ไม่เฉพาะการกระจายวัคซีนลงไปในแต่ละพื้นที่ แต่ละจังหวัดเท่านั้นที่เกิดความปั่นป่วนกันทั้งบ้านทั้งเมือง แม้แต่ปริมาณวัคซีนที่ตกลงกันไว้ว่า จะนำมาฉีดให้กับประชาชนที่ลงทะเบียนจองกันไว้ก็ปั่นป่วน สับสนอลหม่านกันไปทั้งเมือง
เพื่อให้เห็นภาพ ผมประมวลให้เห็นรายละเอียดใน 3 ประเด็นหลักไป ดังนี้...
ประเด็นว่าด้วยเรื่อง “วัคซีนขาด-วัคซีนไม่พอ-วัคซีนเหลื่อมล้ำ” เป็นจริงหรือไม่?
1.โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ได้ประกาศประชาสัมพันธ์ ระบุว่า ตั้งแต่วันที่ 24 พฤษภาคม 2564 เป็นต้นไป ศูนย์บริการฉีดวัคซีนโควิด-19 ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ มีเฉพาะวัคซีน Sinovac ให้บริการประชาชนเท่านั้น สำหรับผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไปสามารถรับวัคซีน Sinovac ได้
“แต่” หากต้องการรับวัคซีน AstraZeneca และมีนัดหมายเข้ามาในช่วงนี้ สามารถแจ้งความประสงค์เลื่อนวันนัดรับวัคซีนของท่านออกไปก่อนได้ที่เบอร์ 0 2576 6833-36 และเมื่อโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ได้รับการจัดสรรวัคซีน AstraZeneca มาเพิ่มเติมแล้ว จะประกาศแจ้งให้ทุกท่านทราบอีกครั้ง
2.เฟซบุ๊ก คณะแพทย์วชิรพยาบาล มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช แจ้งเลื่อนวันเข้ารับวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) “แอสตร้าเซนเนก้า” เข็มที่ 2 ระหว่างวันที่ 25 พฤษภาคม-4 มิถุนายน 2564 โดยหากทางโรงพยาบาลได้รับวัคซีนเมื่อไร จะรีบแจ้งให้ทราบต่อไป
3.นพ.พฤหัส ต่ออุดม ผู้อำนวยการโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ กล่าวว่า รพ.ธรรมศาสตร์ ฉีดวัคซีนให้บุคลากรของ รพ.ไปก่อนหน้านี้ครอบคลุมร้อยละ 90 แต่ที่ขอเพิ่มนี้เป็นภารกิจการฉีดวัคซีนในรูปแบบกลุ่มองค์กร ตามที่รัฐบาลได้ประกาศเป็นนโยบายออกมา โดยขอไปทั้งหมด 12,000 โดส ครอบคลุมบุคลากร รพ.ของมหาวิทยาลัย สถาบันเอเชียศึกษา และ สวทช. ซึ่งเป็นกลุ่มที่ให้บริการ รพ.และ รพ.สนาม และสถานกักกันโรคแบบองค์กร เพื่อเตรียมพร้อมก่อนที่จะมาปฏิบัติหน้าที่ในการฉีดวัคซีนสำหรับประชาชนตามที่รัฐบาลประกาศว่า ให้ฉีดในวันที่ 7 มิ.ย.เป็นต้นไป
“ที่จริงเรากำหนดว่า จะฉีดวันที่ 24 พ.ค.-4 มิ.ย. แต่เมื่อวันเสาร์ที่ 22 พ.ค.ที่ผ่านมา ได้รับการประสานแจ้งว่า เนื่องจากขณะนี้มีหลายหน่วยงานที่ทำเรื่องขอฉีดแบบกลุ่มองค์กรเข้ามามาก ดังนั้น จึงมีวัคซีนให้ รพ.ธรรมศาสตร์ 6,000 โดส ทำให้ทางเราต้องตัดคนที่นัดไว้ลงไปครึ่งหนึ่ง หรือ 6,000 คน ออกไปก่อน ในส่วนที่ถูกตัดออกก่อนนั้นก็พยายามประสานอยู่ แต่ยังไม่ได้รับคำตอบ แล้ววัคซีนซิโนแวค ถ้าฉีดล่าช้าไปในช่วงนี้ ก่อนไปปฏิบัติหน้าที่ที่ต้องเจอคนมากนั้น ก็จะกลายเป็นความเสี่ยง เพราะเราต้องไปช่วยในการจัดคิวการฉีดวัคซีนประชาชนวันละ 2,000 คน เริ่มวันที่ 7 มิ.ย.นี้เป็นต้นไป ซึ่งมีประชาชนจองคิวเต็มไปจนถึงเดือน ก.ค.แล้ว” นพ.พฤหัส กล่าว
ข้อมูลนี้สะท้นออกมาว่า วัคซีนในประเทศเราขาดและไม่พอเป็นจริง เรื่องนี้บอกให้คนไทยทั้งประเทศเห็นว่า การจัดการในเรื่องวัคซีนที่มีอยู่อย่างจำกัดในประเทศไทย สับสนอลหม่าน ไร้ความเป็นมืออาชีพจริง!
