(12 กันยายน 2567) นายซาชางฮุน ผู้อำนวยการฝ่ายนโยบายคุณภาพอากาศ สำนักงานใหญ่ด้านสิ่งแวดล้อมและสภาพภูมิอากาศของกรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ ได้ร่วมสนทนาแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ถึงความพยายามอันยาวนานในการจัดการกับปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 ซึ่งส่งผลกระทบต่อสุขภาพประชาชนมาหลายทศวรรษของกรุงโซล ในงาน "การบรรยายแลกเปลี่ยนความรู้จากผู้เชี่ยวชาญรัฐบาลกรุงโซลด้านการรับมือกับ PM2.5" ซึ่งจัดขึ้นโดยสถานเอกอัตรราชทูต ณ กรุงโซล โดยอธิบายถึงแนวทางและนโยบายที่ทำให้กรุงโซลมีอากาศที่บริสุทธิ์ยิ่งขึ้นในปัจจุบัน เพื่อการนำไปสู่การปรับใช้ให้เหมาะสมกับประเทศไทยที่กำลังประสบปัญหา "มลพิษฝุ่น PM2.5" มาอย่างยาวนานเช่นกัน
นายซาชางฮุนเปิดเผยว่า ย้อนกลับไปเมื่อ 20 ปีก่อน ท้องฟ้าของกรุงโซลเคยเต็มไปด้วยฝุ่นควันหนาทึบและระดับ PM2.5 สูงกว่าปัจจุบันถึงสองเท่า ทำให้ทางรัฐบาลจำเป็นต้องดำเนินการจัดการอย่างเร่งด่วนเพื่อสุขภาพของประชาชน ด้วยโครงการที่มีชื่อว่า "Clearer Seoul 2030"
หนึ่งในมาตรการสำคัญที่รัฐบาลกรุงโซลดำเนินการคือ โครงการยานพาหนะปล่อยมลพิษต่ำ ซึ่งเน้นจัดการกับรถยนต์ดีเซลเก่า โดยจนถึงปี 2564 รถดีเซล 500,000 คันที่ปล่อยมลพิษระดับ 5 ได้รับการเปลี่ยนเป็นยานพาหนะที่ปล่อยมลพิษต่ำ และกำลังดำเนินการต่อในจำนวนที่เหลือ
มาตรการลดมลพิษที่สำคัญอีกอย่างคือการกำหนดเขตพื้นที่การจราจรสีเขียวในกรุงโซลตั้งแต่ปี 2562 ซึ่งจำกัดการสัญจรของรถยนต์ที่มีการปล่อยมลพิษสูง รวมถึงการนำระบบการจัดการตามฤดูกาลเข้ามาใช้ในช่วงเดือนธันวาคมถึงมีนาคมเพื่อลดระดับ PM2.5 ในช่วงที่มีมลพิษสูง
นายซาชางฮุน ยังกล่าวถึงเป้าหมายที่ท้าทายว่า ภายในปี 2569 กรุงโซลจะลดระดับ PM2.5 ลงเหลือ 15 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งเทียบเท่ากับเกาะเชจู และก้าวเข้าสู่ 10 เมืองที่มีอากาศสะอาดที่สุดในโลกภายในปี 2573
หนึ่งในกลยุทธ์หลักของโครงการ "Clearer Seoul 2030" คือการเปลี่ยนยานพาหนะดีเซลเป็นยานพาหนะที่ปล่อยมลพิษต่ำ เนื่องจากรถยนต์ถือเป็นแหล่งปล่อยมลพิษ PM2.5 ถึง 28% ของกรุงโซล และรถดีเซลซึ่งมีสัดส่วนเพียง 34% ของรถยนต์ทั้งหมด กลับเป็นตัวการถึง 93% ของมลพิษจากรถยนต์
โครงการนี้ยังครอบคลุมถึงการเปลี่ยนรถเมล์ดีเซลเป็นรถไฟฟ้าภายในปี 2569 โดยกรุงโซลได้เริ่มให้คะแนนเพิ่มเติมแก่บริษัทที่มีการเปลี่ยนรถเมล์เป็นรถไฟฟ้า ทั้งนี้ยังมีการสร้างแรงจูงใจในการเลิกใช้รถดีเซลแก่ประชาชน รวมถึงการติดตั้งสถานีชาร์จไฟฟ้าในที่จอดรถส่วนตัวและอาคารสาธารณะมากขึ้น
อีกหนึ่งกลยุทธ์สำคัญคือการขยายการจำกัดการใช้งานรถยนต์ที่ก่อมลพิษให้ครอบคลุมทั้งกรุงโซลภายในปี 2573 โดยในปี 2568 จะมีการห้ามรถยนต์ระดับมลพิษ 5 ในพื้นที่โซนการจราจรสีเขียวตลอดทั้งปี และในปี 2573 จะครอบคลุมรถยนต์ที่มีระดับมลพิษ 4 ทั่วกรุงโซล
