net-zero

กูรูชี้ทางรอดธุรกิจ ลุยพลังงานสะอาด ชิงได้เปรียบแข่งขันเวทีโลก

    ในการสัมมนา “พลังงานสะอาด ความยั่งยืน และทางรอดธุรกิจยุคใหม่” ได้มีการระดมสมองจากผู้เชี่ยวชาญระดับโลก และผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงาน ถึงทางรอดธุรกิจและการปรับตัวให้สามารถรับมือกับความเสี่ยงด้านสภาพภูมิอากาศ จากเปลี่ยนผ่านสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์

นายอธิป ตันติวรวงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อินโนพาวเวอร์ จำกัด กล่าวว่า จากข้อมูล Energy Transition Investment Trends 2024 ของบลูมเบิร์ก ได้วิเคราะห์ถึง แนวโน้มการลงทุนในพลังงานสะอาดและเทคโนโลยีสีเขียวของทั่วโลกจะเพิ่มขึ้นอย่างมาก จากปี 2023 มีมูลค่าประมาณ 1.7 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ คาดว่าจะเพิ่มเป็น 4-6 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2030 ซึ่งมาจาก 2 ปัจจัยหลัก ภาวะโลกร้อน (Global Warming) และเหตุผลทางธุรกิจ

อธิป ตันติวรวงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อินโนพาวเวอร์ จำกัด

ปัจจัยแรก ผลกระทบจาก Global Warming ได้ส่งผลต่อตัวเลขทางเศรษฐกิจ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกำลังสร้างความเสียหายให้กับโลกคิดเป็นมูลค่าราว 2.8 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐในรอบ 20 ปีที่ผ่านมา (ปี 2000-2019) ไม่ว่าจะเป็นภาคเกษตรกรรมที่ต้องปรับตัวตามสภาพอากาศ นํ้าท่วมที่มีความถี่เพิ่มขึ้น และที่น่ากังวลคือ ไทยติดอันดับ TOP 10 ประเทศที่จะได้รับผลกระทบจาก Global Warming มากที่สุดในโลกด้วย

ปัจจัยที่สอง เหตุผลทางธุรกิจ ปัจจุบันจะเริ่มเห็นนโยบายที่ทำให้ภาคธุรกิจต้องเริ่มลดปริมาณคาร์บอนและก๊าซเรือนกระจกจากกิจกรรมที่ดำเนินการ เช่น การออกมาตรการปรับคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนของสหภาพยุโรป CBAM (Carbon Border Adjustment Mechanism) ที่ผลักดันเก็บภาษีในผลิตภัณฑ์ที่มีการปล่อยคาร์บอนเข้มข้น เช่น เหล็ก ซีเมนต์ และไฟฟ้าบางชนิด ที่นำเข้าไปยังสหภาพยุโรป หรือกลไกชดเชยและการลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สำหรับการบินระหว่างประเทศ( CORSIA) เริ่มออกนโยบายให้อุตสาหกรรมการบินต้องเริ่มใช้พลังงานทางเลือกที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

รวมถึงความเคลื่อนไหวของบริษัทขนาดใหญ่ เช่น Tesla, Apple ต่างมีเป้าหมายในการเข้าถึง Net Zero Emissions ทั้งห่วงโซ่การผลิตภายในปี 2030 หมายความว่า ธุรกิจที่จะเข้าร่วมเป็นซัพพลายเออร์ให้กับบริษัทขนาดใหญ่ ๆ เหล่านี้จะต้องใช้พลังงานสะอาดทั้ง 100% ด้วย ดังนั้นจึงมีความจำเป็นที่ผู้ประกอบการต้องเตรียมความพร้อม

ดังนั้น เรื่องการปรับตัวของธุรกิจเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก จึงไม่ใช่เรื่องที่ไกลตัวอีกต่อไป แม้ว่าธุรกิจจะไม่ได้ส่งออกไปยุโรป หรือเป็นคู่ค้ากับบริษัทที่มีเป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อม แต่ในความเป็นจริงเรื่องการเปลี่ยนผ่านไปสู่ความยั่งยืน (Sustainability) เป็นเรื่องใกล้ตัวกว่าที่คิด ซึ่งประเทศไทยก็เริ่มมีการกล่าวถึงเรื่องการจัดเก็บภาษีคาร์บอน และการเตรียมออกกฎหมายพ.ร.บ.การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศประเทศไทย เหล่านี้จะเริ่มมีผลกระทบต่อผู้ประกอบธุรกิจในไทยอย่างแน่นอน

อย่างไรก็ตาม การกระตุ้นหรือผลักดันให้ผู้ประกอบการไทย เร่งปรับตัวเพื่อรับความเปลี่ยนแปลงยุคโลกรวนนี้ ยังมีอุปสรรคสำคัญที่ผู้ประกอบการยังไม่ได้ให้ความสำคัญกับพลังงานสะอาดหรือธุรกิจแบบสีเขียว (Green) เป็นลำดับแรก ๆ มองว่าเป็นเรื่องยุ่งยากที่จะดำเนินการ อีกทั้งมีราคาแพงทำให้ต้นทุนธุรกิจสูงขึ้นไปอีก

