วัฒนธรรมอุแว้ แชร์ วัฒนธรรมหลอดแก้ว ฉากที่ 7

04 ต.ค. 2567 | 23:30 น.

วัฒนธรรมอุแว้ แชร์ วัฒนธรรมหลอดแก้ว ฉากที่ 7 : คอลัมน์เปิดมุกปลุกหมอง โดย...ดร.สุรวงศ์ วัฒนกูลหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 4033 หน้า 6

“วัฒนธรรม” คือ “พิพิธภัณฑ์มีชีวิต!” เพราะว่า “รูปทรงของวัฒนธรรมเกิดขึ้นจากจิ๊กซอว์นานารูปแบบ” จึงเป็น “จุดศูนย์รวมลักษณะ พฤติกรรมหรือผลงานที่มีเอกลักษณ์โดดเด่นเป็นหนึ่งของประเทศ”  

อย่างเช่น

ขี้ แล้ว กลบ…………แมว

ขี้ แล้ว แจว…………หมา

ขี้ แล้ว ราดน้ำราดท่า……คน

คนโบราณท่านเล่นสำนวนที่มีเนื้อหาชี้แนะความหมาย ให้สำนึกถึงกฎกติกามารยาทเกี่ยวกับสุขอนามัย ในการขับถ่ายของเสียให้เป็นที่เป็นทางและสะอาดสะอ้าน ทั้งยังมีความหมายแฝงให้ฉุกคิดว่า เราอยู่ในระดับใด ถึงแม้จะร้อยเรียงไว้เพียง 3 บรรทัด แต่มีเรตติ้งดียิ่งกว่าละเลงได้หนึ่งหน้า ทว่าหาสาระไม่เจอ 

ถ้ามีเงินพอที่จะเอา 3 บรรทัด นี้ไปติดตั้งไว้บนแผ่นป้ายคัทเอาท์ตรงวงเวียน ก็จะขยายผลกระหึ่มเป็น ทอล์คอ็อฟเดอะทาวน์ มันจะกลายเป็นศิลปะสอนใจประชาชน จะได้จดจำนำไปเมาท์เอาไปปฏิบัติทั่วเมือง เข้าข่าย วัฒนธรรม! ทันที

“ตลกลือ” อย่าได้ถือสา เขานินทากันว่า Guru กรีก กับ Guru อิตาลี มักจะถกเถียงกันบ่อยว่า คุณค่าทางปัญญาและวัฒนธรรมของพวกเรา มัน จึ้ง กว่าใครอื่นใดในโลก 

Guru กรีก คายว่า “ชาวอิตาลีทั้งหลายเรียนรู้ทุกสิ่งทุกอย่างที่รู้มาจากพวกเราชาวกรีก อย่างเช่น พวกเราได้ก่อตั้งวิหารแพนธีออนแบบคลาสสิก” Guru อิตาลี เคี้ยวว่า “เราได้พัฒนาจากทุกสิ่งทุกอย่างที่พวกคุณทำ เราเปลี่ยนชื่อพวกเขาและสร้างชื่อที่ใช้งานได้จริงมากขึ้นด้วย”  

Guru กรีก คายว่า “เราเป็นผู้คิดค้นสถาปัตยกรรม” Guru อิตาลี เคี้ยวว่า “เราสร้างโคลอสเซียม” Guru กรีก คายว่า “เราสร้างศิลปะแห่งการแกะสลัก”  

Guru อิตาลี เคี้ยวว่า “เรามีรูปปั้นเดวิดของไมเคิลแองเจโล”  Guru กรีก คายว่า “เราสร้างศิลปะแห่งการวาดภาพ” Guru อิตาลี เคี้ยวว่า “เราสร้างโมนาลิซ่า” Guru กรีก คายว่า “อ๋อ! เราสร้างศิลปะแห่งความรัก” Guru อิตาลี เคี้ยวว่า “เราแนะนำศิลปะนี้ให้ผู้หญิงรู้จัก”

ถ้าวันนั้นผมอยู่ในเหตุการณ์นี้ เห็นทีจะต้องเปิดเพลง Janteloven (จันเทลาเวน) ให้สดับเนื้อหาเพลงนี้เขาเน้นถ้อยคำ “ไม่มีใครดีกว่าใคร” คงเป็นหมัดฮุคเอาไว้กระตุกสติให้  “เห็นคนเป็นคน” ควบคู่ไปกับ “เห็นวัฒนธรรมเป็นวัฒนธรรม” 

บริษัทเชิญผมบรรยายหัวข้อ “วินัยดีมีโบนัส” ประมาณว่า “นัดส่งของวันใดต้องจัดให้เขาวันนั้น” วันนั้นมันมีสตอรี่จุดเล็กๆ แต่มันจะใหญ่ถ้ามีใครเอาแว่นขยายมาส่องดู เหตุเกิดมื้อเที่ยงในห้องอาหารบุ๊ฟเฟ่ต์ ผู้ฟังเขาเข้าแถวนำร่องไปแล้ว 7 คน ผมเข้าไปต่อแถวเป็น คนที่ 8 กำลังเดินตามหลังกันไปเพลินๆ ผมก็โดน ผู้จัดการทั่วไป ดึงผมออกจากแถวพาไปยืนปาดหน้าตรงหัวแถวเลียนแบบ “กล่องข้าวน้อยฆ่าวิทยากร” (ฮา) 

