ปรีชา ส่งวัฒนา เศรษฐกิจพอเพียงบนภาคธุรกิจ

16 ม.ค. 2559 | 01:00 น.
อัปเดตล่าสุด :31 ม.ค. 2566 | 03:46 น.

ร้อนหนาวที่ผ่านมา คือประสบการณ์ที่สร้างความแข็งแกร่งให้กับผู้ที่รู้จักการเรียนรู้ "ปรีชา ส่งวัฒนา" ประธานคณะกรรมการบริหารกลุ่มบริษัทฟลายนาวฯ และประธานกรรมการบริหาร บริษัท เอฟเอ็น แฟคตอรี่ เอ๊าท์เลท จำกัด ได้รับประสบการณ์มากมายจากการทำธุรกิจ

การเริ่มต้นจากการเป็นสตาร์ตอัพ เริ่มทำธุรกิจด้วยตัวเองตั้งแต่อายุยังไม่ถึง 20 ปี โดยที่ไม่มีใครเป็นพี่เลี้ยง



เขาคือผู้ก่อตั้ง แบรนด์ฟลายนาว (FLY NOW) และต้องเจ็บปวดสาหัส เป็นหนี้ท่วมตัวกับวิกฤติ 2540 แต่ในที่สุดก็สามารถฟื้นคืนชีพกลับมาได้ พร้อมๆ กับวิธีคิดในการทำธุรกิจที่ต่างออกไป ด้วยมุมมองที่กว้างขึ้นลึกซึ้งขึ้น กับคำว่า "เพียงพอ" การทำธุรกิจไม่ใช่ยึดอยู่กับการทำกำไรสูงสุด เข้าสร้างธุรกิจใหม่ขึ้นอีกครั้ง กับแบรนด์ "เอฟเอ็น แฟคตอรี่ เอ๊าท์เลท" ภายใต้บริษัท เอฟเอ็น แฟคตอรี่ เอ๊าท์เลท จำกัด ธุรกิจที่เกิดขึ้นในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจ


และล่าสุด ซีอีโอท่านนี้ ก็สร้างอีกหนึ่งแบรนด์ SAVE NOW ด้วยทุนเบื้องต้นกว่า 100 ล้านบาท

 

สาขาแรกที่ หาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ด้วยคอนเซ็ปต์เดียวกัน เพียงแต่ต่างกันที่กลุ่มเป้าหมาย จากกลุ่มบี มาเป็นกลุ่มซี การเลือกเกิดธุรกิจใหม่ตอนเศรษฐกิจไม่เอื้ออำนวยเช่นนี้ เขามีแนวคิดว่า เกิดในช่วงที่เศรษฐกิจไม่ดี ก็เหมือนการปลูกพืชฤดูแล้ง ถ้ามันเติบโตได้ มันก็จะแข็งแรงด้วยตัวมันเอง



"ปรีชา" นำความได้เปรียบด้านต้นทุน จากฝั่งผู้ผลิตที่ทำให้ผลิตสินค้าได้ต้นทุนต่ำ มีจุดแข็งในเรื่องของเฟอร์นิเจอร์ การดีไซน์ และยังจับมือกับพาร์ตเนอร์ซึ่งเป็นเจ้าของพื้นที่ ก็ทำให้ได้ค่าเช่าพื้นที่ที่ราคาไม่สูง ดังนั้นสินค้าที่ขายก็สามารถขายได้ในราคาที่ผู้บริโภครับได้...ทำให้ลูกค้าได้เปรียบจากจุดแข็งของเรา

การสร้างธุรกิจทุกวันนี้ของ "ปรีชา" ไม่ได้มุ่งหวังเพื่อสร้างกำไรมหาศาล หรือทำเพื่อความร่ำรวย เขาทำเพราะมันคือ Passion มันคือความสุขและความสนุกที่ได้คิด ได้ทำ แต่ในความสนุกนั้น เขาก็เตรียมพร้อมที่จะพลาด เขาเล่าแบบติดตลกว่า การเริ่มต้นทำ SAVE NOW แม้เป้าหมายของเขาจะวางไว้ชัดเจน แต่เมื่อถึงเวลาใกล้จะเปิด เขาก็ยังเป็นกังวลถึงขั้นนอนไม่หลับ ทั้งๆ ที่แม้ธุรกิจตัวนี้จะไม่สำเร็จ เขาก็ไม่ได้เดือดร้อน เพราะเขาวางแผนการทำงานไว้แล้วอย่างเป็นขั้นเป็นตอน
 

นอกจากจะสร้างธุรกิจที่ทำให้ผู้บริโภคได้สินค้าดีราคาถูกแล้ว ซีอีโอท่านนี้ ยังนำแนวคิดเรื่องของ Social Enterprise (SE) หรือกิจการเพื่อสังคม เข้ามาผนวก โดยใช้ยุทธศาสตร์แบบกลไกตลาด และประสบการณ์ที่ผ่านมา จากการที่เคยเป็นสตาร์ตอัพทำธุรกิจแบบล้มลุกคลุกคลานมาก่อน เรียนรู้ทุกอย่างด้วยตัวเอง ในวันนี้เขาเห็นคนรุ่นใหม่ที่กำลังก้าวขึ้นมาเป็นสตาร์ตอัพ แต่ขาดสิ่งสำคัญคือ ประสบการณ์ เขาจึงพร้อมที่จะให้ประสบการณ์และความรู้ที่มี โดยไม่คิดมูลค่า แถมยังให้มูลค่ากับธุรกิจของคนรุ่นใหม่เหล่านั้นด้วย
 

