environment

วิกฤตความหลากหลายทางชีวภาพ เดิมพันบนโต๊ะเจรจา COP16

    จับตาการประชุมเจรจา CBD COP16 เดือนตุลาคม จุดประสงค์ ก็คือการปกป้องให้ความหลากหลายทางชีวภาพของโลกยังคงอยู่

ลองจินตนาการว่าโลกเป็นเหมือนตาข่ายใยแมงมุมขนาดยักษ์ ทุกเส้นใยเชื่อมโยงถึงกัน เมื่อเส้นใยหนึ่งขาด ผลกระทบจะส่งต่อไปทั้งระบบ นี่คือสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นกับระบบนิเวศของเรา ซึ่งกำลังเผชิญกับวิกฤตการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพครั้งใหญ่ 

ในปี 2023 มีมากกว่า 44,000 ชนิดที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ การใช้ที่ดินและการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์จากทะเลเป็นภัยคุกคามหลักต่อความหลากหลายทางชีวภาพ โดยคิดเป็น 50% ของภัยคุกคามทั้งหมด

การประชุม COP16 ภายใต้อนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ Convention on Biological Diversity (CBD) เป็นความตกลงระหว่างประเทศด้านสิ่งแวดล้อม เพื่ออนุรักษ์ไว้ซึ่งความหลากหลายทางชีวภาพและการใช้ประโยชน์จากระบบนิเวศ ชนิดพันธุ์ และพันธุกรรมอย่างยั่งยืน

ทั้งยังครอบคลุมทุกประเด็นที่เกี่ยวข้องทั้งทางตรงและทางอ้อมกับความหลากหลายทางชีวภาพด้วย อาทิ วิทยาศาสตร์ การเมือง การศึกษา ธุรกิจ และวัฒนธรรม จะจัดขึ้นในปี 2024 เมืองซานเตียโก เด กาลิ สาธารณรัฐโคลอมเบีย ระหว่างวันที่ 21 ตุลาคม - 1พฤศจิกายน ซึ่งเป็นการประชุมที่เริ่มจัดมาเป็นประจำตั้งแต่ปี ค.ศ. 1992 โดยมีประเทศกว่า 196 ประเทศเข้าร่วม ซึ่งจุดประสงค์ของการประชุมนี้คือการปกป้องให้ความหลากหลายทางชีวภาพของโลกยังคงอยู่

เป้าหมายพื้นฐานในการประชุม COP16 

การประชุมนี้เป็นครั้งแรกหลังจากการรับรองกรอบงานความหลากหลายทางชีวภาพคุนหมิง-มอนทรีออล (Kunming-Montreal) ในปี 2022 เพื่อทบทวนการดำเนินงาน ระดมทรัพยากรเพื่อสนับสนุนการดำเนินงานตามกรอบงาน การหารือเกี่ยวกับกลไกการแบ่งปันผลประโยชน์จากการใช้ข้อมูลลำดับพันธุกรรมดิจิทัลของทรัพยากรชีวภาพอย่างเป็นธรรมและเท่าเทียม

การประชุม COP16 ถือเป็นเวทีที่ประเทศต่าง ๆ ต้องแสดงให้เห็นถึงการปรับยุทธศาสตร์และดำเนินงานด้านความหลากหลายทางชีวภาพให้สอดคล้องกับกรอบงาน Kunming-Montreal 

COP 16 มี 3 ประเด็นไฮไลท์สำคัญ

1.แปลงแผนงานความหลากหลายทางชีวภาพ (The Biodiversity Plan) ไปสู่การปฏิบัติในระดับประเทศ

The Biodiversity Plan ประกอบด้วย 4 เป้าประสงค์ภายในปี ค.ศ. 2050 (2050 Goals) และ 23 เป้าหมายที่ต้องดำเนินการภายใน ค.ศ. 2030 (2030 Targets) โดยอนุสัญญาฯ ได้จัดทำคู่มือเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจแต่ละเป้าหมาย เช่น ความสำคัญ ตัวชี้วัด คำถามชี้แนะในการจัดทำเป้าหมายชาติ เป็นต้น เ

ในการประชุม COP 16  ประเทศภาคีสมาชิกจะร่วมกันแสดงให้เห็นว่าการจัดทำแผนปฏิบัติการด้านความหลากหลายทางชีวภาพแห่งชาติ (National Biodiversity Strategies and Action Plans: NBSAPs) มีความสอดคล้องกับกับแผนงานความหลากหลายทางชีวภาพมากแค่ไหน ทั้งนี้ การติดตาม การรายงานและการทบทวน NBSAP เป็นกุญแจสำคัญในการขับเคลื่อนการดำเนินงานระดับประเทศเพื่อบรรลุเป้าหมายและตัวชี้วัดของ The Biodiversity Plan ในระดับโลก

2. ระดมทรัพยากรให้เพียงพอที่จะสนับสนุนการดำเนินงานด้านความหลากหลายทางชีวภาพในทุกด้าน

คาดหวังว่าในการประชุม COP 16 ภาคีสมาชิกจะสามารถปิดช่องว่างทางการเงินเพื่อความหลากหลายทางชีวภาพที่กำหนดไว้ 700 พันล้านดอลลาร์ต่อปี ซึ่งภาคีสมาชิกมีเวลาเพียงไม่กี่ปีในการบรรลุ 2030 Targets แม้ว่ากองทุนสิ่งแวดล้อมโลก รอบที่ 8 (GEF-8) ได้มีการสนับสนุนทรัพยากรทางการเงินเพื่อความหลากหลายทางชีวภาพแต่ก็ยังไม่เพียงพอ ดังนั้นจำเป็นต้องมีกลไกอื่น ๆ ร่วมด้วย รวมถึงกองทุน Global Biodiversity Framework Fund (GBFF) ที่จัดตั้งขึ้นเมื่อ ค.ศ. 2023 

