เราคุ้ยแคะกันต่อเลยว่า เศรษฐกิจจีนดำดิ่งอย่างที่หลายฝ่ายกังวลใจหรือไม่ อย่างไร ...
ในเรื่องการกระตุ้นการบริโภค จีนได้พยายามสนับสนุนส่งเสริมการจัดกิจกรรมออนไลน์ และ ออฟไลน์ ควบคู่กันไปตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมา
เราเห็นการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายในโลกการค้าออนไลน์ อาทิ 5/5 (วันที่ 5 เดือน 5) 6/18 (วันที่ 18 เดือน 6) และ 11/11 (วันที่ 11 เดือน 11) ที่กลายเป็นเทศกาลช้อปปิ้งออนไลน์ ที่เปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคของคนจีนไปอย่างสิ้นเชิง
ขณะเดียวกัน คณะรัฐมนตรีจีนก็ประกาศผลักดันกิจกรรมออฟไลน์ อันนำไปสู่กิจกรรมและโครงการพิเศษมากมาย ที่ผมเกริ่นบางส่วนไปเมื่อตอนก่อน
การปิดถนนเพื่อจัด “งานวัด” เพื่อกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยตามมุมเมืองต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเย็นวันศุกร์-อาทิตย์ กลายเป็นสีสันที่ดึงดูดผู้คนออกมาใช้ชีวิตภายนอก เป็นเวทีให้ผู้ประกอบการน้อยใหญ่ได้ทำเงิน และเพิ่มการจ้างงาน
สถาบันการศึกษาในจีนที่ปิดภาคฤดูร้อน ก็ทำให้เด็กและวัยรุ่นมีโอกาสร่วมงาน และเชิญชวนพ่อแม่ผู้ปกครองออกมาจับจ่ายใช้สอยไปด้วย การปิดเทอมน่าจะลากยาวไปจนถึงสิ้นเดือนสิงหาคม
อย่างที่ผมเรียนไปว่า หัวเมืองด้านการท่องเที่ยวในจีน อาทิ ปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ กวางโจว เซินเจิ้น หนานจิง หังโจว ซูโจว ซีอาน ชิงเต่า ต้าเหลียน และ ซานย่า ต่างเต็มไปด้วยกิจกรรมพิเศษ อาทิ คอนเสิร์ต และ เทศกาลช้อปปิ้ง ซึ่งก็ยิ่งดึงดูดนักท่องเที่ยวอีกมาก ทั้งจากในและนอกพื้นที่ ถ้าอยากเห็นผู้คนและชอบการเบียดเสียด ผมแนะนำให้ท่านผู้อ่านไปเยือนหัวเมืองเหล่านี้ในช่วงนี้
ขณะเดียวกัน ภาครัฐและเอกชนยังผลักดันการแจกคูปองลดราคาสินค้า อาทิ เครื่องใช้ไฟฟ้าที่ประหยัดพลังงาน และมาตรการอุดหนุนการซื้อหา EVs เหล่านี้ก็น่าจะช่วยกระตุ้นภาคการบริโภค และภาคการผลิตของจีนได้อีกมาก
นอกจากนี้ จีนยังพยายามส่งเสริม “เศรษฐกิจการกีฬา” (Sport Economy) เพื่อให้เป็นอีกแนวทางหนึ่งในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ตอนผมเดินทางไปถึงโรงแรมที่เมืองจี่หนาน ผมก็แปลกใจผสมตกใจเล็กๆ เมื่อเห็น “ฝูงชน” สวมเสื้อแดงร้องเพลง โห่ร้อง และ โบกธงเต็มล้อบบี้
ทีแรกผมนึกว่าใครมาประท้วงอะไร แต่ผู้แทนฝ่ายจีนก็ไม่ได้แสดงอาการตกอกตกใจอะไร และสังเกตเห็นว่า ภายในไม่ได้วุ่นวาย แถมยังมีมุมต่างๆ จัดวางข้าวของจำหน่ายอยู่ ถามไปมาจึงได้ทราบว่า เป็นกลุ่ม FC ของทีมฟุตบอลเฉิงตู หรงเฉิง (Chengdu Rongcheng) จำนวนกว่า 1,000 คน ที่พร้อมใจกันบินข้ามจากด้านซีกตะวันตกของจีนเป็นเวลาหลายชั่วโมงมาเชียร์ทีมรักถึงจี่หนาน
