต็มที่ ซึ่งจะส่งผลให้สถานการณ์ในตะวันออกกลางทวีความรุนแรงขึ้น
สำหรับประเทศไทย ดร.ศราวุฒิแนะนำให้ยึดหลักสากลและท่าทีของสหประชาชาติ โดยเน้นย้ำว่าไทยควรสนับสนุนการถอนกำลังของอิสราเอลออกจากดินแดนที่ยึดครองของปาเลสไตน์ ทั้งในเวสต์แบงก์และฉนวนกาซา ซึ่งสอดคล้องกับท่าทีของกว่า 140 ประเทศทั่วโลก
นอกจากนี้ ไทยควรเตรียมแผนรองรับเพื่อช่วยเหลือคนไทยในภูมิภาคตะวันออกกลาง โดยเฉพาะแรงงานไทยและนักเรียนนักศึกษา หากสถานการณ์ลุกลามบานปลาย เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์คล้ายกับที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม ปีที่แล้ว
ทั้งนี้ยังมีความหวังว่าการเจรจาทางการทูตในเวทีสหประชาชาติ ซึ่งกำลังมีการประชุมสมัชชาใหญ่อยู่ในขณะนี้ ว่าจะสามารถยับยั้งการขยายตัวของความขัดแย้งได้ โดยมหาอำนาจต่าง ๆ รวมถึงรัสเซียและจีน กำลังพยายามเจรจาเพื่อหยุดยั้งการยกระดับความรุนแรง เนื่องจากทุกฝ่ายตระหนักดีว่าหากเกิดสงครามขึ้น ทุกประเทศจะได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้