คอลัมน์ปฏิกิริยา ฐานเศรษฐกิจ
หน้า 7 ฉบับที่ 3493 ระหว่างวันที่ 4-7 สิงหาคม 2562 โดย บิ๊กอ๊อด ปากพนัง
ขณะที่ผู้คนหันมาใส่ใจดูแลสุขภาพกันมากขึ้น จะเห็นได้ว่าในสังคมโลกออนไลน์มีทั้งคลิป แอพ ออกกำลังกาย เมนูอาหารคลีน อาหารกรีน ฯลฯ เว็บ เพจ ร้านขายอาหารขายดิบขายดี ผ่านบริการแอพส่งอาหาร และทุกเจ้าก็ชูจุดเด่นว่าใช้วัตถุดิบมีคุณภาพ เช่น ใช้ผักปลอดสารพิษ ผัก ผลไม้ออร์แกนิก หรือผักอินทรีย์ ผักไฮโดรโปนิกส์ เป็นต้น แม้ว่าจะแพงกว่าอาหารปกติคนซื้อก็ยอมเพราะอยากมีสุขภาพดี กระทรวงสาธารณสุขก็ออกมารณรงค์ให้คนไทยหันมากิน “ผักครึ่งหนึ่ง อย่างอื่นครึ่งหนึ่ง”
พลันทำให้ผมนึกถึงสโลแกนของกระทรวงสาธารณสุขที่สวยงาม ไม่รู้ว่าท่านใดคิด “สุขภาพดีถ้วนหน้า” แต่ดูๆ แล้วคุณภาพชีวิตคนไทยช่างพลิกฝ่ามือ คือมันหมิ่นเหม่บนความอันตรายจากผักปนเปื้อน ผลไม้อาบยาพิษมากขึ้นเรื่อยๆ นะครับ
เพราะเมื่อปลายๆ เดือนมิถุนายนที่ผ่านมา เกิดความตระหนกขึ้นมาเมื่อเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (Thai Pan) ออกมาเปิดเผยผลการตรวจสอบผักผลไม้ที่สุ่มตรวจทั่วประเทศ ประจำปี 2562 พบสารพิษในผักและผลไม้ตกค้างเกินมาตรฐาน 41% เรียกว่าเกือบครึ่งหนึ่งทีเดียว บางชนิดมีอันตรายต่อระบบสืบพันธุ์ของผู้บริโภคหรือพัฒนาการสมองของเด็ก
ปฏิเสธไม่ได้ว่าผลตรวจดังกล่าวสะท้อนว่าคนไทย ทั้งคนจน คนรวย มีสิทธิ์เสี่ยงรับสารพิษที่จะได้รับจากกระบวนการผลิตผักผลไม้ที่ไม่ปลอดภัยทุกๆ ปีแบบไม่ได้ลดลงเลย
ที่ยืนยันอย่างนี้เพราะผมลองสืบค้นข้อมูลการตรวจสอบสารเคมีในผักผลไม้ในปีที่ผ่านๆ มา เปอร์เซ็นต์การปนเปื้อนเกิน 40%
หมายความว่าเป็นอะไรที่เหนือคำว่า “น่ากลัว” และ “ต่อเนื่อง” น่าจะตีความได้ว่า ตายผ่อนส่ง
แล้วพืชผักที่มีสารพิษตกค้างสูงก็เป็นของยอดนิยม เช่น พริก คะน้า กวางตุ้ง กะเพรา ส้ม มะละกอ ฯลฯ โดยนำมาจาก 2 แหล่งใหญ่คือห้างค้าปลีกสมัยใหม่ ผมไม่ต้องเอ่ยนะครับ คือแทบทุกห้างเลย และตลาดสดทั่วไปทั้งในกรุงเทพฯ เชียงใหม่ ขอนแก่น ยโสธร สระแก้ว จันทบุรี ราชบุรี และสงขลา
ยิ่งไปกว่านั้นกลับพบว่าระหว่างผักและผลไม้ที่ปลูกในประเทศกับผลไม้นำเข้าพบว่า ผลไม้นำเข้าพบสารตกค้างน้อยกว่าในประเทศ!
