เมียนมาปัญหาที่เปลี่ยนไปไม่หยุด

06 ต.ค. 2567 | 23:30 น.

เมียนมาปัญหาที่เปลี่ยนไปไม่หยุด คอลัมน์ เมียงมอง เมียนมา โดย กริช อึ้งวิฑูรสถิตย์

เมื่ออาทิตย์ที่ผ่านมา ผมได้เดินทางไปกรุงย่างกุ้ง เพื่อร่วมงาน “Thailand Festival 2024” ตามคำเชิญของท่านเอกอัครราชทูตไทยประจำเมียนมาและท่านทูตพาณิชย์ไทยประจำเมียนมา ซึ่งงานจัดได้อย่างยอดเยี่ยมมาก สมกับชื่อของท่านอุปทูตฯ ท่านยอดเยี่ยม ผู้เป็นแม่งานในการจัดงานครั้งนี้ ในช่วงอยู่ที่งานนั้น มีเพื่อนๆ ชาวเมียนมาหลายท่าน ที่ทราบว่าผมจะไปที่กรุงย่างกุ้ง ก็ติดต่อขอเวลานัดมานั่งคุยกับผม ซึ่งแม้จะเป็นวันหยุดปลายสัปดาห์ ผมเองก็มีเวลาว่างไม่มาก เพราะต้องมีภารกิจต้องไปพบกับหน่วยงานภาคเอกชนที่นั่นด้วย ต้องขอขอบพระคุณทางสภาอุตสาหกรรมและหอการค้าของสหภาพเมียนมา (The Union of Myanmar Federation of Commerce and Industry : UMFCCI) และสมาคมผู้ประกอบการขนส่งทางเรือ (Myanmar International Freight Forwarders Association : MIFFA)  ที่กรุณาให้เข้าพบ แม้จะเป็นวันเสาร์ ที่ปกติมักจะไม่ค่อยมีใครทำงานก็ตาม

ในส่วนคนที่ขอเข้ามาพบและนั่งสนทนากัน มีทั้งผู้ประกอบการที่ยังดำเนินการอยู่ และประสบความสำเร็จในวิชาชีพแล้ว และกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่กำลังเริ่มประกอบการ หรือที่เราเรียกว่า “กลุ่มสตาร์ทอัพ” (New Startups) ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าสนใจมาก ดังนั้นสิ่งที่ผมอยากจะนำมาเล่าในเพื่อนๆฟัง คือความคิด และความคาดหวังของคนรุ่นใหม่ของประเทศเมียนมา ซึ่งแม้ในประเทศเขาจะมีความไม่สงบ และปัญหาเศรษฐกิจรุมเร้ามากมาย แต่เขาก็ไม่ย่อท้อเลยครับ

น้องๆ กลุ่มนี้เขามากัน 6 คนเพื่อมาพบผม ในบางช่วงของการสนทนา เขาถามผมว่า “ในฐานะที่คุณเป็นคนต่างชาติ ที่ทำมาหากินในเมียนมา และผ่านชีวิตในสถานการณ์เช่นนี้มาก่อน ในมุมมองของคุณ สถานการณ์เช่นนี้คุณคิดว่ายังมีโอกาสอยู่หรือไม่? และสามารถทำธุรกิจอะไรได้บ้าง? ”  

