"สำรวมชีวิต คือ ธรรมของมนุษย์ที่ควรมี"

14 เม.ย. 2564 | 21:30 น.

"สำรวมชีวิต คือ ธรรมของมนุษย์ที่ควรมี" : ทำมา... ธรรมะ โดย ราช รามัญ

 

องค์ทะไลลามะ พำนักอาศัย อยู่ในประเทศอินเดียมายาวนานด้วยการลี้ภัย ท่านอาศัยอยู่ที่ธรัมศาลา หรือ ที่คนไทยเรียกว่าธรรมศาลา เพราะออกเสียงง่ายกว่า

ในช่วงฤดูหนาวนักบวชของทิเบตที่เราเรียกว่า ลามะ จะอพยพมาอยู่ด้านล่างแถวๆ รัฐพิหาร ตรงบริเวณพุทธคยาจำนวนมากและในปีองค์ดาไลลามะ ก็ได้เสด็จมาประทับที่นี่ด้วยธรรมะที่ท่านมาบรรยาย

โดยมากจะเป็นธรรมะสำหรับในการปฏิบัติของคนธรรมดาๆ ธรรมะที่ท่านเน้น มักจะเป็นการใช้ชีวิตสิ่งที่ท่านเน้นมากที่สุด ดูเหมือนจะเป็นเรื่องของความสุขเพราะท่านอยากให้มนุษย์ทุกคนมีความสุข

เรื่องแรกที่ท่านเน้นสอนอยู่เป็นประจำ คือเรื่องของความกรุณาในหัวใจ ซึ่งเป็นธรรมะที่ฟังดูง่ายๆ แต่เราต้องมีความตั้งมั่นในการที่จะปฏิบัติและเป็นการปฏิบัติที่เริ่มต้นจากความคิดแล้วเชื่อมโยงไปสู่ความรู้สึก

เพราะคำว่าความกรุณาในหัวใจ นั่นหมายถึงการเห็นอกเห็นใจผู้อื่น เวลาที่เขามีความทุกข์ปรากฏขึ้นมา ลองถามตัวเราดูว่าเราเคยที่เห็นอกเห็นใจผู้อื่นบ้างหรือไม่ในยามที่เขานั้นมีความทุกข์

ไม่ว่าเขาจะเป็นคนที่เรารู้จักหรือไม่ก็ตาม ถ้าเราทำได้ใจของเราจะสงบพร้อมกับใจของเราจะสูงขึ้นทีละนิดทีละนิด

เมื่อความกรุณาในหัวใจเกิดขึ้นสิ่งต่อมาก็คือความเมตตาจะปรากฏตาม ในหัวใจของเราเองโดยอัตโนมัติแล้วเราก็จะมีความรู้สึกอยากช่วยเหลือผู้อื่นเท่าที่เรามีความรู้ความสามารถ

ในภาวะโรคระบาด covid เช่นนี้ถ้าเรามีความกรุณาในหัวใจพร้อมที่จะช่วยเหลือผู้อื่นเท่าที่ทำได้ ก็คือการดูแลตัวเองไม่ปล่อยให้ตัวเองเป็นภาระของสังคม

เว้นระยะห่างใส่แมสหยุดพักไม่เคลื่อนไหวไปไหนเกินความจําเป็น เท่านี้ก็เรียกได้ว่าเราได้ปฏิบัติธรรมอย่างหนึ่งในหัวข้อธรรมความกรุณาในหัวใจแล้ว

ที่สำคัญตัวเราเองไม่เป็นต้นเหตุแห่งความทุกข์ของผู้อื่น  ใครที่สามารถปฏิบัติเช่นนี้ได้เรียกได้ว่ามีธรรมในใจมีใจที่สูงขึ้นแล้วเราทุกคนก็จะสามารถผ่านพ้นวิกฤตโรคระบาดนี้ไปได้ด้วยกัน 

จึงมีคำกล่าวเอาไว้ว่า ความกรุณาในหัวใจทำให้เกิดเมตตาธรรมค้ำจุนโลก