ประเด็นต่อมา “วัคซีนแอสตร้า เซนเนก้า” ที่ตกลงกันไว้ว่า จะเข้ามากระจายในประเทศไทยในเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน เพื่อปูพรมฉีดทั่วประเทศมาตามนัด หรือไม่ เพราะจนถึงบัดนี้ยังหาคำตอบไม่ได้ว่า จะทำตามที่ประกาศไว้ว่า จะปูพรมฉีดเดือนละเป็นแสนโดสในแต่ละจังหวัดได้หรือไม่...
ตรงนี้จะเป็นประเด็นปัญหาใหญ่สุด หลังจากนี้ไปรัฐบาลจะจัดการในเรื่องวัคซีนกับคนไทยอย่างไร...ไปหาคำตอบกัน....
25 พ.ค.2564 นายสาธิต ปิตุเตชะ รมช.สาธารณสุข กล่าวถึงกรณีวัคซีนโควิด-19 ของแอสตร้า เซนเนก้าที่ทางการไทยได้ยื่นคำขอพิเศษนั้น ตามกำหนดจะเข้ามาในเดือน พ.ค.2564 จำนวน 1.7 ล้านโดส แต่ขณะนี้ยังไม่ได้ส่งมอบมาให้ โดยบริษัทขอส่งเป็นงวดปกติ เนื่องจากมีข้อติดขัดแต่ไม่ได้แจ้งให้ทราบ ซึ่งตามสัญญากำหนดจะส่งมอบในเดือน มิ.ย.นี้ จำนวนเบื้องต้น 6.3 ล้านโดส ส่วนจะเป็นวันไหน รมว.สาธารณสุข และสถาบันวัคซีนอยู่ระหว่างพูดคุยกับทางบริษัท
25 พ.ค.2564 นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข กล่าวถึงกรณีหน่วยบริการหลายแห่งเลื่อนการฉีดวัคซีนแอสตร้า เซนเนก้าเข็มที่ 2 ออกไปเนื่องจากกังวลเรื่องวัคซีนจะมาไม่ทันตามกำหนดนั้น ขอชี้แจงว่า บริษัท แอสตร้าเซนเนก้า ไม่ได้กำหนดส่งในวันที่ 1 มิถุนายน 2564 แต่จะเริ่มจัดส่งภายในเดือนมิถุนายน และทางบริษัทก็รับทราบกำหนดการที่รัฐบาลวางแผนฉีดวัคซีนแบบปูพรมอยู่แล้ว...
“ประเทศไทยยังมีวัคซีนซิโนแวคพร้อมอยู่ และมั่นใจว่าบริษัทแอสตร้าเซนเนก้า จะส่งวัคซีนตามข้อกำหนด โดยสัญญาระบุว่า หากวัคซีนที่ผลิตในไทยยังจัดส่งไม่ได้ก็ต้องจัดหามาจากแหล่งผลิตอื่นส่งให้ไทย ยืนยันเรามีวัคซีนฉีดให้กับพี่น้องประชาชนตามกำหนดของรัฐบาลแน่นอน และทางบริษัทไฟเซอร์ได้มาหารือเกี่ยวกับเอกสารสำหรับยื่น ถือเป็นการนับหนึ่ง ทุกอย่างก็เป็นไปตามแผน อย่าไปกังวล” นายอนุทิน ชี้แจง
“กระทรวงสาธารณสุขบอกได้เพียงว่า มีสัญญาระหว่างกันต้องปฏิบัติตามสัญญาที่ทำไว้ เมื่อส่งของมาแล้วก็ต้องชำระเงินให้ทันเวลา ซึ่งทางแอสตร้าเซนเนก้า ระบุว่า อยู่ระหว่างการดำเนินการ แอสตร้าเซนเนก้า เป็นผู้ผลิต กระทรวงสาธารณสุขเป็นผู้ซื้อ เมื่อถึงเวลาที่กำหนดไว้ในระยะเวลาก็ต้องส่งของมา โดยทางบริษัทยืนยันว่า จะปฏิบัติตามข้อตกลงที่ทำไว้ในเงื่อนไขสัญญา”
ผู้สื่อข่าวถึงกรณีคำถามว่า ในวันที่ 7 มิ.ย.ที่จะมีการฉีดวัคซีนป้องกันโควิดให้ประชาชนที่จองผ่านหมอพร้อม จะเป็นวัคซีนของแอสตร้าเซนเนก้าหรือไม่ ซึ่งนายอนุทินยิ้มพยักหน้าตอบว่า “อือ ใครมาบอกให้ผมลาออก แล้วถ้ามี ก็ขอให้คนพูดลาออกด้วย” เมื่อถามย้ำว่า คำว่า “อือ” นั้นแปลว่า “ใช่” ใช่หรือไม่ นายอนุทิน กล่าวว่า “มีคนมาบอกว่า ถ้าแอสตร้าฯไม่มี รัฐมนตรีต้องลาออก แต่ถ้ามี คนที่เสนอมา ก็ต้องลาออกด้วย”
สะท้อนว่า ปัญหาวัคซีน เป็นปัญหาทางการเมืองของประเทศไปแล้ว
คราวนี้เมื่อนักข่าวถามว่า การเริ่มฉีดวัคซีนให้ประชาชนวันที่ 7 มิ.ย.2564 จะเป็นของแอสตร้าเซนเนก้าทั้งหมดหรือไม่?