นายซาชางฮุนยังเสริมว่ารัฐบาลจะสนับสนุนให้ประชาชนเลิกใช้รถยนต์ดีเซลก่อนที่จะถึงมาตรการจำกัด โดยมีโครงการสนับสนุนการเลิกใช้รถก่อนกำหนดและการตั้งกองทุนสภาพภูมิอากาศเพื่อชดเชยแก่ผู้ที่ไม่ซื้อรถยนต์ใหม่หลังจากเลิกใช้รถเก่า การดำเนินนโยบายนี้สอดคล้องกับเป้าหมายที่จะลดการใช้รถยนต์เครื่องยนต์สันดาปภายในให้หมดสิ้นจากกรุงโซลภายในปี 2593 โดยคาดว่าภายในปี 2579 ยานพาหนะ 10% ของกรุงโซลจะเป็นรถไฟฟ้า
นอกจากการจัดการกับยานพาหนะแล้ว กรุงโซลยังมีมาตรการที่เน้นการลดมลพิษจากสถานที่ก่อสร้างขนาดใหญ่ นายซาชางฮุนชี้ว่า "ฝุ่นละอองจากการก่อสร้างและเครื่องจักรเป็นแหล่งกำเนิดมลพิษ PM2.5 ถึง 24% และ 20% ตามลำดับ" รัฐบาลจึงได้ดำเนินการสร้างระบบการจัดการก่อสร้างที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
กรุงโซลยังได้ขยายการติดตั้งอุปกรณ์ป้องกันมลพิษอากาศในธุรกิจขนาดเล็กและระบบทำความร้อนเพื่อควบคุมมลพิษจากโรงงานและการใช้เชื้อเพลิงเก่า นอกจากนี้ ยังมีการใช้ระบบตรวจสอบการปล่อยมลพิษผ่าน IoT (Internet of Things) ในสถานประกอบการทุกแห่ง เพื่อให้แน่ใจว่ามีการตรวจสอบการปล่อยมลพิษอย่างต่อเนื่อง
สิ่งที่ท้าทายอีกประการหนึ่งที่กรุงโซลเผชิญคือการจัดการกับโอโซน ซึ่งระดับความเข้มข้นเฉลี่ยต่อปีเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา โอโซนซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัยเสี่ยงสำคัญต่อสุขภาพระบบทางเดินหายใจ มาจากการใช้งานในสถานประกอบการเช่นร้านซักแห้งและโรงงานสี รัฐบาลกรุงโซลได้เริ่มจัดการกับปัญหานี้อย่างจริงจังเพื่อป้องกันผลกระทบระยะยาวต่อประชาชน
การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในด้านนโยบายและมาตรการเหล่านี้ล้วนมุ่งสู่เป้าหมายที่จะทำให้กรุงโซลเป็นเมืองที่มีอากาศบริสุทธิ์และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ภายในปี 2573 นโยบายเหล่านี้ไม่เพียงแต่ทำให้ประชาชนได้รับอากาศที่ดีขึ้นเท่านั้น แต่ยังเป็นแบบอย่างให้กับเมืองอื่น ๆ ที่ต้องการจัดการกับปัญหาฝุ่น PM2.5 อย่างยั่งยืน
เรามีเป้าหมายที่จะทำให้กรุงโซลเป็นเมืองที่ประชาชนสามารถสูดอากาศบริสุทธิ์ได้ทุกที่ และลดการปล่อยมลพิษจากยานพาหนะและกิจกรรมอื่น ๆ ให้ได้มากที่สุด
ทางประเทศไทย นางสาววรนุช สวยค้าข้าว รองผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร กล่าวถึงปัญหามลพิษทางอากาศในกรุงเทพฯ โดยเน้นสาเหตุหลักมาจากภาคการขนส่งและการเผาในที่โล่ง รวมถึงการจัดการขยะและภาคพลังงานที่ส่งผลต่อ PM2.5 ซึ่งกรุงเทพฯ ใช้เครื่องตรวจวัดคุณภาพอากาศทั้งมาตรฐานสูงและเซนเซอร์ต้นทุนต่ำ เพื่อเฝ้าติดตามสถานการณ์ในพื้นที่ต่างๆ และมีการประเมินผลกระทบจากยานพาหนะและการเผาจากพื้นที่รอบนอก
