ประเด็นร้อน“เศรษฐกิจจีนดิ่งหัวจริงหรือ?" (1)

19 ส.ค. 2566 | 03:05 น.
อัปเดตล่าสุด :19 ส.ค. 2566 | 03:13 น.

ประเด็นร้อน“เศรษฐกิจจีนดิ่งหัวจริงหรือ? (1) : คอลัมน์มังกรกระพือปีก โดย...ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน หนังสือพิมพิ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3916

ภายหลังทางการจีนประกาศตัวเลขเศรษฐกิจจีน 7 เดือนแรกของปี 2023 ถูกประกาศออกมา ก็มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากนักวิชาการและสื่อกันขรม กลายเป็นประเด็นที่คนที่สนใจเรื่อเศรษฐกิจ สอบถามกันเข้ามามากมาย เศรษฐกิจจีนแย่จริงหรือไม่ และจะเกิดอะไรขึ้นตามมา ...

ประการแรก ในภาพรวม เศรษฐกิจจีนช่วงครึ่งปีแรกเติบโต 5.5% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา คิดเป็นมูลค่ารวม 59.3 ล้านล้านหยวน หรือราว 8.3 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยจำแนกเป็นการขยายตัวที่ระดับ 4.5% ในไตรมาสที่ 1 และอัตรา 6.3% ในไตรมาสที่ 2 

ในมุมมองของผม การเติบโตในอัตราดังกล่าวก็ไม่ได้เลวร้ายอย่างที่เกิดเป็นกระแส ทั้งนี้ ประเด็นที่มีการวิพาษณ์วิจารณ์กันมากก็เพราะอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 2 ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์เคยคาดการณ์ไว้ที่ราว 7.1-7.3% 

การคาดการณ์ดังกล่าวส่วนใหญ่ถูกปรับเพิ่มขึ้น หลังจากตัวเลขเศรษฐกิจในช่วงไตรมาสแรก ออกมาสูงกว่าการคาดการณ์ในช่วงก่อนหน้านั้นมาก โดยนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ประมาณการณ์ไว้ที่ 4% เลยคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจในไตรมาสที่ 2 จะได้รับประโยชน์จากโมเมนตัมการเติบโตในช่วงไตรมาสแรก

ข้อสังเกตก็คือ อัตราการเติบโตเศรษฐกิจที่ต่ำกว่าความคาดการณ์เกิดขึ้น เพราะปัญหาเศรษฐกิจเอง หรือ การคาดการณ์ที่สูงเกินกว่าความเป็นจริง เพราะ ณ ระดับการเติบโตดังกล่าว ก็ถือว่าสูงมากเมื่อเทียบกับของเศรษฐกิจขนาดใหญ่ 

ในช่วงเวลาเดียวกัน เศรษฐกิจของสหรัฐฯ ที่มีจีดีพีใหญ่สุดในโลก ขยายตัว 1.8% ยูโรโซนก็เติบโตเพียง 1% ญี่ปุ่นที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 ของเอเซียก็ทำได้แค่ 1.9% และ บราซิล ที่มีจีดีพีใหญ่สุดในละตินอเมริกาก็ขยายตัว 4%

เครื่องยนต์เศรษฐกิจหลักที่รัฐบาลจีน มุ่งหวังใช้ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ก็ได้แก่ “การบริโภคภายในประเทศ” ก็ทำได้ไม่เลว แต่อาจต่ำกว่าความคาดหวังเช่นกัน  

การค้าปลีกของจีนในช่วงครึ่งแรกของปีเติบโต 8% เศษ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สูงกว่าอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของช่วงเวลาเดียวกัน ซึ่งสะท้อนว่า การบริโภคภายในประเทศมีบทบาทสูงขึ้นต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน 

ขณะเดียวกัน อัตราเงินเฟ้อหลัก (Core Inflation) ที่ไม่รวมราคาพลังงาน และอาหาร ที่ผันผวนมากในช่วงปีที่ผ่านมา ก็ยังขยายตัวเป็น 0.8% จาก 0.4 ในเดือนมิถุนายน

อย่างไรก็ดี ประเด็นที่น่าติดตามอย่างใกล้ชิดก็ได้แก่ ตัวเลขดัชนีราคาสินค้าผู้บริโภค (CPI) ในเดือนกรกฎาคมที่ลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 โดยดิ่งไปอยู่ที่ -0.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และเป็นการติดลบครั้งแรกของปีนี้ 