นายอนุทิน กล่าวว่า “จะเป็นแอสตร้าเซนเนก้าทั้งหมดได้อย่างไร เรามีหลายยี่ห้อ ฉีดวัคซีนกระจายทั่วไป ทุกคนจะได้รับวัคซีนที่ดี มีมาตรฐานที่เหมาะสม”
ไม่ต้องแปลก็บอกได้ว่า วัคซีนที่จะปูพรมฉีด ไม่ใช่แอสตร้าเซนเนก้า แน่นอน!
เมื่อเป็นเช่นนี้ มาตรการปูพรมฉีดวัคซีนทั่วประเทศในวันที่ 7 มิ.ย.ที่กำหนดในแผนฉีดวัคซีนให้ทุกกลุ่มที่ลงทะเบียนผ่านหมอพร้อม โดยจะใช้วัคซีนที่มีทั้งหมดในประเทศไทย ขอบอกในที่นี่เลยว่า ส่วนใหญ่จะเป็นชิโนแวคจนกว่าวัคซีน แอสตร้า เซนเนก้า 6 ล้านโดส จะมาถึง!
ประเด็นต่อมาคือการจัดการกระจายวัคซีนลงไปในแต่ละจังหวัดตามความเสี่ยง “สีแดงเข้ม-สีแดง-สีส้ม-สีเหลือง-สีเขียว” นั้นมีความเป็นธรรม มีการกระจายแบบเหลื่อมล้ำ เป็น “วัคซีนการเมือง” หรือไม่
ก่อนจะไปดูรายละเอียดว่า พื้นที่แต่ละจังหวัดได้รับวัคซีนตามแผนปูพรมฉีดในเดือนมิถุนายน กรกฎาคม สิงหาคม และกันยายน อย่างไร
ไปดูคำตอบของรองนายกฯและรมว.สาธารณสุขตอบคำถามของนักข่าวที่ซักถามกรณี ส.ส.กาญจนบุรี พรรคภูมิใจไทย กล่าวถึงการจัดลำดับความเร่งด่วนของพื้นที่ในการฉีดวัคซีนในเดือนมิถุนายน-กันยายน ว่า รู้สึกไม่สบายใจและไม่เข้าใจการแบ่งพื้นที่เพราะจังหวัดกาญจนบุรีอยู่ในกลุ่มที่ 2 ที่เป็นจังหวัดที่มีชายแดนติดกับประเทศเพื่อนบ้าน มีความเร่งด่วนในการฉีดวัคซีนแต่ได้รับน้อย
นายอนุทิน กล่าวว่า เป็น ส.ส.ก็นึกถึงประชาชน เขามีสิทธิบ่น เราก็ต้องทำให้ดีที่สุด ต้องถามอธิบดีกรมควบคุมโรคว่า มีการจัดแผนกระจายวัคซีนอย่างไร เพราะตอนนี้ สธ.เป็นผู้ส่งวัคซีน ตามคำสั่งจากศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ที่มีประธาน คือ พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) คณะกรรมการจะหารือกับ ปลัด สธ. อธิบดีกรมควบคุมโรค พิจารณาว่าจะส่งไปที่ไหน เมื่อไหร่ อย่างไร
“หากตกลง เห็นด้วย ไม่มีใครโอเวอร์เคลมมา ขอเยอะไว้ก่อน เขาก็มีวิธีบริหารจัดการ มีสูตรการคำนวณของเขา เมื่อตกลงกันได้ กรมควบคุมโรค ในฐานะผู้ถือสต๊อกวัคซีน ก็ส่งไปให้ตามขั้นตอนปกติ” นายอนุทิน ชี้แจง
ถ้าแปลตามคำชี้แจงของรองนายกฯ อนุทิน แปลว่า ไม่มีโอเวอร์สต๊อก ไม่มีการเมืองในการกระจายวัคซีน....
แล้วตัวเลขการฉีดวัคซีนเป็นเช่นไร จังหวัดไหน ได้ฉีดช่วงไหนในการปูพรม
ผมพามาติดตามกันตามตารางนะ ลองทาบตัวเลขดีๆ และไปเทียบกับอัตราจำนวนประชากรด้วยก็ดีอย่างยิ่ง
รับรองคุณต้องอึ้ง...จังหวัดพื้นทีสีเขียวบางจังหวัดที่นักการเมืองใหญ่ มีครูใหญ่บัญชาการ ได้รับวัคซีนมากกว่าจังหวัดพื้นที่สีเหลือง และได้รับวัคซีนมากกว่าใครเพื่อนด้วยนะเออ....
จังหวัดไหนนะหรือ ไปดูกันเอาเองแล้วกันครับ ผมขี้เกียจจะบอก...เดี่ยวโดน!