สำหรับกลยุทธ์ในการแก้ปัญหา ทางกรุงเทพฯ ได้ใช้มาตรการเชิงรุกตามนโยบายของผู้ว่าราชการ โดยเน้นการจัดการในภาคขนส่ง การเพิ่มพื้นที่สีเขียว และการจัดการขยะอย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงการพัฒนาแผนงานเพื่อควบคุมมลพิษ โดยเฉพาะในช่วงที่ปัญหาฝุ่น PM2.5 สูงสุดในเดือนพฤศจิกายนถึงมีนาคม
นอกจากนี้ยังกล่าวถึงการตรวจวัดคุณภาพอากาศในพื้นที่กรุงเทพฯ และแผนการพัฒนามาตรฐานของเครื่องมือวัดเพื่อให้ได้ข้อมูลที่แม่นยำ นอกจากนี้ยังมีการวิเคราะห์ฝุ่น PM2.5 เพื่อแยกแหล่งที่มาของมลพิษ เช่น การขนส่งและการเกษตร
นางศิวพร รังสิยานนท์ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านการจัดการคุณภาพอากาศและเสียงผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการคุณภาพอากาศและเสียงจากกรมควบคุมมลพิษ ได้กล่าวในการประชุมว่าเป็นโอกาสที่ดีที่ประเทศไทยได้รับความร่วมมือจากประเทศเกาหลีใต้ในเรื่องการจัดการมลพิษทางอากาศ ซึ่งประเทศไทยมีความร่วมมือกับเกาหลีใต้และประเทศในอาเซียนมาเป็นเวลานานที่ร่วมมือกันเพื่อพัฒนาแนวทางแก้ไขปัญหามลพิษอย่างยั่งยืน
จากการศึกษาร่วมกับหน่วยงานต่างประเทศในปีที่ผ่านมา หากประเทศไทยไม่สามารถแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศได้ตามนโยบายของภาครัฐ นอกจากปัญหาสุขภาพของประชานแล้ว ภายในปี 2573 ประเทศจะสูญเสีย GDP ถึง 2% ต่อปี ซึ่งเป็นปัญหาที่ต้องให้ความสำคัญในการกำหนดนโยบายอย่างจริงจัง
ทางกรมควบคุมมลพิษโดย นางสาวภัทรียา เกตุสิน นักวิชาการสิ่งแวดล้อมชำนาญการพิเศษ ได้เน้นว่า การแก้ไขปัญหามลพิษในประเทศไทยจำเป็นต้องดำเนินการในทุกระดับ ตั้งแต่ระดับท้องถิ่นจนถึงระดับประเทศ และต้องมีการติดตามตรวจสอบคุณภาพอากาศอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ มาตรการแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล เริ่มต้นมาตั้งแต่ปี 2560 โดยมีการเสนอให้คณะรัฐมนตรีประกาศเป็นวาระแห่งชาติในปี 2562 และขับเคลื่อนมาตรการอย่างเป็นรูปธรรมตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
ในปี 2564 ทางกรมควบคุมมลพิษได้ปรับปรุงมาตรฐานค่า PM2.5 เฉลี่ย 24 ชั่วโมง จาก 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร เหลือ 37.5 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งทำให้การแก้ไขปัญหามีความเข้มงวดมากขึ้น โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีปัญหา เช่น กรุงเทพฯ ปริมณฑล และภาคเหนือ นอกจากนี้ ยังมีการเพิ่มกลไกการบริหารจัดการภายใต้การสนับสนุนของนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นการประสานงานระหว่างทุกหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน รวมถึงการตั้งศูนย์สื่อสารเพื่อแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ และการร่วมมือกับเพื่อนบ้านในภูมิภาคเพื่อแก้ไขปัญหาการเผาในที่โล่ง
ข่าวที่เกี่ยวข้อง