3. เร่งรัดให้เกิดความก้าวหน้าของกลไกการเข้าถึงและการแบ่งปันผลประโยชน์

มาตรา 15 ของ CBD กำหนดกฎเกณฑ์ว่าด้วยการเข้าถึงและการแบ่งปันผลประโยชน์จากการใช้ทรัพยากรพันธุกรรม (Access and  Benefits Sharing: ABS) เพื่อให้แน่ใจว่าการเข้าถึงและการใช้ทรัพยากรพันธุกรรมจะทำให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ผู้ให้ ผู้ใช้บริการ ระบบนิเวศ และชุมชน

คาดหวังว่าก่อนการประชุม COP16 จะมีประเทศที่ให้สัตยาบันต่อพิธีสารนาโงยาเพิ่มขึ้นจาก 140 ประเทศในปัจจุบัน 

ความหลากหลายทางชีวภาพ (Biodiversity)

สิ่งมีชีวิตทุกชนิดบนโลกไม่ว่าจะเป็นพืช สัตว์ และสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กที่เรียกว่า จุลินทรีย์ ที่มีความหลากหลายและแตกต่างกัน รวมถึงระบบนิเวศซึ่งสิ่งมีชีวิตอยู่เป็นส่วนหนึ่ง และมนุษย์เองก็เป็นส่วนหนึ่งของความหลากหลายทางชีวภาพ

ในธรรมชาติ มีสิ่งมีชีวิตหลายชนิดที่มีความแตกต่างกันอาศัยอยู่ร่วมกัน และกระจายอยู่ในบริเวณพื้นที่แตกต่างกัน เช่น ในป่า ในทะเล ในแม่น้ำ เรียกว่า แหล่งที่อยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิต (Habitat)

การที่มีสิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่ร่วมกันในแหล่งที่อยู่อาศัยแต่ละแห่งนั้น จะมีความสัมพันธ์กับสภาพแวดล้อม พืชพรรณ อาหาร และยังมีความสัมพันธ์กันสามารถพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกันในแหล่งที่อยู่อาศัย ซึ่งทั้งหมดนี้เรียกว่า ระบบนิเวศ (Ecosystem)

ประโยชน์ที่มนุษย์ได้รับจากความหลากหลายทางชีวภาพ

  • ปัจจัยในการดำรงชีวิต ไม่ว่าจะเป็นอาหาร รักษาโรค เครื่องนุ่งห่ม และที่อยู่อาศัย รวมถึงการใช้ความหลากหลายทางชีวภาพให้เป็นประโยชน์ทางเศรษฐกิจ สร้างมูลค่าเพิ่ม พัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีคุณค่าสูง
  • ควบคุมสภาพแวดล้อม ควบคุมการเกิดน้ำท่วม การลดหรือบรรเทาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รักษาคุณภาพน้ำ ควบคุมและป้องกันโรคร้าย
  • เป็นแหล่งเรียนรู้นันทนาการ และการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ

โคลอมเบีย สวรรค์แห่งความหลากหลายทางชีวภาพ

การเป็นเจ้าภาพการประชุม COP16 ในโคลอมเบียเน้นย้ำถึงความสำคัญเชิงยุทธศาสตร์และความมั่งคั่งทางธรรมชาติของประเทศ ด้วยพืชและสัตว์มากกว่า 67,000 สายพันธุ์ โคลอมเบียจึงเป็นประเทศที่มีความหลากหลายทางชีวภาพมากเป็นอันดับ 3 ของโลก

ภูมิภาคที่มีความหลากหลายทางชีวภาพมากที่สุดของโคลอมเบียหลายแห่งไม่มีการคุ้มครองอย่างเป็นทางการหรือมีความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พันธมิตรในพื้นที่จึงร่วมกันปกป้องภูมิประเทศอันเป็นสัญลักษณ์ของโคลอมเบีย รวมถึงการสร้างอุทยานแห่งชาติธรรมชาติของ  Serrania de la Macarena เป็นเทือกเขาที่ตั้งอยู่ในเขตเมตา (Meta) ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ 68,000 เฮกตาร์ และเชื่อมต่อป่าฝนอเมซอนกับทุ่งหญ้าสะวันนาเขตร้อนที่ใหญ่ที่สุดในโลก

ละตินอเมริกาเป็นแหล่งทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญของโลก

เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิต 40% ของโลก มีแนวปะการังที่ยาวเป็นอันดับ 2  และมีแหล่งน้ำจืดมากกว่า 1/3 ของโลก ซึ่งรวมถึงแอ่งอเมซอนและโอรีโนโก ซึ่งเป็นแอ่งที่มีความหลากหลายทางชีวภาพมากที่สุดในโลก

ละตินอเมริกายังเป็นแหล่งทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญของโลกอีกด้วย แต่ในขณะเดียวกันก็เผชิญกับความท้าทายในการหยุดยั้งการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพและรับมือกับผลกระทบจากวิกฤตการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 

ความหลากหลายทางชีวภาพในประเทศไทย

ประเทศไทยตั้งอยู่ในเขตซึ่งมีสภาพภูมิอากาศร้อนชื้น มีสภาพภูมิอากาศที่เหมาะสมต่อการอยู่อาศัย และการเจริญเติบโตในช่วงอายุของสิ่งมีชีวิตหลายชนิด ทำให้ความหลากหลายทางชีวภาพสูงเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก

  • พืช 12,000 ชนิด
  • สัตว์มีกระดูกสันหลังมากกว่า5,000 ชนิด
  • สัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังมากกว่า 80,000 ชนิด
  • คาดว่าจุลินทรีย์มากกว่า 200,000 ชนิด