เมื่อวันที่16ตุลาคม2567มติ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)5 ต่อ 2 ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ 0.25 ต่อปี จากร้อยละ 2.50 เป็นร้อยละ 2.25 ต่อปี โดยให้มีผลทันทีเพื่อลดภาระหนี้ประชาชน ประเมินว่าที่ผ่านมา เศรษฐกิจไทยในภาพรวมมีแนวโน้มขยายตัวใกล้เคียงกับที่ประเมินไว้ ขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะทยอยกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายในช่วงปลายปี 2567 ด้านกระบวนการปรับลดสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อรายได้มีแนวโน้มเกิดขึ้นต่อเนื่อง
คณะกรรมการฯ เห็นว่าจุดยืนของนโยบายการเงินที่เป็นกลางยังเหมาะสมกับแนวโน้มเศรษฐกิจ และเงินเฟ้อ กรรมการส่วนใหญ่เห็นควรให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ 0.25 ต่อปีในการประชุมครั้งนี้ ซึ่งจะช่วยบรรเทาภาระหนี้ได้บ้างโดยไม่เป็นอุปสรรคต่อกระบวนการปรับลดสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อรายได้ภายใต้บริบทที่สินเชื่อมีแนวโน้มขยายตัวชะลอลง และอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ลดลงอยู่ในระดับที่ยังเป็นกลาง
สอดคล้องกับศักยภาพเศรษฐกิจขณะเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวใกล้เคียงกับที่ประเมินไว้ที่ร้อยละ 2.7 และ 2.9 ในปี 2567 และ 2568 ตามลำดับ โดยมีแรงขับเคลื่อนสำคัญมาจากภาคการท่องเที่ยว และการบริโภคภาคเอกชนซึ่งได้รับแรงส่งเพิ่มเติมจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ
ซึ่งตรงกับการคาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ ของดร. วิชัย วิรัตกพันธ์ ในสมัยที่ยังดำรงตำแหน่ง ผู้ตรวจการธนาคารอาคารสงเคราะห์ และรักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ว่า ปลายปีนี้หรือวันที่16ตุลาคม2567 จะได้เห็น 25สตางค์จากการลดลงดอกเบี้ยนโยบายของกนง. ตามธนาคารกลางสหรัฐหรือเฟด ทั้งนี้จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจช่วงโค้งสุดท้ายปีได้ดี
“สิ้นปีนี้โดยส่วนตัวมองว่า ยังไงน่าจะเห็น25สตางค์ ภายในปีนี้ เพราะเงินเฟ้อลดลง และคิดว่าแบงก์ชาติจะลดดอกเบี้ยก็ลดเลย เพราะเข้าโค้งสุดท้าย ช่วยธุรกิจเอสเอ็มอี และ สถาบันการเงินลดต้นทุน หากลดดอกเบี้ยเพียงหนเดียวจะได้ เซนติเมนท์ คนมั่นใจอยากนำเงินออกมาซื้อถ้าเศรษฐกิจไม่ดีเขาก็จะเก็บเงินต่อไป เพราะขณะนี้ตลาดหุ้นกลับมาดีแล้ว”ดร. วิชัยกล่าว
ล่าสุด “ฐานเศรษฐกิจ”สอบถามดร.วิชัยถึงปัจจัยการลดลงของดอกเบี้ยนโยบายที่ร้อยละ0.25% ของกนง.(วันที่16ตุลาคม2567) เกิดจากหลายปัจจัย ทั้งผลกระทบน้ำท่วมใหญ่ ทางภาคเหนือ ธุรกิจเอสเอ็มอี ที่ได้รับผลกระทบจากต้นทุน เพื่อช่วยให้เดินต่อได้ รวมถึงการเรียกร้องจากภาคเอกชน และภาคการเมือง
อย่างไรก็ตามมองว่าการลดลงของดอกเบี้ยนโยบายครั้งนี้หลังไม่ได้ลดลงมานาน จะเป็นแรงส่งที่ดีในการกระตุ้นเศรษฐกิจประเทศในช่วงโค้งท้ายปีโดยเฉพาะธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ทำแคมเปญกระตุ้นยอดขายปลายปีนี้ได้ ต่อยอดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านภาคอสังหาริมทรัพย์ของรัฐบาล
จากการลดค่าธรรมเนียมการโอน และจดจำนองสำหรับที่อยู่อาศัยราคาไม่เกิน7ล้านบาท และเชื่อว่ารัฐบาลต้องออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่อเนื่องเพื่อให้จีดีพีเป็นไปตามเป้าที่วางไว้ที่3%ปลายปีนี้แต่เชื่อว่าด้วยภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ผลกระทบน้ำท่วมใหญ่มองว่าการขยายตัวของเศรษฐกิจปีนี้ไม่น่าจะเป็นไปตามเป้าที่กำหนดไว้
ขณะเดียวกันยังช่วยลดภาระดอกเบี้ยผู้ที่กำลังผ่อนบ้านลง แต่ทั้งนี้หากจะให้กำลังซื้อเติมเข้าตลาดอสังหาฯมากขึ้น มองว่าธปท.น่าจะออกมาตรการผ่อนปรนLTVปล่อยกู้100%สำหรับบ้านหลังที่2 ในระยะสั้น 6เดือน จะช่วยระบายสต๊อกที่อยู่อาศัยได้มากระหว่างช่วงไตรมาส4ไปจนถึงต้นปีหน้าได้ จากกลุ่มนักลงทุนอีกมาก