ขณะเดียวกัน ดัชนีราคาหน้าโรงงาน (PPI) ในเดือนกรกฎาคม เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ก็ยังคงชะลอตัวอย่างต่อเนื่องในระดับ 4.4% จากระดับ 5.4% ในเดือนมิถุนายน 

ส่วนนี้มีประเด็นที่ไทยต้องระวังเช่นกัน เพราะ PPI ที่ชะลอตัว เมื่อผสมโรงกับค่าเงินหยวนที่ลดลง ก็อาจเป็นสัญญาณเชิงลบต่อผู้ผลิตสินค้าไทย เพราะเมื่อผู้ประกอบการจีนขายสินค้าในประเทศได้ไม่ดี ก็อาจพยายามผลักดันสินค้าที่ค้างสต็อกไปยังตลาดต่างประเทศในราคาสินค้าที่ต่ำลง

อัตราเงินเฟ้อและบรรยากาศการจับจ่ายใช้สอยโดยรวมในจีน ก็ดูจะต่ำกว่าที่หลายฝ่ายคาดหวัง ผู้คนในจีนส่วนใหญ่ก็รู้สึกได้ว่า เศรษฐกิจจีนไม่สะพัดเหมือนยุคก่อนโควิด  

ขณะเดียวกัน อัตราการออมที่เพิ่มขึ้นสะท้อนว่า ภาคเอกชนและประชาชนไม่มั่นใจในสภาวะเศรษฐกิจที่รออยู่ข้างหน้า ยิ่งพอตัวเลขเดือน 7 ออกมา หลายฝ่ายก็เริ่มกังวลใจกับสภาวะ “เงินฝืด” 

แต่ผมมองว่า “กำลังซื้อ” ของจีนยังทรงพลังอยู่ จีนยังไกลจากสภาวะเงินฝืดอยู่มาก ยิ่งเมื่อดูจากจังหวะเวลาของการท่องเที่ยว และการจับจ่ายใช้สอยของคนจีน และมาตรการกระตุ้นการบริโภคระลอกใหม่ของรัฐบาลแล้ว ผมก็ประเมินว่า ภาคการบริโภคภายในประเทศจะกลับมาแข็งแกร่ง และ CPI จะกลับมาเติบโตเป็นบวกใน 1-2 เดือนข้างหน้านี้

ช่วงครึ่งหลังของปีอาจถือว่าเป็น “ฤดูกาลท่องเที่ยว” ของจีน เริ่มจากช่วงปิดเทอมภาคฤดูร้อนราว 2 เดือน ที่พ่อแม่ผู้ปกครองต่างต้องการพาลูกหลานออกเที่ยวทั้งในและต่างประเทศ

ดังนั้น หากท่านผู้อ่านไปหัวเมืองสำคัญด้านการท่องเที่ยวในช่วงนี้ อาทิ ปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ กวางโจว ชิงเต่า หังโจว ซูโจว และ เฉิงตู ก็จะพบเห็นผู้คนมากมายตามสถานที่ท่องเที่ยว และจุดบริการขนส่งสาธารณะ รวมไปถึงห้างสรรพสินค้า 

ท่ามกลางสภาอากาศที่ร้อนจัดในช่วงนี้ ห้างฯ กลายเป็นจุดนัดพบยอดนิยม ร้านอาหารและเครื่องดื่มคราคร่ำไปด้วยผู้คน มุมสงบที่มีเก้าอี้ หรือแม้กระทั่งริมทางเดินและบันไดภายในห้างฯ ต่างคราคร่ำไปด้วยผู้คนที่ต้องการเข้าไปรับ “ไอเย็น” 

บางหัวเมืองก็ยังเป็นเจ้าภาพงานใหญ่มากมาย อาทิ งานกีฬามหาวิทยาลัยโลกช่วงปลายเดือนกรกฎาคม-ต้นเดือนสิงหาคม ที่ เฉิงตู และงานเอเชี่ยนเกมส์ช่วง 23 กันยายน ถึง 8 ตุลาคม ที่หังโจว 

