8 ปัจจัยรัฐศาสตร์การเมือง กับอนาคตรัฐบาลใหม่ในปี 2566

24 เม.ย. 2566 | 04:15 น.
อัปเดตล่าสุด :24 เม.ย. 2566 | 04:23 น.

คอลัมน์ แก้เกมเศรษฐกิจการเมือง โดย ศ.ดร.อรรถกฤต ปัจฉิมนันท์ ผู้อำนวยการ สถาบันสัญญาธรรมศักดิ์เพื่อประชาธิปไตย

การพยากรณ์เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของรัฐบาลในประเทศไทยเป็นเรื่องที่ยากมากในปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม "การเลือกตั้ง" ในประเทศไทยอาจมีการเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา โดยขึ้นอยู่กับสถานการณ์และเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาก่อนการเลือกตั้ง

ดังนั้นความน่าจะเป็นของการเปลี่ยนแปลงของรัฐบาลในปี 2566 จะต้องรอดูและติดตามสถานการณ์เฉพาะหน้าในอนาคตที่ใกล้เข้ามา ซึ่งมีหลายปัจจัยที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงของรัฐบาลในประเทศไทยในปี 2566 โดยมีปัจจัยทางรัฐศาสตร์ดังนี้

1.การแข่งขันของพรรคการเมือง การแข่งขันของพรรคการเมืองในรัฐบาลชุดใหม่ในปี 2566 ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ซึ่งสามารถพิจารณาได้จากหลายแง่มุม เช่น ระบบการเลือกตั้ง นโยบายประชานิยมและกลยุทธ์ทางการเมืองซึ่งนำมาสู่การแก้ไขภาวการณ์ทางเศรษฐกิจในปัจจุบัน 

2.การเลือกตั้ง เป็นปัจจัยหนึ่งที่สำคัญ โดยเฉพาะในระยะเวลาใกล้เข้าสู่การเลือกตั้ง การสร้างความไว้วางใจในประชาชน การเสนอนโยบาย และแผนการดำเนินงานที่สอดคล้องกับความต้องการของประชาชน เป็นสิ่งที่สำคัญเพื่อเพิ่มโอกาสในการได้รับเลือกเป็นรัฐบาลชุดใหม่ในปี 2566

3.รูปแบบสถาบันทางการเมือง ในปัจจุบันก็มีผลต่อโอกาสในการเป็นรัฐบาลชุดใหม่ ซึ่งสามารถเป็นปัจจัยสำคัญได้ในการได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มผู้มีอิทธิพล โดยเฉพาะ วุฒิสภา 250 คน ในการเลือกนายกรัฐมนตรี

4.ขนาดของพรรคการเมือง ถือว่าเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการเป็นพรรคการเมืองที่มีอิทธิพลในการเลือกตั้ง และการควบคุมสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งพรรคการเมืองที่มีขนาดใหญ่มักจะมีความสามารถในการมองเห็น และวางแผนกลยุทธ์ในการเลือกตั้งได้ดียิ่งกว่าพรรคการเมืองที่มีขนาดเล็ก นอกจากนี้ ขนาดของพรรคการเมืองยังส่งผลต่อทรัพยากรที่พรรคสามารถใช้ได้ เช่น การมีเงินบริจาคจากสมาชิก และ ระบบอุปถัมภ์

5.โควตาจำนวนที่นั่งรัฐมนตรีกับการจัดตั้งรัฐบาล ไม่ได้ขึ้นอยู่เพียงแค่จำนวนที่นั่งในสภาก่อนมีการจัดตั้งรัฐบาลแต่ยังต้องพิจารณาจากหลายปัจจัย เช่น การมีพันธมิตรระหว่างพรรคการเมืองอื่น ๆ และจำนวนที่นั่งของรัฐมนตรีตามขนาดของพรรคการเมืองที่ควรจะได้ และอื่น ๆ อีกมากมาย

