นรินทร์เดช ทวีแสงพานิชย์ จากมืออาชีพสู่ ENTREPRENEUR

05 มี.ค. 2559 | 02:00 น.
อัปเดตล่าสุด :31 ม.ค. 2566 | 06:53 น.

การบริหารธุรกิจในฐานะมืออาชีพ (Professional) กับการเป็นผู้ประกอบการ (Entrepreneur) แม้เป้าหมายสูงสุด คือ การสร้างธุรกิจให้เติบโตมีรายได้เหมือนกัน แต่เส้นทางการบริหาร วิธีการทำงานนั้นต่างกันเยอะมาก

เรื่องนี้ "นรินทร์เดช ทวีแสงพานิชย์" หรือ "คุณแจ๊ค" ซีอีโอมือใหม่ บริษัท ไทยฮาเบล อินดัสเตรียล จำกัด เจ้าของแบรนด์ทีวี อัลทรอน (Altron) ตระหนักดีอย่างมาก
 

ซีอีโอหนุ่มคนนี้ จับพลัดจับผลูเข้ามาทำหน้าที่บริหารธุรกิจของครอบครัวแบบไม่ทันรู้เนื้อรู้ตัว เป็นเพราะเหตุการณ์ไฟไหม้โรงงานผลิตทีวีครั้งใหญ่ที่ปราจีนบุรี ซึ่งนั่นคือโรงงานของครอบครัวภรรยา เหตุการณ์ตรงนั้น ทำให้เขาต้องเข้าไปช่วยประคอง และสร้างธุรกิจให้กลับมาเดินหน้าต่อให้ได้ เขายอมลาออกจากตำแหน่ง ผู้อำนวยการฝ่ายภูมิภาคอาเซียน ของบริษัท อินเด็กซ์ ครีเอทีฟ วิลเลจ จำกัด (มหาชน) เพื่อเข้ามาช่วยบริหารธุรกิจที่กำลังจะล้ม ให้พลิกฟื้นกลับมาอีกครั้ง
 

 

สิ่งแรกที่ซีอีโอคนนี้เริ่มทำ คือ วิเคราะห์องค์กร โรงงานแห่งนี้มีศักยภาพในการส่งออกแต่เขาไม่ได้ทำ ตอนนั้นเขาทำแค่การรับจ้างผลิต หรือโออีเอ็มให้กับโมเดิร์นเทรดต่างๆ ผลิตทีวี หม้อหุงข้าว จากความรู้ด้านการผลิตที่มีอยู่แล้ว จึงเกิดความคิดที่จะเข้ามาต่อยอดศักยภาพที่มีอยู่ ผลักดันไปสู่การส่งออกอย่างเป็นเรื่องเป็นราว
 

ประสบการณ์ทำงานแบบมืออาชีพ ที่เคยทำงานกับบริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด (มหาชน) หรือซีพี ด้านมาร์เก็ตติ้ง จนมาเป็นผู้จัดการแบรนด์ให้กับกลุ่นสินค้านาฬิกา ของเซ็นทรัลเทรดดิ้ง การดูแลตลาดต่างประเทศ ที่สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ สสปน.(TCEB) ดูแลตลาดเอเชียตะวันออก และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 5 ปี จนกระทั่งมาอยู่อินเด็กซ์ครีเอทีฟ เขาใช้ประสบการณ์เหล่านี้ เป็นใบเบิกทางในการลุยธุรกิจในฐานะผู้ประกอบการครั้งแรกของเขา

หลังจากเปิดตลาดต่างประเทศสำเร็จ สร้างยอดส่งออกปีแรกได้ถึงกว่า 100 ล้านบาท ในตลาดอินเดีย บังกลาเทศ เนปาล ที่ยังนิยมใช้ทีวีแบบจอแก้ว (CRT)อยู่ และขณะนี้เขากำลังพยายามเปิดตลาดแอฟริกาต่อ เพราะเป็นตลาดที่ยังมีความต้องการทีวีรุ่นนี้อยู่
 

