โลกระทึก อิหร่านปิด “ช่องแคบฮอร์มุซ”ดันราคาน้ำมันพุ่ง 100 ดอลลาร์/บาร์เรล

06 ต.ค. 2567 | 22:16 น.

โลกจับตาอิสราเอลโจมตีโครงสร้างพลังงาน ทั้งบ่อน้ำมัน บ่อก๊าซธรรมชาติในอิหร่าน หลัง “ไบเดน” ผู้นำสหรัฐประกาศให้การสนับสนุน ผวาอิหร่านสั่งปิดช่องแคบฮอร์มุซตอบโต้ ดันราคาน้ำมันดิบตลาดโลกพุ่ง 100 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล สะเทือนเศรษฐกิจโลกรอบใหม่

วันที่ 1 ตุลาคม 2567 อิหร่านได้เปิดฉากโจมตีอิสราเอลด้วยขีปนาวุธมากกว่า 180 ลูก เพื่อตอบโต้อิสราเอลที่ลอบสังหารผู้นำกลุ่มฮามาสถึงกรุงเตหะราน เมืองหลวงของอิหร่าน และยังไล่ล่าสังหารผู้นำกลุ่มฮิซบอลเลาะห์ที่อิหร่านให้การสนับสนุนเสียชีวิตไปหลายคน โดยร้อยละ 90 ของขีปนาวุธที่ถูกยิงออกไปฝ่ายอิหร่านระบุสามารถโจมตีเป้าหมายในอิสราเอลได้สำเร็จ

ขณะที่นายเบนจามิน เนทันยาฮู นายกรัฐมนตรีอิสราเอล ออกมาระบุ การโจมตีอิสราเอลของอิหร่านด้วยขีปนาวุธล้มเหลว โดยระบบป้องกันภัยทางอากาศของอิสราเอลสามารถสกัดเอาไว้ได้ และเตือนว่า อิหร่านทำผิดพลาดครั้งใหญ่และจะต้องชดใช้

ด้านผู้บัญชาการทหารสูงสุดของอิหร่านเตือนว่า หากอิสราเอลโต้กลับและโจมตีดินแดนของอิหร่าน อิสราเอลจะต้องเผชิญกับการโจมตีอีกหลายครั้งและรุนแรงมากขึ้น โดยอิหร่านจะเอาคืนด้วยการโจมตีสาธารณูปโภคทั่วประเทศอิสราเอล

ล่าสุดมีรายงานข่าว อิสราเอลวางแผนโจมตีโครงสร้างพื้นฐานด้านยุทธศาสตร์ของอิหร่าน เช่น แท่นขุดเจาะก๊าซหรือน้ำมัน บ่อน้ำมัน บ่อก๊าซธรรมชาติ และท่าเรือขนส่งน้ำมันของอิหร่าน โดยโจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐ ให้สัมภาษณ์กับสื่อว่า ได้คุยกับอิสราเอลแล้วว่าจะเอาคืนอิหร่าน โดยจะโจมตีโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงาน

ส่วนการโจมตีโครงการนิวเคลียร์ในอิหร่านประธานาธิบดี โจ ไบเดน เผยว่า ได้หารือกับผู้นำสมาชิกกลุ่มชาติอุตสาหกรรมชั้นสูง 7 ประเทศ ( G7) มีความเห็นไปในทางเดียวกันว่า อิสราเอลมีสิทธิ์ที่จะตอบโต้อิหร่าน แต่ต้องอยู่ในระดับที่เหมาะสม และสหรัฐฯไม่สนับสนุนการโจมตีโรงงานนิวเคลียร์ในอิหร่าน

โลกผวาจับตาใกล้ชิดถึงผลกระทบที่จะตามมา หากอิสราเอลที่ได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐ จะทำการโจมตีโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานของอิหร่าน เพราะอาจส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกพุ่งสูงขึ้นถึงระดับ 100 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรลเหมือนในช่วงแรก ๆ ที่รัสเซียเปิดสงครามกับยูเครน เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2565

ทั้งนี้เพราะอิหร่าน เป็นหนึ่งในผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ของโลก และเป็นผู้กุมชะตาชีวิตของผู้คนกว่าครึ่งโลก เนื่องจากเป็นผู้ควบคุมการเข้า-ออกของน้ำมันผ่าน “ช่องแคบฮอร์มุซ” ซึ่งเป็นช่องแคบเชิงยุทธศาสตร์รูปตัว V ที่มีความยาวประมาณ 100 ไมล์ทะเล และช่วงที่แคบที่สุด มีความกว้างเพียงประมาณ 21 ไมล์ทะเล หรือประมาณ 33 กิโลเมตร  