ดังนั้นการจัดตั้งรัฐบาลเป็นเรื่องที่ซับซ้อนและมีความยากลำบากในการดำเนินการให้สำเร็จ ไม่ว่าจะเป็นพรรคใดก็ตาม หรือ กล่าวได้ว่า พรรคการเมืองงขนาดกลาง และพรรคการเมืองขนาดเล็กจะต่อรองตำแหน่งรัฐมนตรีได้ง่ายกว่า และได้จำนวนที่สมดุลกว่าพรรคการเมืองงขนาดใหญ่ที่มีความต้องการที่นั่งรัฐมนตรีจำนวนมาก ซึ่งอาจจะจัดตั้งรัฐบาลได้ยากกว่าโดยเฉพาะ ในสภาวะที่การเมืองที่ไม่มีอะไรแน่นอน

6.การยุบพรรคในประเทศไทย สามารถเกิดขึ้นได้เสมอ โดยการยุบพรรคอาจจะทำให้เกิดความไม่พอใจกับสมาชิกของพรรค และกลุ่มผลประโยชน์ที่สนับสนุน เนื่องจากพวกเขาอาจจะไม่ได้รับโอกาสในการเข้าร่วมรัฐบาล ดังนั้น การยุบพรรคเพื่อใช้เงินในการซื้อจำนวนผู้แทนราษฎรในการจัดตั้งรัฐบาลเพื่อให้มีเสถียรภาพการเมือง ควรพิจารณาอย่างรอบคอบและมีเหตุผลที่ชัดเจนก่อนดำเนินการ ไม่ใช่เพียงแค่เพื่อเพิ่มโอกาสในการเข้าร่วมรัฐบาลเท่านั้น

7.ระบบการเลือกตั้งแบบสัดส่วน หรือ ระบบแบ่งเขต และบัญชีรายชื่อ จะส่งผลต่อต่อความได้เปรียบในพรรคการเมืองที่มีขนาดกลางถึงพรรคการเมืองที่มีขนาดเล็ก โดยข้อดีของงระบบการเลือกตั้งแบบนี้ คือ การจัดตั้งรัฐบาลจะเป็นแบบผสมซึ่งทำให้นโยบายมีความหลากหลายมากขึ้น

อย่างไรก็ตามอาจนำไปสู่การการทุจริตคอรัปชันมากขึ้น ถ้าในกระทรวงใดกระทรวงหนึ่งมีพรรคการเมืองหลายพรรคบริหารร่วมกันเช่น รัฐมนตรีว่าการมากจากพรรคการเมืองหนึ่ง และรัฐมนตรีช่วยมาจากพรรคการเมืองที่แตกต่างกัน จะทำให้การดำเนินนโยบายต้องมีค่าต้นทุน และการต่อรองมากขึ้นในการดำเนินงบประมาณและ อาจก่อให้เกิดการอนุมัติโครงการที่มีความล่าช้า ซึ่งส่งผลต่อการพัฒนาทางการเมืองและเศรษฐกิจ

8.รูปแบบการจัดตั้งรัฐบาลแบบ Minimal Range Coalitions สะท้อนถึงรูปแบบการจัดตั้ง รัฐบาลที่คำนึงประโยชน์จากการบริหารและจัดการนโยบายกันภายใต้อุดมการณ์เชิงนโยบายที่มีความใกล้เคียงโดยแน่นอนว่ารูปแบบการจัดตั้งรัฐบาลแบบ Minimal Range Coalitions จะสร้างความเป็นเสถียรภาพของการบริหารประเทศ โดยเฉพาะ การกำหนด เลือก และนโยบายสาธารณะไปปฏิบัติ (ปัจจัยที่พรรคการเมืองอ้างถึงแต่ถึงเวลาก็จะคำนึงโควตาจำนวนที่นั่งรัฐมนตรีกับการจัดตั้งรัฐบาลเช่นกัน) 

แน่นอนว่าปัจจัยจากที่ผมได้กล่าวมาอาจสามารถนำมาวิเคราะห์ได้ว่าพรรคการเมืองใดจะสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ ถ้าได้จะมีเสถียรภาพทางการเมืองหรือไม่ หรือ อาจนำไปสู่สถานการณ์ที่นำไปสู่ political deadlock หรือเรียกว่า การหยุดชะงักทางการเมือง และที่สำคัญอาจนำไปสู่การรัฐประหารอีกรอบได้เช่นกันถ้าผลประโยชน์ทางการเมืองของกลุ่มพรรคการเมืองมีระดับที่สูงกว่าผลประโยชน์ของประเทศชาติ