แต่เมื่อออกมาทำหน้าที่เป็นผู้ประกอบการจริงจัง การมองธุรกิจเพียงแค่สร้างให้ธุรกิจที่เคยล้ม แล้วลุกขึ้นมาได้เพียงอย่างเดียวคงไม่ได้ นักบริหารที่ดี ต้องมองถึงอนาคต ต้องมีการสร้างตลาดที่ยั่งยืนให้กับองค์กร ลดอัตราเสี่ยงในการทำธุรกิจ "คุณแจ๊ค" จึงเกิดไอเดียที่จะสร้างแบรนด์ทีวีของตัวเอง เพราะการทำหน้าที่เป็นเพียงแค่โออีเอ็ม หากผู้จ้างผลิตเกิดความไม่พอใจขึ้นมาวันใดวันหนึ่ง ยกเลิกการผลิต ธุรกิจก็มีสิทธิ์พังครืนได้อีกเช่นกัน แต่การสร้างแบรนด์ของตัวเอง จะเป็นอะไรที่ยั่งยืนมากกว่า และอยู่ได้นานมากกว่า การเริ่มต้นรีแบรนด์ ปรับองค์กรครั้งมโหฬารจึงเกิดขึ้น โดยความเห็นพ้องของทุกคนในครอบครัว

ความกล้าของซีอีโอหนุ่มคนนี้ กับตลาดที่มีคู่แข่งเบอร์ใหญ่ต่างชาติ ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย ดังนั้น วิธีการของเขาจึงต้องโฟกัสตัวเองให้ชัด เน้นความแตกต่างจากตลาดที่มีคู่แข่งระดับยักษ์ ลงมาสู่ตลาดรอง สร้างแบรนด์ทีวีไทย ขายความเป็นไทย เน้นคุณภาพ เติมความคิดสร้างสรรค์ที่แตกต่างจากแบรนด์อื่น ผสมกับความเป็นนักการตลาด ปั้นแบรนด์ อัลทรอน ออกสู่ตลาดในเดือน พฤศจิกายน 2558 หลังจากเขาเข้ามาช่วยธุรกิจนี้ได้เพียง 8-9 เดือน
 

ช่วงที่บุกตลาดส่งออก "คุณแจ๊ค" ต้องแข่งกับตลาดจีน ที่ดัมพ์ราคาแบบสุดๆ เขาฉีกตัวเองด้วยบริการ การสื่อสารที่ดี และคุณภาพ จนทำให้ได้ยอดขายล็อตแรก 100 ล้านบาท เมื่อเขาเริ่มสร้างแบรนด์ของตัวเอง ก่อนจะลงสนามแข่ง เขาต้องเตรียมอาวุธในมือให้พร้อม สินค้านั้นมีอยู่แล้ว พร้อมขาย แต่ต้องติดอาวุธ คือ การรับรองคุณภาพจากสถาบันต่างๆ ซึ่งเขายื่นเสนอจนได้รับทั้ง IOS, มอก., Thailand Trust Mark และฉลากเบอร์ 5 เพื่อเป็นเครื่องการันตีคุณภาพ ทำให้สินค้าขายตัวเองได้ในระดับหนึ่ง

 

"เราต้องทำให้คนไทยยอมรับก่อน แล้วคนข้างบ้าน ก็จะยอมรับเอง ซึ่งตรงกับที่นายกรัฐมนตรีพูด เรื่องการแข็งแกร่งจากภายใน อะไรที่เป็นของไทย ต้องเติบโตจากข้างใน เพื่อให้เป็นการเติบโตอย่างยั่งยืน เป้าหมายแบรนด์ของเรา ต้องยืนด้วยตัวเองได้ แต่การโออีเอ็ม มันแค่ one click ฉันเกลียดแก ฉันย้ายโรง ผมพยายามผลักดันสัดส่วนแบรนด์ของตัวเอง และโออีเอ็มให้เป็น 70 : 30 ภายใน 3 ปี จากปัจจุบันที่โออีเอ็มยังเป็นเส้นเลือดหลักที่ประคองธุรกิจอยู่ ขณะเดียวกันส่งออกยังคงต้องเดินหน้า ด้วยสัดส่วน 10-20% ของรายได้"