รวมทั้งงานประชุมสัมมนาและงานแสดงสินค้าขนาดใหญ่ อาทิ CIFTIS งานแฟร์ด้านธุรกิจบริการที่ใหญ่สุดในโลก ณ กรุงปักกิ่ง งาน CIIE พี่ใหญ่แห่งงานแสดงสินค้านำเข้าของโลกในช่วง 5-10 พฤศจิกายน ที่ นครเซี่ยงไฮ้ และงานประชุมด้านบิ๊กดาต้า ปัญญาประดิษฐ์ และ IoTs รวมทั้งนวัตกรรมอื่นระดับโลกตลอดช่วงครึ่งหลังของปีที่นครหังโจว 

นี่ไม่นับรวมงานแสดงสินค้าระดับนานาชาติ ที่จะจัดขึ้นในหัวเมืองต่างๆ ทั่วจีนในสารพัดประเภทสินค้าและบริการ แต่ละงานแสงสินค้าดังกล่าวถูกยกระดับความสำคัญกันขนานใหญ่ตามนโยบายให้ความสำคัญกับกิจกรรม “ออฟไลน์” ของคณะรัฐมนตรีจีนก่อนหน้านี้

นัยว่าเพื่อสร้างความกระชุ่มกระชวย “ปลุกผี” กิจกรรมเหล่านี้  หลังจากที่ประสบกับวิกฤติโควิดในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา 

นอกจากนี้ แม้กระทั่งในเมืองรอง ก็ยังขยันจัดงานเช่นกัน ผมเองก็พึ่งกลับจากการเดินทางไปร่วมงาน “Jinan Talks” ที่จัดขึ้นอย่างคึกคัก เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม ที่ผ่านมา ณ โรงแรมเชอราตัน เยื้องกับเทศบาลเมืองจี่หนาน เมืองเอกของมณฑลซานตง 

ในปีนี้ รัฐบาลจี่หนาน เจ้าภาพหลักของการจัดงาน ได้เชิญผู้แทนภาครัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเอกอัครราชทูต กงสุลใหญ่ และ กงสุลพาณิชย์ และภาคเอกชน รวมทั้งองค์กรไม่แสวงหากำไร อาทิ หอการค้านานาชาติ และองค์กรด้านวัฒนธรรม และการท่องเที่ยวจากหลายประเทศ ไปแลกเปลี่ยนมุมมองความคิดเห็นกัน

ทั้งนี้ เจ้าภาพได้เลือก “RCEP” มาเป็นแนวคิดหลักของการจัดงานในปีนี้ ผมเลยถือโอกาสไปพูดในหัวข้อ “RCEP … A Stepping Stone for China to the World” ซึ่งได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก  

นัยว่าข่าวการกล่าวสุนทรพจน์ในงาน และบทสัมภาษณ์ของผมได้ถูกแพร่ภาพทางโทรทัศน์และสื่อท้องถิ่นอย่างกว้างขวาง ถึงขนาดว่ามีคนซานตงหลายรายแวะมาทักทายผมในบ่ายวันงานและวันรุ่งขึ้น ทั้งที่ไม่เคยรู้จักกันมาก่อน

กลับมาที่เรื่องกิจกรรมพิเศษที่พูดค้างไว้ ช่วงเวลาของการท่องเที่ยวสำคัญในช่วงครึ่งหลังของปีก็คงหนีไม่พ้น ช่วงหยุดยาว “วันชาติจีน” ในช่วงต้นเดือนตุลาคม ที่มักยาวนานมากกว่า 7 วัน 

คลื่นมหาชนดังกล่าวนำไปสู่ภาระหนัก ที่ผู้คนที่ใช้ชีวิตในจีนต้องเผชิญอย่างคาดไม่ถึง อันได้แก่ การแย่งซื้อตั๋วรถไฟความเร็วสูงและตั๋วเครื่องบิน 

แต่ผมรู้สึกยินดีเมื่อได้รับทราบว่า การบินไทยจะปรับเพิ่มจำนวนเที่ยวในเกือบทุกหัวเมืองหลักของจีน นับแต่ต้นเดือนกันยายนด้วยแล้ว ก็น่าจะเป็นโอกาสอันดีของไทยในการต้อนรับนักท่องเที่ยวจีนอย่างเต็มที่อีกครั้ง

กำลังสนุกเลย ผมจะขอหยิบเอาประเด็นร้อนในมิติด้านอื่นๆ มาคุยกันต่อในตอนหน้าครับ ...