เป็นเส้นทางเดินเรือที่เชื่อมระหว่างอ่าวเปอร์เซียกับอ่าวโอมาน เป็นจุดที่ประเทศโอมานและสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) ขนส่งน้ำมันดิบทางเรือจากตะวันออกกลางไปสู่โลกภายนอก คิดเป็นสัดส่วน 1 ใน 5 ของน้ำมันดิบโลก ยังไม่นับรวมก๊าซธรรมชาติเหลว(LNG)ที่ส่งผ่านออกมาจากประเทศกาตาร์

หากอิสราเอลโจมตีโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานของอิหร่านจริง สิ่งที่อิหร่านอาจใช้บีบประชาคมโลกคือการปิดช่องแคบฮอร์มุซ ซึ่งจะทำให้น้ำมันและก๊าซธรรมชาติจากประเทศในตะวันออกกลางไม่สามารถออกสู่โลกได้ โดยหากอิหร่านปิดช่องแคบฮอร์มุซ น้ำมันดิบ 1 ใน 5 ของโลกจะหายไปทันที รวมถึงสิ่งที่จะตามมาคือ กลุ่มประเทศในสหภาพยุโรปที่เวลานี้ได้คว่ำบาตรไม่ซื้อน้ำมันและก๊าซธรรมชาติจากรัสเซีย และหันมาพึ่งพาก๊าซแอลเอ็นจีจากกาตาร์จะเกิดการขาดแคลนพลังงานทันที

ขณะผลที่เกิดขึ้นแล้วจากที่ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐให้สัมภาษณ์สนับสนุนอิสราเอลโจมตีโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานของอิหร่าน โดยเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสซื้อขายล่วงหน้าได้พุ่งขึ้นไปอยู่ที่ 73.71 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ถือเป็นระดับราคาที่พุ่งขึ้นมากที่สุดในวันเดียว นับตั้งแต่อิสราเอลเริ่มทำสงครามกับกลุ่มฮามาสเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2566 และส่งผลถึงราคาน้ำมันในประเทศไทย ปรับตัวสูงขึ้น

ด้านโกลด์แมนแซคส์ คาดราคาน้ำมันดิบจะพุ่งขึ้นอีกไม่ต่ำกว่า 20 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ภายในอีก 3 เดือนข้างหน้า หากอิสราเอลโจมตีแหล่งผลิตน้ำมันของอิหร่าน โดยการคาดการณ์ดังกล่าวอยู่บนสมมุติฐาน กลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมันอย่างกลุ่มโอเปก และกลุ่มโอเปกพลัสที่รวมถึงรัสเซีย ไม่เพิ่มกำลังการผลิตเพื่อไปอุดช่องว่างของน้ำมันอิหร่านที่จะหายไป 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน หากอิหร่านส่งออกน้ำมันไม่ได้ โอกาสที่จะเห็นน้ำมันดิบแตะระดับ 100 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรลในต้นปีหน้ามีความเป็นไปได้สูง

สอดคล้องกับ นายเกรียงไกร  เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ที่กล่าวว่า ในเดือนที่เหลือของปีนี้รวมถึงปีหน้า โลกยังมีหลายปัจจัยเสี่ยง  ปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญที่สุดคือ เรื่องของความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ คือสงคราม ซึ่งเวลานี้โลกจับตาใกล้ชิดสงครามระหว่างอิสราเอลกับอิหร่านจะมีการตอบโต้และลุกลามรุนแรงไปมากน้อยแค่ไหน จะกลายเป็นสงครามในภูมิภาคตะวันออกกลางอย่างเต็มรูปแบบหรือไม่

เกรียงไกร  เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย

“สิ่งที่น่าห่วงคือราคาพลังงาน ราคาน้ำมัน ซึ่งที่ผ่านมาราคาค่อนข้างต่ำอยู่ที่ประมาณ 70 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล แต่ถ้าเกิดมีการลุกลามของสงครามอาจจะส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกทะลุไปถึง 100 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรลเหมือนในช่วงเกิดสงครามรัสเซีย-ยูเครนใหม่ ๆ” 

รวมถึง ค่าระวางเรือในเส้นทางจากเอเชียไปยุโรปที่อาจพุ่งขึ้นไปอีก จากปกติค่าระวางเรือขนาดตู้ 40 ฟุตไปยุโรปอยู่ที่ประมาณ 3,000-4,000 ดอลลาร์สหรัฐ ช่วงสงครามอิสราเอล-ฮามาส ที่มีกลุ่มฮูตีโจมตีเรือในทะแดง ค่าระวางเรือเคยพุ่งขึ้นไปถึงระดับ 12,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล และช่วงนี้ลดลงมาอยู่ที่ระดับ 8,000-9,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อตู้ แต่ถ้าเกิดเป็นอย่างนี้ มีโอกาสที่จะกลับขึ้นไปอยู่ที่ระดับ 12,000 หรือทะลุสูงขึ้นกว่า 12,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อตู้ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ เพราะฉะนั้นในปีหน้าความผกผันก็จะมีในเรื่องนี้