net-zero

“บ้านปู” ปรับโมเดลธุรกิจ ลดรายได้ถ่านหิน ลุยโรงไฟฟ้าก๊าซ-CCUS ในสหรัฐฯ

    บ้านปู เร่งขับเคลื่อน Net Zero ปรับกลยุทธ์การดำเนินงานใหม่ เป้าปี 73 EBITDA จากธุรกิจถ่านหิน ต้องต่ำกว่า 50 % ชู 4 ภารกิจช่วงเปลี่ยนผ่านพลังงานช่วง 6 ปี ด้วยงบลงทุน 3,000-3,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลุยขยายโรงไฟฟ้าก๊าซฯในสหรัฐ การกักเก็บคาร์บอน และแบตเตอรี่

บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) หรือ BANPU ได้มีการปรับกลยุทธ์และเป้าหมายในการดำเนินธุรกิจระยะ 6 ปีข้างหน้า (2568-2573) ใหม่ ภายใต้ “Energy Symphonics” ที่เน้นการเปลี่ยนผ่านพลังงานอย่างยั่งยืน ตอบสนองต่อความต้องการพลังงานของโลกที่เพิ่มสูงขึ้น ผ่าน 3 เป้าหมายหลัก ได้แก่ การจัดหาพลังงานที่เชื่อถือได้และต่อเนื่อง การจัดหาพลังงานที่มีราคาสมเหตุสมผล และการจัดหาพลังงานที่ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมโดยมี 4 ภารกิจสำคัญในการขับเคลื่อน ได้แก่

1.การมุ่งมั่นที่จะลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2593 ซึ่งมีแผนระยะสั้นที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกไม่น้อยกว่า 20% และลดสัดส่วน EBITDA (กำไรก่อนหักดอกเบี้ย ภาษี และค่าเสื่อมราคา) ที่มาจากธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับถ่านหินให้ตํ่ากว่า 50% ภายในปี 2573 ปัจจุบันบริษัทมีสัดส่วน EBITDA จากธุรกิจถ่านหินราว 63% ซึ่งไตรมาส 3 ปี 2567 มี EBITDA จากธุรกิจถ่านหินจำนวน 253 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยมีรายได้จากธุรกิจถ่านหินราว 844 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

2.การผสานพลังงานก๊าซธรรมชาติ ไฟฟ้าและเทคโนโลยีดักจับและกักเก็บคาร์บอน (Carbon Capture, Utilization and Sequestration: CCUS) ที่จะเป็นสูตรสำเร็จ ในการจัดหาพลังงานก๊าซคาร์บอนตํ่าในสหรัฐอเมริกาและประเทศเศรษฐกิจอื่น ๆ

“บ้านปู” ปรับโมเดลธุรกิจ ลดรายได้ถ่านหิน ลุยโรงไฟฟ้าก๊าซ-CCUS ในสหรัฐฯ

3.การเร่งพัฒนาพลังงานหมุนเวียนและบทบาทของระบบกักเก็บพลังงานแบตเตอรี่ (Battery Energy Storage System: BESS) โดยจะขยายการลงทุนทั่วภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก สหรัฐอเมริกา และภูมิภาคอื่น ๆ รวมถึงการสร้างคุณค่าในห่วงโซ่อุปทานของแบตเตอรี่

4.พัฒนาธุรกิจเหมืองแร่ยุคใหม่ ซึ่งเป็นธุรกิจหลักด้วยแนวทางอัจฉริยะ ครอบคลุมตั้งแต่ต้นนํ้าถึงปลายนํ้า จากเหมืองสู่ท่าเรือด้วยการใช้เทคโนโลยี และปัญญาประดิษฐ์ (AI) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ลดต้นทุน และลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม พร้อมแสวงหาเหมืองแร่แห่งอนาคตที่สำคัญต่อโลกยุคใหม่ เช่น เหมือนแร่ทองคำ ทองแดง เงิน ลิเทียม และ นิกเกิล เป็นต้น ซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญในการผลิตแบตเตอรี่ ปัจจุบันอยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ในการลงทุน

