โอกาสทอง เอกชนไทย บุกตลาดชาจีน คาดปี 68 มูลค่าทะลุ 1.7 หมื่นล้าน

25 ต.ค. 2567 | 23:30 น.

สนง.ส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองกวางโจว รายงาน ภาพรวมตลาดชาพร้อมดื่มของจีน คาดปี 68 ตลาดชาสร้างมูลค่า 3,749 ล้านหยวน หรือ 17,779 ล้านบาท แนะเอกชนไทย ใช้สิทธิ FTA อาเซียน-จีน ส่งออก

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองกวางโจว กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ รายงานว่า ในช่วงที่ผ่านมา ตลาดชาพร้อมดื่มของจีนมีการเติบโตอย่างมาก โดยในปี 2566 มูลค่าตลาดเครื่องดื่มชารูปแบบใหม่ของจีน ของจีนสูงถึง 3,333 ล้านหยวน มีมูลค่าตลาดเครื่องดื่มชาเพื่อสุขภาพอยู่ที่ 411 ล้านหยวน และมีมูลค่าตลาดเครื่องดื่มไร้น้ำตาลอยู่ที่ถึง 401 ล้านหยวน 

ทั้งนี้ แสดงให้เห็นว่า ปัจจุบันเครื่องดื่มชาเพื่อสุขภาพของจีนได้รับความนิยมอย่างมากและมีการครองสัดส่วนตลาดเครื่องดื่มที่สูง เนื่องจากกระแสการบริโภคเพื่อสุขภาพกำลังมาแรงในตลาดจีน ส่งผลให้ความต้องการเครื่องดื่มชาเพื่อสุขภาพและเครื่องดื่มชาไร้น้ำตาลจึงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยคาดว่าในปี 2568 ตลาดเครื่องดื่มชารูปแบบใหม่ของจีนจะมีมูลค่าตลาดสูงถึง 3,749 ล้านหยวน หรือ 17,779 ล้านบาท

ขณะที่ คาดว่าการแข่งขันระหว่างแบรนด์จะรุนแรงมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบัน บริษัทผู้ผลิตเครื่องดื่มในจีน ต่างก็ได้คิดค้นผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เพื่อให้สอดคล้องกับแนวโน้มความนิยมของตลาดและตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค เพื่อสามารถแข่งขันในตลาดที่มีการแข่งขันสูงได้ และเนื่องจากความต้องการของผู้บริโภคสำหรับเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพเพิ่มขึ้น ชาไร้น้ำตาลและเครื่องดื่มชาเพื่อสุขภาพคาดว่าจะกลายเป็นสินค้าที่มีศักยภาพที่จะเติบโตในตลาดเครื่องดื่มของจีน ซึ่งก็จะทวีความรุนแรงในการแข่งขันระหว่างแบรนด์มากขึ้น 

นอกจากนี้ หากต้องการผลิตผลิตภัณฑ์ต้องมีจุดเด่นที่เป็นเอกลักษณ์และสร้างความแตกต่าง และสามารถแข่งขันในตลาดเครื่องดื่มของจีนได้ ในส่วนของความนิยมรสชาติของชาพร้อมดื่มของผู้บริโภค มีแนวโน้มการบริโภคมีความหลากหลายและให้ความสำคัญกับสุขภาพ เช่น เครื่องดื่มชาแบบไร้น้ำตาล แคลอรี่ต่ำ และไม่มีไขมัน 

ทั้งนี้ เครื่องดื่มเพื่อสุขภาพพร้อมดื่มของประเทศไทยสามารถใช้ช่องทางการค้าปลีกใหม่เหล่านี้เพื่อขยายช่องทางการจำหน่าย เพื่อเพิ่มความสะดวกในการเข้าถึงและการซื้อสินค้าให้กับผู้บริโภคในตลาดจีน รวมถึงสามารถตอบสนองความต้องการในการซื้อสินค้าที่หลากหลายของผู้บริโภคชาวจีนได้ อาทิ ซูเปอร์มาร์เก็ตแบบไร้พนักงาน การสั่งซื้อแบบรวมกลุ่มในชุมชน (Community Group Buying) ตู้กดเครื่องดื่มอัตโนมัติ เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากมีการเจรจาการยกระดับความตกลงการค้าเสรีอาเซียนและจีน (ASEAN-China Free Trade Agreement-ACFTA 3.0) ทำให้เกิดการค้าที่เอื้ออำนวยต่อการส่งออกเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพพร้อมดื่มของไทยเพื่อเข้าสู่ตลาดจีน ผู้ส่งออกเครื่องดื่มของไทยสามารถรับนโยบายสิทธิพิเศษ เช่น การลดอัตราภาษีและการยกเว้นภาษี เพื่อลดต้นทุนผลิตภัณฑ์และพัฒนาความสามารถในการแข่งขันด้านราคา 

นอกจากนี้ ผู้ประกอบการไทยสามารถเข้าร่วมกิจกรรมโครงการประชาสัมพันธ์สินค้าไทยของกระทรวงพาณิชย์ ผ่านงานแสดงสินค้าและกิจกรรมอื่นๆ เพื่อเป็นเวทีให้ผู้ประกอบไทยสามารถประชาสัมพันธ์สินค้าให้เป็นที่รู้จักในตลาดจีน จนนำไปสู่การส่งเสริมและผลักดันสินค้าไทย โดยเฉพาะเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพของไทยให้สามารถเข้าสู่ตลาดจีนได้

อย่างไรก็ดี สิ่งสำคัญก่อนที่จะเข้าตลาดจีน ผู้ประกอบการไทยควรศึกษาข้อมูลกฎระเบียบการส่งออกสู่ตลาดจีนและควรจดทะเบียนสินค้าให้ถูกต้อง เพื่อป้องกันการลอกเลียนชื่อสินค้าและนำไปจดทะเบียน ส่งผลให้แบรนด์ไทยไม่สามารถที่จะใช้ชื่อแบรนด์สินค้าในตลาดจีนได้