ผมจึงบอกเขาไปว่า ในทุกสถานการณ์ ย่อมมีโอกาสอยู่เสมอ สำหรับคนที่มีวิสัยทัศน์ในการปรับเปลี่ยนมุมมองได้ แต่ผมไม่อยากให้เขาใช้มุมมองของคนต่างชาติ มากำหนดชะตาชีวิตของเขาทั้งหมด ผมอยากให้เขามองในฐานะของคนที่มีสัญชาติเมียนมามากกว่า เขาก็บอกผมว่า เขาเองก็อยากใช้มุมมองของคนเมียนมาเช่นกัน แต่เขาก็มองไม่ออกว่าจะต้องทำอย่างไรดี เพราะวันนี้เมียนมามีปัญหามากมายเหลือเกิน ผมจึงบอกไปว่า ให้ทุกคนที่มาคุยกันวันนี้ ให้ตั้งสติให้ดีก่อนว่า คุณคือคนเมียนมาที่เกิดที่เมียนมา ถึงอย่างไรคุณต้องตายที่แผ่นดินนี้ ดังนั้นผมดีใจที่คุณมาคุยกับผมเรื่องหาโอกาสในการดำเนินชีวิตและพัฒนาประเทศของคุณ เพราะนั่นแสดงว่าคุณได้ตัดสินใจแล้วว่าจะต้องไม่ทอดทิ้งประเทศเมียนมาของคุณ 

ผมจึงได้บอกเขาว่า ปัญหาของเมียนมาในปัจจุบันนี้ ที่ส่งผลกระทบในการใช้ชีวิตหลังอัตราเงินเฟ้อเพิ่มสูงมาก และอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราที่ทำให้ค่าเงินลดลง ซึ่งในสภาวะที่อัตราเงินเฟ้อสูงขึ้นและค่าเงินลดลงนั่น สืบเนื่องจากปัจจัยหลายอย่างทั้งในและต่างประเทศ ทำให้ชีวิตของประชาชนทั่วไป ได้รับผลกระทบอย่างมาก ทั้งในด้านการใช้จ่ายทั่วไปและค่าใช้จ่ายชีวิตประจำวัน การจัดการทรัพย์สิน ดังนั้นควรมาดูกันว่า สาเหตุที่ทำให้เกิดผลกระทบจากอัตราเงินเฟ้อ และค่าเงินที่อ่อนลงจะส่งผลอย่างไรบ้างต่อชีวิตของคนในสังคมก่อน เพื่อจะได้ทราบถึงต้นเหตุแม้จะไม่ใช่ปฐมเหตุทั้งหมดก็ตาม

ปัญหาของเงินเฟ้อที่ทำให้ค่าครองชีพสูงขึ้นอย่างมากในเมียนมา วันนี้เมื่ออัตราเงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้น ราคาสินค้าและบริการต่างๆ จะปรับตัวสูงขึ้นตามไปด้วย ทำให้ค่าครองชีพสูงขึ้น ไม่ว่าจะเป็นค่าอาหาร ค่าเดินทาง ค่าที่อยู่อาศัย และค่าสาธารณูปโภคต่างๆ เมื่อค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น คนที่ทำงานเลี้ยงตัวหรือคนที่มีรายได้น้อย อาจรู้สึกกดดันมากขึ้น เพราะเนื่องจากเงินเดือนหรือรายได้ไม่ได้เพิ่มตามไปด้วย ส่งผลให้ครอบครัวของบุคคลเหล่านั้น ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศเมียนมา ต้องรัดเข็มขัดและลดการใช้จ่ายในส่วนที่ไม่จำเป็นลง การจับจ่ายใช้สอยในประเทศ หรือที่เรียกว่า การบริโภค “Consumptions” ก็จะขาดหายไป นี่คือหัวใจสำคัญในการพัฒนาประเทศ หรือที่เราเรียกว่า Gross Domestic Product : GDP ติดลบนั่นเอง

อีกทั้งประเทศเมียนมาในวันนี้ ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากเงินทุนสำรองระหว่างประเทศขาดแคลนอย่างหนัก เนื่องมาจากการได้รับผลจากความสงบภายใน ที่มีความรุนแรงมากขึ้น และประเทศตะวันตกที่เข้ามาแทรกแซงเมียนมา ทำให้การค้าระหว่างประเทศไม่สามารถดำเนินการได้ตามปกติ อีกทั้งเงินตราต่างประเทศที่ขาดแคลนหนัก เพราะไม่มีการส่งออก อีกทั้งการท่องเที่ยวที่เป็นเครื่องจักรในการปั๊มเงินตราต่างประเทศที่รวดเร็วที่สุดก็สะดุดหยุดลง เนื่องจากความไม่เชื่อมั่นเรื่องความปลอดภัยของนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศ เม็ดเงินเร็วจึงขาดหายไป

