ไชโย! ล้างดอกเบี้ยผิดนัด การตัดจ่ายหนี้ให้เป็นธรรม

31 ต.ค. 2563 | 08:12 น.

ไชโย! ล้างดอกเบี้ยผิดนัด การตัดจ่ายหนี้ให้เป็นธรรม : ทางออกนอกตำรา ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3623 หน้า 6 ระหว่างวันที่ 1-4 พ.ย.63 โดย... บากบั่น บุญเลิศ

มีการประเมินว่าผลจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 จะทำให้หนี้ผิดนัดชำระในระบบสภถาบันการเงินของประเทศไทย จะเพิ่มแบบพรวดพราดเป็นตัวเลข 2 หลัก แม้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทยจะประกาศเปิดทางให้ธนาคารพาณิชย์ขยายระยะเวลาการพักชำระหนี้เป็นรายกรณี ออกไปจนถึงมิถุนายน 2564 แต่เชื่อว่าจะไม่สามารถเยียวยาสถานการณ์ได้มากนัก

 

ในสถานการณ์ที่เป็นเช่นนี้ มีเรื่องหนึ่งที่ผมอยากพาทุกคนมาพิจารณาเพื่อให้เห็นภาพร่วมกัน นั่นคือ การกำหนดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ และการตัดจ่ายหนี้ของลูกหนี้ที่จ่ายเงินไม่ได้อย่างเป็นธรรมว่าควรคิดกันอย่างไร หรือจะปล่อยให้สถาบันการเงินประกาศกันตามกรอบข้อกำหนดของธนาคารแห่งประเทศไทยโดยเสรีเช่นในอดีต

 

เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ที่ วิรไท สันติประภพ อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้พยายามสร้างบรรทัดฐานขึ้นมา และได้ประกาศเจตนารมย์ไว้ในช่วงเข้ารับตำแหน่งอย่างชัดเจนว่า “การได้รับบริการทางการเงินอย่างเป็นธรรม ถือเป็นหนึ่งในสิทธิขั้นพื้นฐานที่ประชาชนพึงจะได้รับ” และล่าสุดธนาคารแห่งประเทศไทยได้ออกบทความชิ้นหนึ่งเพื่ออธิบายเรื่อง “การกำหนดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ และลำดับการตัดชำระหนี้อย่างไรให้เป็นธรรม”

 

ทว่าปัญหานี้กำลังปรับเปลี่ยนใหม่จากประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทยที่เริ่มใช้ในเดือนตุลาคม 2563 นี้ ผมจึงขอนำมาขยายให้ทุกคนได้เห็นภาพ และสามารถนำไปประยุต์ใช้ในการติดต่อกับบรรดาเจ้าหนี้

 

และนี่น่าเป็นครั้งแรกที่ธนาคารกลางกล้าประกาศว่า ในช่วงที่ผ่านมามีความหละหลวมในการคิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระ จนทำให้เกิดการเอาเปรียบประชาชน โดยไม่เหนียมอายอีกต่อไป

 

บทความชิ้นนี้ระบุว่า วิรไท เคยบอกว่า “เรื่องหนึ่งที่เราให้ความสำคัญมากขึ้น คือการดูแลผู้ใช้บริการทางการเงินที่มีหลากหลายกลุ่มให้ได้รับบริการทางการเงินอย่างเป็นธรรม เพราะในอดีตผู้บริโภครายเล็กไม่มีอำนาจต่อรองกับสถาบันการเงิน หรือพฤติกรรมของสถาบันการเงินที่ปฏิบัติต่อเนื่องมายาวนาน กลายเป็นเอาเปรียบผู้บริโภคเกินพอดี เช่น การคิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้และค่าธรรมเนียมหลายอย่างที่ไม่เป็นธรรมกับผู้บริโภค การบังคับขายประกันจนผู้บริโภคไม่อยากไปสาขาธนาคารพาณิชย์ การให้บริการทางการเงินที่ตรงกับความต้องการของผู้ขาย แต่ไม่ตรงกับความต้องการของผู้บริโภค ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ธปท. จึงได้ยกเครื่องกฎเกณฑ์การกำกับดูแลเรื่องการให้บริการลูกค้าอย่างเป็นธรรม ได้ทำงานร่วมกับองค์กรต่างๆ ด้านการคุ้มครองผู้บริโภค และเห็นการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น

ปัญหาเรื่องความไม่เป็นธรรมและความเหลื่อมล้ำเป็นปัญหาใหญ่ของระบบเศรษฐกิจไทย เราจะต้องให้ความสำคัญมากขึ้นและต้องทบทวนนโยบายอยู่ตลอดเวลาเพื่อสร้างความเป็นธรรมในสังคม”

 