แต่ที่อึ้งกว่านั้นคือ ห้างใหญ่ขายแพงแล้วยังแถมมีสารพิษสูงกว่าด้วย หลายคนอาจสงสัย ลองสังเกตดูสิครับเรามักเห็นผักผลไม้ในห้าง หน้าตาสวยงามกว่าในตลาดใช่มั้ยครับ
นั่นแหละครับเหตุผล ที่ห้างเอาของสวยๆ มาให้กับคน “มีตังค์ จ่ายได้”
ดูเหมือนว่า ตลาดดังย่านจตุจักร อันเป็นที่รวมผักผลไม้ขึ้นชื่อ ราคาแพง ก็ติดอยู่ในกลุ่มนี้ด้วย
การออกมาเตือนภัย...นี่ผมก็เห็นด้วยนะครับทำให้เราตื่นตัว แค่ชั่วครั้งชั่วคราว ก็ไม่รู้จะทำอย่างไรดี นอกจากจะปลูกผักผลไม้กินเอง แต่มันเป็นไปได้น้อยมาก การสำรวจสารพิษปีแล้วปีเล่าผลก็เป็นทางลบ
แต่ผมว่า นี่เป็นปลายทาง ตราบใดต้นทาง คือแหล่งผลิต เกษตรกรไม่เปลี่ยนวิธีการผลิต ซึ่งผมคิดว่าการตลาดก็มีผล เช่น คนต้องการของสวยงาม เกษตรกรต้องการเงินเร็ว โดยเมินคุณภาพชีวิตทั้งของตนและคนกิน
หากจะพูดกันตรงไปตรงมา ไม่ว่าจะเป็นตลาดไหนก็ตาม เราไม่มีทางรู้ได้อย่างชัดเจนเลย แม้จะเคยได้ยินว่ามีบางห้างสุ่มตรวจผักผลไม้ที่ส่งมาขาย แต่คงไม่มีใครคอยติดตามตรวจสอบได้ทุกวันหรอก
หลายคนยังงงๆ และสับสนด้วยซํ้า กับการเรียกชื่อผักผลไม้ที่มีการผลิตแตกต่างกันออกไป ผมก็คนหนึ่งครับ
เรามาดูกันครับว่า ผักผลไม้ในตลาดทั่วไปกับผักผลไม้ที่แปะ “ยี่ห้อ” จริงๆ มีผักผลไม้อะไร ที่ไร้สารพิษจริงๆ เมื่ออ่านจบคุณอาจตกใจว่า แทบไม่มี แสดงว่าคนไทยทุกคนมีสิทธิ์ (ที่ไม่ต้องการ) รับสารพิษตกค้างเท่าๆ กัน
ผักอนามัย เป็นผักที่ใช้สารเคมีในการปลูก ทั้งปุ๋ยเคมี ยากำจัดศัตรูพืช + วัชพืช และฮอร์โมน แต่เป็นสารเคมีที่มีพิษตกค้างระยะสั้น และหยุดฉีดพ่นสารเคมี ก่อนวันเก็บเกี่ยว ตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ ผักจึงมีสารตกค้างอยู่บ้าง แต่ในปริมาณที่ไม่เกินค่ามาตรฐานที่องค์การอนามัยโลกกำหนด
ผักปลอดสารพิษ ไม่ได้แปลว่าปลอดสารเคมี แต่หมายถึง ผักที่ปลูกโดยใช้ปุ๋ยเคมี แต่จะไม่ใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช หรือ วัชพืชต่างๆ จึงจัดเป็นผักที่ปลอดภัยจากสารเคมีที่ใช้ฆ่าแมลง
ผักไฮโดรโพนิกส์ คือผักที่ปลูกด้วยนํ้า และบำรุงด้วยปุ๋ยเคมีชนิดนํ้า ก่อนจะตัดขายต้องหยุดให้ปุ๋ย ซึ่งจะทำให้ปุ๋ยเจือจาง
ถึงแม้จะมีสารเคมีอยู่บ้างแต่ทั้ง 3 ชนิด ก็ยังนับเป็นผักที่มีความปลอดภัยเพียงพอที่จะรับประทานอย่างน้อยก็ไม่น่าจะมีสารกำจัดศัตรูพืช
สุดท้าย ผักออร์แกนิก ในบ้านเรา จะใช้คำว่า “เกษตรอินทรีย์” ซึ่งจะต้องไม่ใช้สารเคมีใดๆ ในการเพาะปลูก ไม่ว่าจะเป็นปุ๋ยยาฆ่าแมลง รวมถึง ไม่ใช้เมล็ดพันธุ์ที่ตัดแต่งพันธุกรรม [GMOs] โดยจะเน้นปลูกพืชตามฤดูกาล ซึ่งผลผลิตจะดี ไม่มีการบังคับออกนอกฤดูกาล ใช้ปุ๋ยอินทรีย์ ปุ๋ยหมักบำรุงดิน แต่ผักออร์แกนิกนั้น มักมีราคาสูง เพราะว่า การปลูกโดยต้องสู้กับแมลง และโรคพืชต่างๆ แบบธรรมชาติ ยาก และใช้เวลา กว่าการใช้ยาและผลผลิตที่ได้ มักมีปริมาณ หน้าตา และขนาดไม่สวยงามใหญ่โต เหมือนผักที่ฉีดยา