"คุณแจ๊ค" ยังวางแผนลดความเสี่ยงทางธุรกิจต่อ ด้วยการเตรียมจับมือกับพันธมิตร เพื่อทำหน้าที่เป็นดิสตริบิวเตอร์ และรับประกอบ รวมทั้งทำการตลาดให้กับแบรนด์อื่นๆ ที่สนใจเข้ามาทำตลาดในไทย

 

เมื่อย้อนถามไปว่า การปรับองค์กรครั้งใหญ่ กับองค์กรที่มีพนักงานเดิมๆ ที่อยู่มานาน เขามีวิธีการอย่างไร โดยไม่ต้องเอาคนเก่าออก ผู้บริหารคนนี้บอกเลยว่า เขาไม่ได้ใช้ความเป็นคนรุ่นใหม่ แล้วมองรุ่นเก่าฮ่วยแตก เขาค่อยๆ มองหาข้อดีของคนรุ่นเก่า ซึ่งก็พบว่า คนรุ่นเก่าเป็นคนดีมาก จิตใจดีมาก สิ่งที่ต้องทำคือการปรับจูนให้คนรุ่นเก่า คิดทันกับคนรุ่นใหม่ โดยอาศัยลูกเล่นเล็กๆ น้อยๆ สอนให้คนรุ่นเก่าได้เข้ามาสัมผัสกับโลกโซเชียล
 

"การล้างไพ่ เราให้ทุกคนเขียนผนัง ให้ทุกคนคิดว่าตัวเองเป็นอย่างไร ทำให้เป็นคาแรกเตอร์ เช่น ความเป็นไทย เราทำได้ สนุกขี้เล่น คิดบวก หลังจากนั้นก็ทำแคมเปญให้ทุกคนเข้ามาเล่นเฟซบุ๊กปิด ที่มีเฉพาะคนในองค์กร มีการออกคำถามทุกๆ อาทิตย์ เราให้เขาคิดว่า ไทยฮาเบล เกิดปีอะไร 1.ปีที่หนังเทอร์มิเนเตอร์ออกฉาย 2.ปีที่มิกกี้เมาส์เกิด เพื่อให้เขารู้จักการใช้กูเกิล เฟซบุ๊ก เป็นการละลายพฤติกรรม เปลี่ยนความคิดคนเล็กๆน้อยๆ ทำให้คนรู้จักคิด เริ่มเข้าใจสิ่งใหม่ๆ"



ในวันนี้ ถ้าจะว่าไปแล้ว การลุยธุรกิจของ ซีอีโอหนุ่มคนนี้ ยังเพิ่งอยู่ในช่วงเริ่มต้น เขายังมีอะไรที่ต้องทำต้องสร้างอีกมาก พร้อมๆ กับการเรียนรู้วิธีการบริหาร ในรูปแบบของผู้ประกอบการเต็มตัว เขายอมรับว่า การเปลี่ยนตัวเองจาก Professional มาสู่ Entrepreneur ไม่ใช่เรื่องง่าย ทุกความคิด ทุกการกระทำของตัวเองคือความท้าทายทั้งสิ้น ต้องตีโจทย์ให้แตก ต้องอ่านเกมให้ขาด แต่สิ่งหนึ่งที่ซีอีโอคนนี้มีก็คือ การพร้อมที่จะกล้าเดินออกไป เพราะคนเราถ้าได้แค่คิด ไม่ลงมือทำ ก็ไม่มีวันที่จะได้เริ่มต้น
 

คติของเขาในวันนี้คือ เขายอมเหนื่อย ลูกน้องทำ 10 เขาต้องทำ 12 ลูกน้องทำ 100 เขาต้องทำ 120 เมื่อลูกน้องให้ใจมา เขาก็ต้องให้ใจตอบ นี่คือสไตล์การบริหารของซีอีโอหนุ่ม ที่พร้อมลุย และสร้างธุรกิจของเขาให้เป็นจริง
 

เรื่อง :พัฐกานต์ เชียงน้อย

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,136 วันที่ 3 - 5 มีนาคม พ.ศ. 2559