ปฐมเหตุ หรือจุดเริ่มต้นที่นำมาสู่การออกประกาศการให้บิการการเงินอย่างเป็นธรรม เกิดจากข้อร้องเรียนจำนวนมากที่ประชาชนส่งมาเกี่ยวกับการคิดดอกเบี้ยผิดนัดและลำดับการตัดชำระหนี้

 

ดังเช่นตัวอย่างของลูกหนี้รายนี้ ผ่อนสินเชื่อบ้านเดือนละ 3,000 บาท (ซึ่งเป็นเงินต้นประมาณ 1,500 บาท และดอกเบี้ยตามสัญญา 1,500 บาท) แต่จ่ายชำระช้าเพียงครั้งเดียว ทำให้เกิดค้างชำระ และการคิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้แบบเดิมที่คำนวณจากฐานเงินต้นคงค้างทั้งหมด ทำดอกเบี้ยผิดนัดที่ต้องจ่ายสูงมาก (มากกว่า 2,000 บาท) ทำให้แม้ลูกหนี้จะจ่ายชำระหนี้เข้ามาอย่างต่อเนื่องในหลายงวดต่อมา แต่เงินที่จ่ายชำระหนี้เข้ามาถูกนำไปตัดดอกเบี้ยผิดนัดและดอกเบี้ยตามสัญญาก่อน และไม่ได้ถูกนำไปตัดชำระเงินต้นเลย

 

ธปท.จึงได้ออกประกาศเพื่อกำหนดแนวทางปฏิบัติในการคิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ และกำหนดลำดับการตัดชำระหนี้ ซึ่งได้ประกาศลงราชกิจจานุเบกษา ในเดือนตุลาคม 2563

 

ปกติเมื่อพูดถึงการผิดนัดชำระหนี้ คนส่วนใหญ่มักจะมุ่งความผิดมาที่ลูกหนี้แต่ฝ่ายเดียวว่า ไม่สามารถปฏิบัติได้ตามข้อกำหนดในสัญญา โดยไม่สามารถที่จะเห็น “ความเป็นไปได้อื่น” ที่อาจเป็นเหตุให้ลูกหนี้ผิดนัดชำระหนี้เช่น ค่าปรับที่สูงลิ่วทำให้จ่ายไม่ไหว และต้องผิดนัดจากค่าใช้จ่ายที่แพง หรืออาจจะไม่ได้ตระหนักว่า การที่ลูกหนี้ไม่สามารถปฏิบัติตามข้อตกลงที่เคยทำสัญญากันไว้นั้น เป็นไปได้หรือไม่ว่า เพราะข้อตกลงในสัญญาดังกล่าวอาจจะไม่เป็นธรรม จึงต้งออกประกาศมาเพื่อแก้ปัญหาความไม่เป้นธรรมจาการติดค่าปรับ

 

การออกประกาศของ ธปท.ในครั้งนี้ถือเป็นเปลี่ยนแปลงใหญ่ในแนวปฏิบัติเรื่องการคิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้และการกำหนดลำดับตัดชำระหนี้ให้สอดคล้องกับแนวปฏิบัติที่ดีในต่างประเทศ ซึ่งจะช่วยลดโอกาสการเกิดหนี้เสียหรือหนี้ด้อยคุณภาพของระบบโดยรวม และช่วยลูกหนี้ที่ไม่ตั้งใจจะผิดนัดให้สามารถจ่ายหนี้ได้ เนื่องจากดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้จะไม่สูงเกินสมควร จนทำให้ลูกหนี้จ่ายหนี้ไม่ได้ และช่วยลดการฟ้องร้องดำเนินคดี อีกทั้งการปรับปรุงการคิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ให้คำนวณจากฐานของงวดที่ผิดนัดจริง ก็จะช่วยทำให้เกิดความเป็นธรรมกับทุกฝ่ายมากขึ้น

 

1. ดอกเบี้ยปกติ (ดอกเบี้ยเงินกู้ปกติตามสัญญา) กับดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ ต่างกันอย่างไร? 

ดอกเบี้ยปกติ คือ ดอกเบี้ยที่เราตกลงจะชำระให้กับผู้ให้บริการในฐานะเจ้าหนี้เพื่อเป็นค่าตอบแทนจากการกู้ยืมเงิน โดยเราในฐานะลูกหนี้มีหน้าที่ที่จะต้องจ่ายทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยส่วนนี้ให้ตรงตามงวด หรือระยะเวลาที่กำหนดในสัญญา ซึ่งถ้าเราจ่ายค่างวดครบ จ่ายตรงเวลา (กำหนดการชำระหนี้)ภาระค่าใช้จ่ายที่เราต้องชำระจะประกอบด้วยเงินต้นและดอกเบี้ยตามสัญญาเท่านั้น

 

แล้วดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้เกิดขึ้นตอนไหน?