การที่ไทยแพนเผยแพร่ผลสำรวจสารพิษตกค้าง โดยต้องนำตัวอย่างไปตรวจวิเคราะห์ที่ห้องปฏิบัติการที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน ISO-17025 ในประเทศสหราชอาณา จักร จากนั้นจึงนำผลตรวจมาเทียบกับค่ามาตรฐานของประเทศไทย ทำให้ผมรู้สึกฉงนเกี่ยวกับห้องปฏิบัติการของไทย อีกหน่วยงานคือ แล็บประชารัฐ บริษัท ห้องปฏิบัติการ กลาง (ประเทศไทย) จำกัด หรือ เซ็นทรัลแล็บไทย ที่ได้รับการยอมรับจากสหภาพยุโรป ในการตรวจวิเคราะห์ พืชผักผลไม้ส่งออก และได้รับการรับรองมาตรฐาน
ผมงงอยู่ว่าทำไมแล็บประชารัฐ ทำไม่ได้เหรอ ตรวจให้เท่าเทียมไปเลย แล้วนี่หมายความว่าอย่างไรครับท่าน ผักผลไม้มี 2 มาตรฐาน ส่งออกเกรดสูง กินเองเกรดตํ่างั้นรึ
คนไทยกินผักปนเปื้อน ส่วนต่างชาติจะกินผักไม่ปนเปื้อน คน ไทยแข็งแรงทนทานกว่ารึครับ
ทำไมคุณภาพชีวิตคนไทยถูกตีค่าตํ่าต้อยอย่างนี้
ทำให้ผมนึกถึงคนที่เคยไปประเทศญี่ปุ่นเมื่อหลายปีก่อน เขาบอกผมว่าสินค้าชนิดเดียวกัน ยี่ห้อเดียวกันที่เขาส่งออกกับที่คนญี่ปุ่นใช้กันเองในประเทศเป็นคนละเกรด คือ เกรดในประเทศจะสูงกว่า
นี่ไม่ใช่ปีแรกที่พบปริมาณสารพิษในพืชผักผลไม้เกินมาตรฐาน เป็นอย่างนี้มาก็หลายปีแล้ว พร้อมๆ กับที่เราจะเห็นข่าวเกษตรกรป่วยหรือเสียชีวิตจากการฉีดยาฆ่าหญ้า ยากำจัดศัตรูพืช ได้ยินแล้วอนาถใจทุกครั้ง รู้ทั้งรู้ก็ยังทำกัน เพราะคิดไม่ออก โดยทำอย่างนี้มาตั้งนานแล้ว
ผมอยากให้เกิดวาระแห่งชาติ ที่ทุกหน่วยงานที่มีผลต่อสุขภาพคนไทยเดินมาจับมือสามัคคีชุมนุมพร้อมกันไปเลยทั้ง เกษตร อุตสาหกรรม สาธารณสุข มาช่วยผู้บริโภคซึ่งก็รวมถึงรัฐมนตรีทุกคน ช่วยแนะแนวเกษตรกรให้หันทิศทางมาทำเกษตรแนวธรรมชาติ อย่างจริงจังสักที
อยากให้ตระหนักว่า ชีวิตคนไทย คือทรัพยากรที่มีค่ามากที่สุด
อย่างไรก็ดี ผมได้ทราบข่าว ดีว่า ฝ่ายค้านได้ออกมาหนุนภาคประชาสังคม เข้าพบรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง เพื่อแบนสารเคมีอันตรายร้ายแรง 3 ชนิด ได้แก่ พาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต โดยเร็วที่สุด โดย 7 พรรค ได้ประกาศพร้อมขับเคลื่อนให้มีการแบนสารพิษร้ายแรงให้เป็นวาระเร่งด่วน และเสนอต่อรัฐสภาให้มีการตั้งกรรมาธิการวิสามัญในประเด็นสารเคมีและความปลอดภัยทางอาหาร โดยขณะนี้ได้ถูกบรรจุในระเบียบวาระการพิจารณาของสภาแล้ว
ก็ได้แต่หวังว่า จะเป็นจุดเริ่มต้น...และเจอคนจริง...สักที เพื่อคุณภาพชีวิตคนไทย