วันนั้น โรงแรมห้าดาวที่มีค่าห้องพักมาตรฐานกว่า 1,000 หยวนถูกจองเต็มทุกห้อง ขณะที่ร้านอาหารเย็นแบบบุฟเฟ่ต์ราคาเกือบ 300 หยวนของโรงแรมก็เต็มทุกที่นั่ง ทำให้ผมมั่นใจว่า คนจีนยังมีกำลังซื้อที่ทรงพลังอยู่อย่างแท้จริง สภาวะ “เงินฝืด” จึงเป็นสิ่งที่ไกลจากสิ่งที่ผมพบเห็นในจีนอยู่มาก
ในด้านการลงทุน เป็นที่เป็นชัดเจนว่า ภายใต้ความพยายามในการ “พัฒนาคุณภาพสูง” ของจีน เราเห็นรัฐบาลจีนเดินหน้านโยบายการเปิดกว้างและการปฏิรูปเศรษฐกิจอยู่ต่อไป
ไม่ว่าจะเป็นการขยายความร่วมมือทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค ที่เราคุ้นชินก็เช่น การจัดตั้งเขตการค้าเสรี (FTA) การผ่อนคลายกฎระเบียบด้านการลงทุนแก่กิจการต่างชาติ และการยกระดับการแข่งขันผ่านกลไกการตลาดเสรี
นอกจากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยอ้างอิง และให้ความช่วยเหลือด้านภาษี ลดค่าธรรมเนียม และอื่นๆ แก่กิจการขนาดจิ๋ว ขนาดเล็ก และ ขนาดกลาง (MSMEs) และจีนยังให้ความสำคัญกับการพัฒนาสตาร์ตอัพในจีน โดยออกมาตรการลดหย่อนภาษีสูงถึง 70% ของวงเงินลงทุนแก่ Venture Capitalist และ Angle Investor ที่ลงทุนในสตาร์อัพระยะแรกเป็นเวลาอย่างน้อย 2 ปี
ขณะเดียวกัน จีนก็ส่งเสริมการลงทุนของกิจการจีนและจากต่างประเทศ โดยพยายามเสริมสร้างภาพลักษณ์ประเทศ และความเชื่อมั่นในสายตาของกิจการต่างชาติ คล้ายสถานการณ์ภายหลังการเปิดประเทศเมื่อกว่า 40 ปีก่อน และหลังยุคโรคระบาดซาร์ส
เราเห็นการเชิญผู้ทรงอิทธิพลในเวทีโลก และผู้บริหารระดับสูงของกิจการข้ามชาติรายใหญ่ และองค์การระหว่างประเทศจำนวนมากมาเยือนจีนในช่วงที่ผ่านมา
อาทิ เฮนรี คิสซิงเจอร์ (Henry Kissinger) อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศของสหรัฐฯ ที่เปิดความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ กับจีนเมื่อครึ่งศตวรรษก่อน ลีออน มัสก์ (Leon Musk) แห่งเทสลา (Tesla) และกิจการแห่งโลกอนาคต บิลล์ เกตส์ (Bill Gates) แห่งไมโครซอฟท์ (Microsoft) เจ้าแห่งซอฟท์แวร์โลก เบอร์นาร์ด อาโนลต์ (Bernard Arnolt) แห่งหลุยส์วิตตอง (Louise Vuitton) แบรนด์สินค้าฟุ่มเฟือยสุดปัง และอื่นๆ
โดยรัฐบาลจีนให้การต้อนรับบุคคลเหล่านั้นอย่างยิ่งใหญ่ จนบางครั้งผมรู้สึกว่า จีนให้เกียรติแก่ผู้แทนภาคเอกชนมากกว่าผู้แทนรัฐบาลสหรัฐฯ ที่เดินทางมาเยือนจีนในห้วงเวลาใกล้เคียงกันเสียอีก หลายรายได้เข้าเยี่ยมคารวะ และ หารือความร่วมมือกับ สี จิ้นผิง เลยทีเดียว นี่อาจเป็นการส่งสัญญาณอะไรบางอย่างไปยังรัฐบาลสหรัฐฯ ก็เป็นได้!