 

ดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ เกิดขึ้นเมื่อ “ลูกหนี้ผิดนัดชำระหนี้” จ่ายค่างวดไม่ครบ หรือจ่ายล่าช้า จะถือว่าเป็นการผิดนัดชำระหนี้ทั้งสิ้น ซึ่งการไม่สามารถชำระได้ตามสัญญา เจ้าหนี้จะกำหนดในสัญญาให้มีสิทธิที่จะเรียกเก็บดอกเบี้ยผิดนัดเพิ่มเติมจากดอกเบี้ยปกติได้ เพื่อชดเชยความเสี่ยงที่ต้องแบกรับหากลูกหนี้ไม่จ่ายชำระหนี้เลย จนกลายเป็นหนี้เสีย รวมถึงต้นทุนค่าเสียโอกาสในการนำรายได้ดอกเบี้ยและเงินต้นไปลงทุนต่อ

 

2. ที่ผ่านมาการผิดนัดชำระหนี้เกิดผลกระทบกับลูกหนี้อย่างไรบ้าง?

 

ก่อนที่ ธปท.จะออกหลักเกณฑ์กำหนดการคิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้นั้น ผู้ให้บริการคำนวณดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ด้วยวิธีการดังนี้

 

ดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้(ที่ต้องจ่ายเพิ่ม) = เงินต้นคงเหลือทั้งหมด x อัตราดอกเบี้ยผิดนัดชำระต่อปีx จำนวนวันที่ค้างชำระ  

 

สมมตินาย ก. กู้เงินซื้อบ้าน 5 ล้านบาท ผ่อนเดือนละ 42,000 บาท เป็นเวลา 20 ปี (240 งวด) ซึ่งเมื่อผ่อนไป 24 งวดมียอดหนี้ส่วนที่เป็นเงินต้นคงเหลือประมาณ 4.77 ล้านบาท แต่เมื่อถึงกำหนดชำระงวดที่ 25 นาย ก. ไม่สามารถจ่ายค่างวดเดือนนี้ได้ครบ 42,000 บาท ทำให้ผู้ให้บริการเรียกเก็บดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้

โดยได้กำหนดอัตราดอกเบี้ยในกรณีผิดนัดชำระหนี้ของสินเชื่อบ้านไว้ที่ 15% (ประกอบด้วยอัตราดอกเบี้ยปกติ 8% และอัตราดอกเบี้ยปรับที่ต้องจ่ายเพิ่มกรณีผิดนัดชำระหนี้7%) และ นาย ก. ค้างชำระ 1 เดือน (30 วัน)

 

ดังนั้น ดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ส่วนเพิ่มที่ นาย ก. ต้องชำระของงวดที่ 25 จะคิดเป็นยอด [4.77 ล้านบาท x (7%) x 30/365] = 27,443.84 บาท นอกจากดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้แล้ว นาย ก. ยังคงมีภาระดอกเบี้ยปกติตามสัญญาอีก 32,000 บาท

 

ดังนั้น นาย ก. จะมีดอกเบี้ยที่ค้างชำระในงวดที่ 25 ทั้งหมด 32,000 + 27,443.84 = 59,443.84 บาท

 

จะเห็นได้ว่าในงวดที่ 25 เมื่อ นาย ก. ไม่สามารถชำระหนี้ได้ จะมีภาระจากดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้เพิ่มเกือบเท่าตัว โดยมีสาเหตุหลักมาจากฐานเงินต้นที่สูงและอัตราดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ที่สูงมากนั่นเอง

 

นอกจากนี้หากในงวดที่ 26 นาย ก. ยังไม่สามารถชำระยอดค้างชำระทั้งหมดได้ นาย ก. จะมีภาระดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ ซึ่งเกินความสามารถในการชำระหนี้ของ นาย ก. และทำให้โอกาสในการกลับมาเป็นหนี้ปกติเป็นไปได้ยากยิ่ง

 

การคิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้แบบเดิม คือ การคิดจากฐานของยอดหนี้คงค้างทั้งหมด ทำให้ลูกหนี้มีภาระดอกเบี้ยสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ และมีผลทำให้ลูกหนี้รายนี้ที่เดิมจ่ายค่างวดล่าช้าเพียงงวดเดียว ต้องผิดนัดชำระหนี้ในหลายงวดต่อ ๆ มา แม้ลูกหนี้เองจะจ่ายชำระค่างวดเข้ามาอย่างต่อเนื่องแล้วก็ตาม ความไม่เป็นธรรมแบบนี้กำลังถูกแก้ไขไปหลังจากนี้  

 

แก้กันอย่างไรมาติดตามกันตอนต่อไป....