“โรคใบด่างมันสำปะหลัง” เป็นโรคอุบัติใหม่ในประเทศไทย พบครั้งแรกในเดือนสิงหาคม ปี 2561 แพร่ระบาดโดยท่อนพันธุ์ที่มีโรคและแมลงหวี่ขาวยาสูบเป็นพาหะไม่มียาป้องกันหรือรักษาโดยตรง เป็นแล้วจะมีผลทำให้ผลผลิตหัวมันสดลดลง 40-80% จากการประเมินโดย 4 สมาคม (สมาคมการค้ามันสำปะหลังไทย สมาคมโรงงานผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังไทย สมาคมแป้งมันสำปะหลังไทย และสมาคมโรงงานผู้ผลิตมันสำปะหลัง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ) ผ่านมา 6 ปี พบพื้นที่ระบาด กว่า 3.2 ล้านไร่ สร้างความเสียหายแล้ว 8.7 หมื่นล้านบาท
ล่าสุดคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการมันสำปะหลัง (นบมส.) เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2567 ได้เห็นชอบโครงการบริหารจัดการพันธุ์มันสำปะหลังเพื่อการควบคุมโรคใบด่างและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตมันสำปะหลังใช้งบกว่า 852 ล้านบาท คาดจะเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อขอรับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายจากงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉิน หรือจำเป็น ในเดือนมกราคมนี้
นายบุญชัย ศรีชัยยงพานิช ประธานคณะสำรวจติดตามภาวะการผลิตมันสำปะหลังฤดูการผลิตปี 2567/68 ของ 4 สมาคมผู้ประกอบมันสำปะหลังฯ เปิดเผยว่า จากมติ นบมส. ที่เตรียมของบกำจัดโรคใบด่างฯ จากรัฐบาล ถือเป็นการเริ่มต้นที่ดี แม้การแก้ปัญหาในช่วงที่ผ่านมามีความล่าช้า อย่างไรก็ดีงบดังกล่าวประเมินแล้วไม่เพียงพอเมื่อเทียบกับการระบาดของโรคใบด่างที่ขยายวงไปทั่วประเทศ
ขณะสถานการณ์ราคาหัวมันสำปะหลังตกตํ่าในเวลานี้ กระทบเกษตรกรเดือดร้อน มีปัจจัยสำคัญจากราคาข้าวโพดในจีนที่เป็นคู่แข่งกับมันสำปะหลังในการใช้ผลิตแอลกอฮอล์ ราคาตํ่าสุดเป็นประวัติการณ์ ขณะที่เศรษฐกิจจีนชะลอตัวทำให้มีการใช้แอลกอฮอล์ลดลง ส่งผลทำให้มันเส้นไทยแข่งขันราคาไม่ได้ แต่ดูแล้วราคามันสำปะหลังในไทยคาดราคาตํ่าสุดแล้ว ไม่น่าจะตํ่าลงไปมากกว่านี้ ทั้งนี้ในปี 2568 ต้องลุ้นเศรษฐกิจจีนจะดีขึ้น และส่งผลมีการนำเข้าผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังจากไทยเพิ่มขึ้น
“ในต้นปีที่ผ่าน โรงงานแอลกอฮอล์ในจีนที่ใช้มันเส้นจากไทยเป็นวัตถุดิบขาดทุนหนัก จากเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ความต้องการลดลง บางโรงก็ปิดชั่วคราว ทำให้มีความต้องใช้วัตถุดิบจากไทยลดลง ขณะเดียวกันผลผลิตมันฯในไทยก็มีน้อย จากมีความเสียหายจากโรคใบด่างฯ และจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง ประเมินว่าผลผลิตหัวมันไทยไม่น่าจะถึง 20 ล้านตัน จากตัวเลขสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรคาดมี 27 ล้านตัน”
อย่างไรก็ดีจากพื้นที่ปลูกมันฯ ทั้งประเทศ 9 ล้านไร่ จะต้องใช้ท่อนพันธุ์มันต้านทานโรคใบด่างประมาณ 3,600 ล้านลำต่อปี เพื่อกำจัดโรคนี้ให้สิ้นไป ดังนั้นงบประมาณที่รัฐจะออกมามองว่าน้อยมาก แต่ก็ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่จะก้าวต่อไป
ด้านรองศาสตราจารย์ ดร.วิจารณ์ วิชชุกิจ กรรมการมูลนิธิสถาบันพัฒนามันสำปะหลังแห่งประเทศไทย กล่าวว่า งบประมาณพอจัดสรรออกมาแล้ว จะมีการผลิตพันธุ์ต้านทานโรคใบด่างฯ ได้แก่ ได้แก่ พันธุ์เกษตรศาสตร์ 50 ห้วยบง 60 และระยอง 72ใช้งบ 200 ล้านบาท คาดว่าจะได้ประมาณ 160 ล้านลำ ส่วนอีก 200 ล้านบาท ได้แก่ พันธุ์อิทธิ 1 อิทธิ 2 และอิทธิ 3 จะได้ประมาณ 41.68 ล้านลำ ภายในปี 2570
นายพีรพันธ์ คอทอง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า ทางกรมฯ กำลังจัดทำคู่มือเพื่อให้เกษตรกรมาสมัครเข้าร่วมโครงการ ในการขยายพันธุ์ต้านทานและพันธุ์ทนทานโรคใบด่างฯ ให้เกษตรกรนำท่อนพันธุ์ฟรีไปปลูก และจะสร้างแรงจูงใจให้ระบบนํ้าหยดฟรี และก่อนการเก็บเกี่ยวจะส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจประมาณ 2 เดือน โดยหัวมันที่ผลิตได้ให้เกษตรกรนำไปขายเป็นรายได้ แต่ต้นหรือท่อนพันธุ์ครึ่งหนึ่งต้องคืนกลับมาให้รัฐบาลเพื่อแจกจ่ายให้เกษตรกรรายอื่น ส่วนอีกครึ่งหนึ่งจะเก็บไว้ใช้ปลูกเอง หรือจะขายให้ใครก็ได้ โดยจะใช้โมเดลเดียวกันกับทุกราย คาดจะนำเรื่องเข้าที่ประชุม ครม.ประมาณเดือนมกราคมนี้
หน้า 9 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 44 ฉบับที่ 4,059 วันที่ 5-8 มกราคม พ.ศ. 2568