ตอนที่แล้ว กล่าวถึงการจัดกลุ่มประชากร พบว่า Gen Y มีจำนวนมากที่สุด ตอนนี้ขอยกตัวอย่าง สินค้าที่ประสบความสำเร็จที่ตอบโจทย์คน Gen Y เช่น โทรศัพท์มือถือ iphone ที่สินค้ามีความทันสมัยและตามกระแส ซึ่งจากผลสำรวจของ Forrester Research พบว่าผู้ใช้ส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มคน Gen Y อีกตัวอย่างสินค้าหนึ่งใกล้ตัวเข้ามาหน่อยคือ ตั๋วคอนเสิร์ตของศิลปินยุคปี 1990-1995 (พ.ศ.2533-2538) เป็นยุคที่คน Gen Y กำลังเข้าสู่วัยรุ่นทำให้มีความผูกพัน มีคุณค่าทางจิตใจ ซึ่งจะเห็นว่าเมื่อมีการเปิดจองตั๋ว ยอดจองหมดภายในเวลาไม่นานก่อนวันแสดงเกิดขึ้นจริงหลายอาทิตย์ จนต้องมีการขยายรอบใหม่ ชี้ถึงพลังการจับจ่ายใช้สอยของคน Gen Y ที่ไม่ธรรมดา
สำหรับช่องทางการเข้าถึงคน Gen Y จากพฤติกรรมที่คน Gen Y เป็นกลุ่มที่ใช้อินเตอร์เน็ตมากที่สุด เพราะมีความคุ้นเคยกับเทคโนโลยีนี้ดี ทำให้ช่องทางการขายสินค้าสามารถขายผ่านอินเตอร์เน็ตได้ โดยเฉพาะช่องทางยอดนิยม Social Media อาทิ YouTube, Line, Facebook ที่คน Gen Y ใช้เป็นประจำ ดังนั้น ผู้ประกอบการจะต้องออกแบบกลยุทธ์การเข้าถึงที่โดนใจคน Gen Y ซึ่งก็คือ การให้ข้อมูลสินค้าที่มากพอ มีเนื้อหาที่ชัดเจน มีการรีวิวสินค้า และที่สำคัญในเนื้อหาสินค้าจะต้องมีการตอบสนองประสบการณ์ของผู้ซื้อรายอื่นๆ ที่มีต่อสินค้านั้นๆ
อย่างไรก็ดี แม้ว่าคน Gen Y จะเป็นกลุ่มผู้บริโภคที่มีพลังในการซื้อสูง แต่ก็มี “ความเสี่ยง” ด้วยพฤติกรรมของคน Gen Y ที่เกิดมาในช่วงเศรษฐกิจดี พ่อแม่ดูแลเอาใจใส่อย่างดีจึงถูกตามใจตั้งแต่เด็ก ทำให้พฤติกรรมโดยรวมเป็นลักษณะด่วนตัดสินใจ คิดเร็ว ทำเร็ว ดังนั้น ถ้าสินค้าถูกใจแล้ว แม้จะแพงก็ยอมซื้อ ทำให้คน Gen Y เป็นกลุ่มที่ก่อหนี้เพื่อการบริโภคสูง เพราะอยู่ในวัยทำงานสามารถเข้าถึงแหล่งสินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลได้ง่าย โดยบริษัท ข้อมูลเครดิตบูโรแห่งชาติ จำกัด ออกมาแสดงความห่วงใยถึงสถานการณ์ภาระหนี้ของคน Gen Y ที่ “เป็นหนี้เร็ว และเป็นหนี้นาน” ซึ่งปัจจุบัน คน Gen Y มีหนี้สินรวมกว่า 2.13 ล้านล้านบาท คิดเป็น 18.5%ของหนี้ครัวเรือนทั้งประเทศ จะพบว่ามีความน่าเป็นห่วงไม่น้อยเพราะคน Gen Y เป็นกลุ่มที่อยู่ในช่วงของการทำงานที่เริ่มก่อร่างสร้างตัว ถ้าไม่สามารถจัดการปัญหาหนี้ได้ จะกระทบถึงครอบครัว สังคม และเศรษฐกิจของประเทศต่อไป
ผมขอสรุปสิ่งที่พูดมาทั้งหมดว่า คนกลุ่มใหญ่ของประเทศคือ คน Gen Y ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีทั้ง “โอกาส และความเสี่ยง” โอกาสคือ ผู้ประกอบการสามารถสร้างรายได้จากการขายสินค้าและบริการ ซึ่งต้องเข้าใจพฤติกรรมคน Gen Y ผมขอนิยามสินค้าและบริการที่จะเข้ามาครองใจคน Gen Y คือ “สินค้าที่ให้คุณค่าทางจิตใจ เป็นไปตามกระแส หาซื้อได้ง่าย ผ่านช่องทางออนไลน์โดยต้องมีข้อมูลการตัดสินใจที่มากพอ และต้องมีการแชร์ประสบการณ์ของผู้ใช้รายอื่นๆ ร่วมด้วย” สำหรับความเสี่ยงของคน Gen Y คือ “เป็นหนี้เร็วและเป็นหนี้นาน” จำเป็นที่คน Gen Y ต้องเพิ่มทักษะความรู้เรื่องการบริหารจัดการเงิน (Financial Literacy) เป็นเรื่องใหญ่ที่ภาครัฐ ธนาคารแห่งประเทศไทยและธนาคารพาณิชย์จำเป็นต้องร่วมกันให้ความรู้เพื่อปรับพฤติกรรมคนGen Y อันจะนำไปสู่การบริโภคภาพรวมของประเทศในระยะยาวที่เติบโตอย่างยั่งยืนครับ
ข้อคิดเห็นที่ปรากฏในบทความนี้ เป็นความคิดเห็นของผู้เขียน ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความคิดเห็นของ TMB Bank แต่อย่างใด