ดังนั้น การทลายกำแพงความคิดในเรื่อง Go Green จึงเป็นสิ่งสำคัญที่ผู้ประกอบการจะต้องเปลี่ยนผ่านให้สำเร็จ และนำเรื่อง Green มาวางเป็นกลยุทธ์ในอนาคตขององค์กร เพราะ Green จะช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน และปลดล็อคข้อจำกัดการเข้าสู่ที่ตลาดสำคัญที่มีข้อจำกัด และในทางตรงกันข้ามเรื่อง GREEN จะเป็นเรื่องที่เข้าถึงง่ายหากสามารถทำได้ถูกทาง หาโซลูชั่นที่เหมาะกับองค์กรได้

กลุ่ม RE 100 เร่งขับเคลื่อนพลังงานสะอาด

นายโทบี้ วอร์คเกอร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านนโยบายของ RE 100 จากลอนดอน สหราชอาณาจักร กล่าวว่า RE100 เป็นองค์กรระดับโลกที่เร่งผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสู่การใช้พลังงานไฟฟ้าไร้คาร์บอนให้สำเร็จภายในปี ค.ศ. 2040 โดยมีการรวมตัวของบริษัทชั้นนำกว่า 430 แห่งทั่วโลกที่มุ่งมั่นใช้พลังงานไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานหมุนเวียน 100% อย่างช้าที่สุดภายในปี 2050 กลุ่ม RE100 จะมีความต้องการพลังงานรวมที่มากกว่า 3 เท่าของประเทศไทย

โทบี้ วอร์คเกอร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านนโยบายของ RE 100 จากลอนดอน สหราชอาณาจักร

ทั้งนี้ RE100 มุ่งเน้นการขับเคลื่อน 2 หลักการคือ การสนับสนุนการปรับเปลี่ยนนโยบายเพื่อขจัดอุปสรรคต่อการลงทุนในพลังงานหมุนเวียนสำหรับภาคธุรกิจ และการจัดหาพลังงานหมุนเวียนตามมาตรฐานสากลผ่านการรายงานประจำปีที่โปร่งใสไปยัง CDP ความพยายามเหล่านี้มีเป้าหมายเพื่อผลักดันให้ระบบเกิดการเปลี่ยนแปลง โดยมุ่งหวังให้ภาคธุรกิจสามารถจัดหาพลังงานหมุนเวียนได้ 2 ใน 3 ของประเทศที่มีการบริโภคไฟฟ้าสูงสุดภายในปี ค.ศ. 2026

จาก RE100 ที่เติบโตขึ้นทั่วโลก จะเป็นโอกาสให้ภาคธุรกิจในประเทศไทยเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยผลักดันการเคลื่อนไหวนี้ และร่วมเป็นผู้นำในการเปลี่ยนแปลงเพื่อสร้างผลประโยชน์ทั้งด้านสิ่งแวดล้อมและเศรษฐกิจ และยังเป็นการส่งสัญญาณความต้องการที่ชัดเจนไปยังภาครัฐของแต่ละประเทศ ให้ตระหนักถึงศักยภาพในการลงทุนที่เกี่ยวข้อง และพร้อมเร่งขจัดอุปสรรคด้านนโยบายเพื่อบริษัทต่างๆ สามารถจัดหาพลังงานไฟฟ้าหมุนเวียน 100% ได้อย่างรวดเร็วและราคายุติธรรม

ขณะที่นายไชยรพี เลี้ยงบุญเลิศชัย  Head of Strategic Partnership บริษัท อินโนพาวเวอร์ จำกัด สะท้อนว่า การเข้าถึงพลังงานสะอาดเป็นความท้าทายของธุรกิจ และกำลังจะก้าวข้ามความสมัครใจไปสู่ภาคบังคับด้วยกฎหมายกฎระเบียบที่มากขึ้น ดังนั้นในอนาคตความต้องการด้านพลังงานสะอาดจะเติบโตมากขึ้นเรื่อยๆ ขณะที่การผลิตพลังงานสะอาดของไทยอาจจะไม่เพียงพอ

ไชยรพี เลี้ยงบุญเลิศชัย  Head of Strategic Partnership บริษัท อินโนพาวเวอร์ จำกัด

ดังนั้น ทางเลือกเพื่อให้ไปสู่เป้าหมายในการลดก๊าซเรือนกระจก ไม่เพียงการลงทุนผลิตพลังงานสะอาดเท่านั้น แต่ยังมีทางเลือกอื่นๆ ที่จะมาช่วยตอบโจทย์ในการลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ได้ ซึ่งบริษัท เองมุ่งมั่นที่จะเป็นพันธมิตรพิชิตคาร์บอนและพยายามส่งเสริมให้พาร์ทเนอร์ เข้าใจในสถานการณ์ที่เกิดขึ้น และเสนอทางเลือกต่างๆ เช่น การซื้อขายใบรับรองการผลิตพลังงานหมุนเวียน(Renewable Energy Certificate : REC) ที่จะมาช่วยชดเชยการปล่อยคาร์บอรฯขององค์กร

นอกจากนี้ ยังมีเรื่องของการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ ที่เริ่มจากลดใช้พลังงานที่ไม่จำเป็น หรือแม้แต่การผลิตไฟฟ้าใช้เองจากพลังงานสะอาด เพื่อลดค่าใช้จ่าย และในอนาคตอันใกล้นี้ จะมีอัตราค่าไฟฟ้าสีเขียวออกมา และสามารถซื้อขายไฟฟ้าได้โดยตรงระหว่างผู้ซื้อกับผู้ขาย (Direct PPA) จะเป็นทางเลือกที่เพิ่มเติมให้กับผู้ประกอบการไทย รับมือกับการแข่งขันในเวทีโลกได้

หน้า 7 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 4,027 วันที่ 15 - 18 กันยายน พ.ศ. 2567