นอกจากนี้ ผู้บริหารระดับสูงของจีน ก็จัดเวทีการหารือพิเศษกับผู้บริหารของกิจการเป้าหมายแบบรายอุตสาหกรรมอีกด้วย ยกตัวอย่างเช่น หวัง เหวินเทา (Wang Wentao) รัฐมนตรีพาณิชย์จีน ได้ประชุมกับกิจการยาของต่างชาติในจีนจำนวน 12 ราย อาทิ แอสตราเซเนกา (AstraZeneca) ไฟเซอร์ (Pfizer) จีอีเฮลธ์แคร์ (GE Healthcare) และ โนโวนอร์ดิสก์ (Novo Nordisk)
พร้อมตอกย้ำถึงการสนับสนุนกิจการยาที่เกี่ยวข้องในจีนอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการลงทุนด้านวิจัยและพัฒนา โดยสะท้อนโอกาสทางธุรกิจของกิจการต่างชาติจากโครงสร้างสังคมผู้สูงอายุ ที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว และ การให้ความสำคัญกับเรื่องสุขภาพ และความเป็นอยู่ที่ดีของชาวจีน
รวมทั้งการพัฒนายาสำหรับโรคเฉพาะทางและยาเด็ก
อุตสาหกรรมเฮลธ์แคร์จีนมีศักยภาพที่จะเติบได้อีกมากในอนาคต จากสถิติในปีที่ผ่านมา ค่าใช้จ่ายด้านรักษาพยาบาลต่อจีดีพีของจีนยังอยู่ที่ราว 6.5% เทียบกับเกาหลีใต้ 8.8% และ เยอรมนี 12.4%
อย่างไรก็ดี ในกรณีนี้ ผมขอเรียนเสริมหน่อยว่า ความพยายายามดังกล่าวเกิดขึ้นในจังหวะที่รัฐบาลจีน กำลังเดินหน้าจัดระเบียบวงการสาธารณสุขระลอกใหม่
ขณะเดียวกัน รัฐบาลจีนยังสนับสนุนให้แต่ละพื้นที่จัดคณะผู้แทนภาครัฐและเอกชนเยือนต่างประเทศ เพื่อกระชับความสัมพันธ์และเชื้อเชิญให้กิจการต่างชาติขยายการลงทุนเข้าสู่จีนระลอกใหม่กัน
กำลังสนุกแต่พื้นที่ผมหมดอีกแล้ว ขอยกยอดไปเก็บตกประเด็นร้อนกันในตอนหน้าครับ ...
เกี่ยวกับผู้เขียน : ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน, อุปนายกและเลขาธิการสมาคมส่งเสริมการลงทุนและการค้าไทย-จีน ผู้เชี่ยวชาญที่สั่งสมความรู้และประสบการณ์เกี่ยวกับตลาดจีน มุ่งหวังนำข้อมูลและมุมมอง ความคิดเห็นเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวทางเศรษฐกิจ ธุรกิจ การตลาดและอื่น ๆ ที่อยู่ในกระแสของจีนมาแลกเปลี่ยนกับผู้อ่าน เพื่อเราจะไม่ตกขบวน “รถไฟความเร็วสูง” ของการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของจีน