"หอการค้า" จี้รัฐเร่งกระตุก ศก. -การเมืองเสถียร ลดเสี่ยงถูกลดเครดิตประเทศ

21 ต.ค. 2567 | 10:50 น.
อัปเดตล่าสุด :21 ต.ค. 2567 | 11:02 น.

ประธานหอการค้าไทย แนะรัฐเร่งหาทางป้องกันความเสี่ยง ไทยถูกลดเครดิตเรตติ้งประเทศ จี้เร่งดำเนินนโยบายการคลังอย่างมีประสิทธิภาพและคุ้มค่า พร้อมเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญโค้งท้ายปี สร้างการเมืองเข้มแข็งไร้รอยต่อ ดันจีดีพีปีหน้าโต 3.5-4%

จากที่ SCB EIC ได้เปิด 3 เหตุผลไทยเสี่ยงถูกลดอันดับเครดิตเรตติ้ง(จากปัจจุบัน Fitch จัดไทยอยู่ในเรตติ้ง BBB+ แบบ stable )  ประกอบด้วย

1.ความยั่งยืนของหนี้ภาครัฐ เนื่องจากวินัยการคลังไทยไม่เข้มแข็งเช่นเดิม และการใช้จ่ายภาครัฐมีแนวโน้มสูงขึ้น แผนการขาดดุลงบประมาณในระยะปานกลางยังสูงกว่าระดับปกติ (ต่ำกว่า 3% ของ GDP) สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ของไทยยังมีทิศทางเพิ่มขึ้น

2.เสถียรภาพการเมืองและธรรมาภิบาล โดยประเด็นทางการเมืองที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมาอาจส่งผลกระทบต่อการปรับอันดับดัชนีธรรมาภิบาลของไทย  และ 3.อัตราการเติบโตและศักยภาพของเศรษฐกิจไทยต่ำกว่าภาพที่ Fitch ประเมินไว้เดิมค่อนข้างมาก จากปัญหาเศรษฐกิจไทยฟื้นช้า โตต่ำ และปัญหาเชิงโครงสร้างฉุดรั้งศักยภาพ

นายสนั่น  อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย  เปิดเผยว่า การที่ไทยถูกมองว่ามีความเสี่ยงจะถูกปรับเครดิตเรตติ้ง อาจจะมาจากความเห็นที่ว่า เศรษฐกิจไทยยังโตต่ำกว่าศักยภาพ ทั้งที่เศรษฐกิจไทยควรโตที่ 3.5 - 4% ต่อปี นอกจากนี้แม้ความไม่สงบทางการเมืองของไทยจะลดลง แต่ Fitch ยังระบุว่าไทยมีความไม่แน่นอนทางการเมืองสูง ซึ่งอาจกระทบต่อประสิทธิภาพการวางนโยบายเศรษฐกิจได้

ขณะที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ธนาคารโลก (World Bank) และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ต่างมองว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2568 น่าจะโตใกล้เคียง 3% จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล และจากเพดานหนี้สาธารณะที่ลดต่ำลงมาอยู่ที่ 70%  

อย่างไรก็ดีหากหลังจากนี้เศรษฐกิจและการเมืองของโลกและไทยมีความเสี่ยงมากขึ้นอีก อาจทำให้เกิดแรงกดดันต่ออันดับความน่าเชื่อถือของไทย ซึ่งแน่นอนว่าจะส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติ ซึ่ง Fund Flow อาจเกิดการไหลออก โดยเฉพาะการลงทุนในตลาดหุ้นและตลาดพันธบัตร ที่ส่งผลต่อสภาพคล่องในระบบการเงิน

 

ดังนั้น จึงขอเสนอแนวทางที่รัฐบาลควรดำเนินการ เพื่อลดความเสี่ยงจากการถูกปรับเครดิตเรตติ้งของประเทศไทย คือ

1.การใช้เงินนโยบายการคลังอย่างมีประสิทธิภาพและคุ้มค่า ทำให้เกิดการกระตุกกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งนอกจากการจ่ายเงิน 1 หมื่นบาทให้กลุ่มเปราะบางที่ออกไปแล้ว สิ่งที่รัฐบาลต้องคิดต่อจากนี้คือ มาตรการเสริมอื่น ๆ ตามที่หอการค้าไทย ได้เคยเสนอไว้

เช่น โครงการคูณสอง เพื่อช่วยเพิ่มกำลังซื้อให้เกิดขึ้นในระบบเศรษฐกิจ โดยรัฐบาลไม่จำเป็นต้องใช้งบประมาณมาก รวมถึงมาตรการ Easy e-Receipt และมาตรการทางภาษีอื่น ๆ โดยที่รัฐไม่ต้องใช้งบประมาณ เป็นต้น ซึ่งจะทำให้ภาพของเศรษฐกิจไทยยังโดดเด่น และคนไทยจะมีการจับจ่ายใช้สอยเพิ่มขึ้น ส่งผลให้การจัดเก็บภาษีภาครัฐดีขึ้น หนี้ครัวเรือนและหนี้สาธารณะต่อจีดีพีจะลดลง และจะมีส่วนสำคัญในการสนับสนุนให้เศรษฐกิจไทยเติบโตได้ 3.5 – 4% ได้ในปีหน้า

2.การเมืองเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนทิศทางของระบบเศรษฐกิจ ดังนั้น รัฐบาลควรใช้เวทีทางรัฐสภาเพื่อกำหนดทิศทางแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจและการเมือง และหากมีความเสี่ยงทางการเมืองเกิดขึ้นก็ควรมีจุดเปลี่ยนผ่านที่ไร้รอยต่อ เพื่อให้นโยบายทางเศรษฐกิจต่าง ๆ สามารถเดินหน้าต่อได้

“เมื่อการเมืองมีความเข้มแข็ง เศรษฐกิจไทยมีโอกาสที่จะเติบโตได้มากขึ้น จากการใช้นโยบายการเงิน การคลัง ที่ผสมผสานแล้ว ความเสี่ยงที่ประเทศไทยจะถูกปรับเครดิตเรตติ้งก็จะเกิดขึ้นได้น้อยลง”นายสนั่น กล่าว