“บ้านปู” ปรับโมเดลธุรกิจ ลดรายได้ถ่านหิน ลุยโรงไฟฟ้าก๊าซ-CCUS ในสหรัฐฯ

นายสินนท์ ว่องกุศลกิจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บ้านปูจำกัด (มหาชน)  กล่าวว่า ในการขับเคลื่อนการดำเนินงานในระยะ 6 ปีดังกล่าว คาดว่าจะต้องใช้เงินลงทุนราว 3,000-3,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือเฉลี่ยปีละประมาณ 2 หมื่นล้านบาท โดยจะแบ่งสัดส่วนการใช้งบลงทุนออกเป็นกว่า 60% รองรับในการลงทุนธุรกิจก๊าซธรรมชาติ และโรงไฟฟ้า ในขณะที่อีก 40% ใช้ลงทุนในโครงการ อื่น ๆ ที่เกี่ยวเนื่อง เช่น ธุรกิจพลังงานสะอาด พลังงานหมุนเวียน แบตเตอรี่ และธุรกิจคาร์บอนเครดิต เพื่อสร้างความต่อเนื่องให้กับพลังงานหมุนเวียน พร้อมทั้งเพิ่มมูลค่าให้กับธุรกิจ

“บ้านปู” ปรับโมเดลธุรกิจ ลดรายได้ถ่านหิน ลุยโรงไฟฟ้าก๊าซ-CCUS ในสหรัฐฯ

ปัจจุบัน BANPU มีกำลังผลิตไฟฟ้าตามสัดส่วนการถือหุ้น 4,910 เมกะวัตต์ แยกเป็น โรงไฟฟ้าพลังงานความร้อน 4,008 เมกะวัตต์ พลังงานหมุนเวียน 902 เมกะวัตต์ เป็นในส่วนของพลังงานแสงอาทิตย์ 528 เมกะวัตต์และพลังงานลม 118 เมกะวัตต์ จากโซลาร์รูฟท็อปและทุนลอยนํ้า 256 เมกะวัตต์ ซึ่งมีเป้าหมายในปีหน้าเป็น 500 เมกะวัตต์ โดยในปี 2568 ตั้งเป้าหมาย ที่จะเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนให้ได้มากกว่า 1,100 เมกะวัตต์

“บ้านปู” ปรับโมเดลธุรกิจ ลดรายได้ถ่านหิน ลุยโรงไฟฟ้าก๊าซ-CCUS ในสหรัฐฯ

ทั้งนี้ จากล่าสุดที่ บริษัท บ้านปู เน็กซ์ หนึ่งในบริษัทเรือธงของกลุ่มบ้านปู เข้าไปซื้อหุ้นในบริษัท แอมป์ จำกัด (แอมป์ เจแปน) ในสัดส่วน 33.33 % ด้วยงบลงทุน 35 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จะส่งผลให้บ้านปูมีสัดส่วนพลังงานหนุนเวียนเพิ่มขึ้น จากการพัฒนาโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ และพลังงานลม 800 เมกะวัตต์ โดยตั้งเป้าหมายกำลังผลิตรวมเป็น 2,000 เมกะวัตต์ ภายในระยะเวลา 10 ปี

นอกจากนี้ ยังมีแผนในการขยายกำลังการผลิตไฟฟ้าในสหรัฐอเมริกาอีกราว 1,500 เมกะวัตต์ ภายในปี 2573 จากปัจจุบันมีโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ กำลังผลิตราว 1,523 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ 2.5 เมกะวัตต์ พร้อมทั้งตั้งเป้าหมายในธุรกิจกักเก็บคาร์บอน (CCUS) ที่ 16 ล้านตันต่อปี ภายในปี 2573

ปัจจุบันแหล่ง CCUS Barnett Zero มีปริมาณกักเก็บได้ที่ 183,000 ตัน และอยู่ระหว่างการพัฒนาแหล่ง Cotton Cove มีความสามารถในการกักเก็บอีก 43,000 ตัน ซึ่งจะเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ได้ในช่วงต้นปี 2569 ซึ่งในช่วงไตรมาส 3 ของปีนี้ แหล่ง Barnett Zero สามารถให้บริการอัดเก็บคาร์บอนได้ 50,361 ตัน เพิ่มขึ้นมา 17 % จากไตรมาส 2 ของปีนี้

“บ้านปู” ปรับโมเดลธุรกิจ ลดรายได้ถ่านหิน ลุยโรงไฟฟ้าก๊าซ-CCUS ในสหรัฐฯ

ส่วนโครงการแบตเตอรี่ฟาร์มอิวาเตะ โตโนะ (Iwate Tono) ในประเทศญี่ปุ่นกำลังผลิต 58 MWh ใกล้ก่อสร้างแล้วเสร็จคาดว่าจะสามารถเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ (COD) ได้ในไตรมาสที่ 2 ปี 2568

ขณะที่การก่อสร้างโรงงานประกอบแบตเตอรี่ DP Next ที่จังหวัดชลบุรีมีความคืบหน้ากว่า 92% มีกำหนดเริ่มเปิดดำเนินการเฟสแรก ภายในพฤศจิกายนนี้ โดยมีกำลังการผลิตเริ่มต้น 200 เมกะวัตต์ชั่วโมง