เมื่อเป็นเช่นนี้ทำให้ประเทศของคุณ ก็จะส่งผลให้มีการลดลงของมูลค่าของเงินฝากและการลงทุน เพราะอีกทั้งวันนี้ค่าเงินอ่อนลงจากอัตราแลกเปลี่ยนที่ผันผวนตลอดเวลา ความไม่แน่นอนของอัตราแลกเปลี่ยนเงินตรา ทำให้นักลงทุนจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment : FDI) จึงหายไป ทำให้ส่งผลไปทั่วทุกกลุ่มธุรกิจ ผู้ประกอบการที่เป็นชาวเมียนมาเอง ก็ได้รับผลกระทบเหล่านี้เช่นกัน สังเกตดูก็จะรู้ว่า วันนี้มูลค่าของเงินที่เก็บสะสมไว้ หรือการลงทุนในสินทรัพย์ต่างๆ แม้จะใช้สกุลจ๊าดก็ตาม แต่ถ้าเปรียบเทียบกับเงินสกุลต่างประเทศ ก็จะทราบว่าเงินในกระเป๋าตัวเองนั้นลดลงไปเยอะมาก ทำให้การวางแผนการเงินของผู้ประกอบการต้องปรับตัวใหม่ จึงจะสามารถอยู่รอดปลอดภัยได้

ผมเชื่อว่าในวันนี้ ผู้ประกอบการธุรกิจต่างๆ ของเมียนมา ก็ได้รับผลกระทบจากอัตราเงินเฟ้อและอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราเช่นกัน เนื่องจากต้นทุนวัตถุดิบ ค่าขนส่ง แม้ว่าปัจจุบันนี้ค่าแรงงานขั้นต่ำของรัฐบาลจะปรับเพิ่มสูงขึ้น แต่ก็ยังวิ่งตามค่าครองชีพไม่ทัน ทำให้ตลาดแรงงานที่แปรเปลี่ยนไปจากเดิมเยอะมาก กลุ่มประชาชนในวัยแรงงานที่หลบหนีออกมาจากประเทศเมียนมา เพื่อแสวงหาถิ่นทำกินใหม่ ก็มีมากขึ้นอย่างไม่น่าเชื่อ ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดๆ ก็ตาม นั่นก็เป็นเรื่องภายในของประเทศคุณ ผมในฐานะคนต่างชาติ เราไม่สามารถก้าวล่วงได้ แต่ก็อยากจะบอกว่า นั่นก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่การจัดการต้นทุนที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้ธุรกิจบางส่วนต้องปรับราคาสินค้าและบริการ ดังนั้นวันนี้จึงได้เห็นภาพของค่าครองชีพที่เมียนมา วิ่งเร็วจนทำให้ประชาชนตามไม่ทัน

ดังนั้นการวางแผนการใช้เงินที่ต้องปรับเปลี่ยน ในสภาวะที่ราคาสินค้าเพิ่มขึ้นและค่าเงินลดลง จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนแผนการใช้จ่าย การออมเงิน และการลงทุนให้ดี แต่ผมก็ยังเชื่อว่า ทุกวิกฤติย่อมมีโอกาสเสมอ ขออย่ายอมแพ้เป็นพอ ส่วนจะทำธุรกิจอะไรได้นั้น ปัจจุบันนี้ในเมียนมาขาดแคลนทุกเรื่อง ถ้าคุณรักประเทศชาติของคุณ ก็ต้องหันไปมองธุรกิจที่มีความสม่ำเสมอและสามารถทำให้ประเทศคุณพัฒนาได้อย่างยั่งยืนก่อนเป็นอันดับแรกนั่นเองครับ