ในพื้นที่ที่ SAVE NOW มาเปิดเอาต์เลต เขาได้ติดต่อบรรดาสตาร์ตอัพที่น่าสนใจมาร่วมจอยต์ เช่น ร้านกินเตี๋ยวกัน ของเด็กรุ่นใหม่ที่เปิดสาขาแรกที่ยูเนี่ยนมอลล์ ลาดพร้าว เขามองเห็นความตั้งใจของคนรุ่นใหม่ และมองว่ามันน่าจะเกิดได้บนความตั้งใจของเขา และถ้ามีผู้ใหญ่สนับสนุนก็จะช่วยให้เติบโตไปได้



"ปรีชา" มองธุรกิจลักษณะนี้และพร้อมให้การสนับสนุน เพราะมองว่าคนรุ่นใหม่ อายุ 20-30 ปี อยากจะทำเป็นสตาร์ตอัพ อยากสร้างธุรกิจของตัวเอง การที่เริ่มต้นเปิดสาขาแรก แสดงว่าคนคน นั้นทำเป็นแล้ว แต่เขาในฐานะผู้มีประสบการณ์ จะช่วยทำให้เขาแข็งแรงได้อย่างไร ขยายสาขาได้อย่างไร อันนั้นเป็นเรื่องที่ซีอีโอท่านนี้อยากจะทำ

คนเหล่านี้มี Passion จริงหรือเปล่า มีฝีมือจริงไหม มีความตั้งใจ บางคนมี Passion จริง แต่บางทีมันตื้น ชอบ อยากทำ อย่างคนที่ทำร้านกาแฟ มันไม่ใช่ทำเพราะเป็นปณิธานว่าอยากทำกาแฟให้คนในโลกนี้รู้จักฉัน ไปเห็นคนปลูกกาแฟแล้วน้ำตาไหลอยากจะช่วย ไปคลุกกับการคั่วกาแฟ จนได้กาแฟสูตรพิเศษมา แล้วมาเรียนรู้การที่จะเป็นบาริสต้า เพื่อให้กาแฟนี้พิเศษกว่าคนอื่น ถ้าทำแล้วเป็นแบบนี้ เราเห็นเราก็อยากสนับสนุน ไม่ใช่แค่เห็นเขาทำแล้วรวย เลยอยากทำ เอาเงินพ่อแม่มา แบบนี้ไม่เอา
 

เป้าหมายการทำงาน "ปรีชา" ทุกวันนี้ อย่างที่บอกแล้วว่า เขาไม่ได้ทำเพราะอยากรวย เขาทำเพราะมี Passion อยากให้ธุรกิจเกิด การที่จะไปสนับสนุนสตาร์ตอัพก็เป็นตัวหนึ่งที่อยากทำ เพราะความที่เคยเป็นสตาร์ตอัพมาก่อน เรียนรู้ถูกผิดด้วยตัวเองจนแผลเต็มตัว การเติบโตจากเด็ก เป็นวัยรุ่น จนมาเป็นผู้ใหญ่ เขาคิดว่า การเป็นผู้ใหญ่จะเป็นแบบไหนล่ะ อยู่เพื่อแก่ แล้วตาย หรืออยู่อย่างมีคุณค่าในสังคม จะแบบไหนก็เป็นผู้ใหญ่เหมือนกัน เพียงแต่ว่า...คุณค่าแตกต่างกัน
 

ประสบการณ์ ทำให้ซีอีโอท่านนี้แข็งแกร่ง และเข้าใจคำว่าเศรษฐกิจพอเพียง บนภาคธุรกิจ...มันคือ คุณต้องไม่โลภ สมัยก่อนมีล้านหนึ่งทำ 5 ล้าน มี 5 ล้านทำ 50 ล้าน มี 50 ล้าน จะทำ 500 ล้าน มันเกินตัว ทุกครั้งที่เราขยาย เราจะอ่อนแอ ข้าวกำลังตั้งท้อง ผู้หญิงตั้งครรภ์ จะอ่อนแอ การจะทำอะไรก็ตามในช่วงที่กำลังขยาย คือช่วงที่เราอ่อนแอที่สุด ยิ่งถ้าขยายโดยไม่มีจุดหมาย ก็เท่ากับอ่อนแอตลอดกาล...
 

"เศรษฐกิจพอเพียง 3 เสาหลัก คือ รู้จักประมาณตน มีเหตุผล มีภูมิคุ้มกัน อันนี้คือ อยาก อยากได้ แต่ถ้าพลาดแล้วไปอย่างไร ถอยไหวไหม อย่างผมทำแล้วยากนะ อยากทำไหม อยาก เพราะถ้าสำเร็จมันจะมีช่องทางเยอะ แต่ถ้าพลาดแล้วเป็นไง พลาดก็ไม่เป็นไร มันเกิดความเสียหาย แต่ไม่ถึงกับมีอันเป็นไป ...เราทำได้ แต่ทำอย่างพอประมาณ ไม่ได้เกินตัว รู้จักพอประมาณ มีเหตุผล"


 

ตอนนี้ "ปรีชา" สร้างธุรกิจของฟลายนาวเป็นโฮลดิ้งคัมปะนี โดยที่เขาเองไม่ถือหุ้นเลย แต่ทำหน้าที่เป็นกรรมการบริหาร ดังนั้นสิ่งที่เขามุ่งมั่นขณะนี้ คือการสร้างธุรกิจของ SAVE NOW ให้เดินหน้า และพร้อมที่จะขยาย ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด
 

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,122 วันที่ 14 - 16 มกราคม พ.ศ. 2559