ท่านบอกผมด้วยความหวังดีว่า “อาจารย์บรรยายเหนื่อยก็ควรจะได้ทานก่อนคนอื่น” ผมก็ยกมือไหว้ขอบคุณแล้วขออนุญาตย้อนกลับไปต่อแถวใหม่ โชคไม่ร้ายแต่ก็ไม่ดี เพราะตอนที่ผมหลุดออกจากคิวมีคนมาต่อแถวอีกราวๆ ยี่สิบกว่าๆ (ฮา)  

ไม่น่าเชื่อว่า ท่านผู้จัดการ ยังคงมีน้ำใจตามมาจับแขนดึงผมไปอยู่ตรงหัวแถวเหมือนเดิม ผมจำเป็นต้องขัดใจเจ้านายผู้ว่าจ้าง ด้วยการยกมือไหว้ขอย้อนกลับไปต่อคิว ท่านผู้จัดการ หัวเราะแล้วถามผมว่า “ทำไมถึงไม่อยู่ตรงหัวคิว”

ผมพูดกระซิบให้ท่านได้ยินพร้อมกับชี้แจงท่านว่า “กราบเท้าขอโทษนะครับที่ขัดใจท่าน ผมลืมบอกท่านว่า ถ้าเป็นงานอื่นที่ผมมีกิจนัดหมายต้องรีบไปด่วน ผมก็คงจะขออนุญาตลัดคิว สำหรับวันนี้ ผมเพิ่งเล่าความเห็นให้เขาฟังว่า เราจะต้องมีวินัย ถ้าผมเผลอใช้สิทธิพิเศษไปแซงคิว เครดิตผมจะลดฮวบทันทีครับท่าน” ท่านผู้จัดการ อุทานซะดังว่า“เออว่ะ…ลืมไป” (ฮา) 

               วัฒนธรรมอุแว้ แชร์ วัฒนธรรมหลอดแก้ว ฉากที่ 7

อาศัยว่าผมกับท่านสนิทกันจึงจบลงด้วยดี แต่ก็ยังมีเศษของประเด็นปลิวว่อนเข้ามาในหัวใจ ท่านผู้จัดการ เห็นด้วยกับมุมมองของผม ด้วยเหตุดั่งว่า ท่านผู้จัดการ ก็เอากะเขามั่ง ท่านเข้ามายืนต่อคิวเดินตามหลังผม ลูกน้องทั้งแถวยิ้มแป้นกันตรึม (ฮา) 

ตัวอย่างนี้ไม่มีใครจะ “ใจหลัว” เรื่องราวมันบอกเลขท้ายชัดเจนว่า “กฎกติกามารยาท” คือ “วัฒนธรรม” 

“เจ้าเทา” เจ้าของคนเก่าเขาดูแลมันตามยถากรรม อารมณ์วัฒนธรรมยังไม่ซึมซับเข้าไปในจิตใจลึกๆ มันแสนซนจนต้องขังไว้ในกรง มีอยู่ช่วงหนึ่งที่เจ้าของเปิดกรงเอาอาหารใส่ให้มันกิน มันบินหนีไปซนตามนิสัย หลังจากเลือกฮวงจุ้ยนอกกรงจนเกาะได้ที่มันก็พูดว่า “แกมันตัวแสบจริงๆ!” คุณแม่ อดใจไว้ไม่ได้ จึงซักถามเจ้าของนกว่า “ทำไมซนจัง” เจ้าเทา ตอบสวนทันทีว่า “ผมเป็นนก!” (ฮา)

คนอังกฤษในยุคผู้ดี เขามีประเพณีสุดแปลกแตกกิ่งก้านความคิดเห็นสุดพีคไว้อีกกรณีหนึ่ง จัดว่าน่าทึ่งกระทั่งบัดนี้ยังไม่มีม็อบมาโวยให้เลิก ทุกครั้งที่มีการเลือกตั้ง นายกเทศมนตรีคนใหม่ต้องขึ้นไปยืนบนแท่นชั่งน้ำหนักกันซะดีๆ ก่อนที่จะเอาเก้าอี้ไปครอง ครั้นเมื่อหมดวาระ นายกเทศมนตรี ต้องขึ้นชั่งเพื่อวัดน้ำหนักอีกที 

เบื้องหลังของผู้ริเริ่มวิถีประเพณีนี้ เขาหมายตาเลือกวิธีเอาไว้ใช้เป็นเครื่องมือตักเตือนไม่ให้ ผู้นำ ทำตัวเป็นคน  ขี้เมา กินจุ นายกเทศมนตรี ท่านใดทำเป็น ไม่รุ๊! ไม่ชี้! เอาหูไปฮา เอาตาไปฮุบ จนน้ำหนักมันเพิ่มขึ้นกว่าเก่า เขาจะโดนพิธีกรรมนี้กลั่นกรอง  

ถ้าวันรับตำแหน่งเชฟดี แต่วันสิ้นสุดหน้าที่เอวกลม จะโดนชาวบ้านขว้างผลไม้ ประเพณีนี้ยังทำต่อเนื่องกันมา หลักนี้ในปัจจุบันมันกลายเป็น “กิ๊กในอ้อมกอดของวัฒนธรรม” ไปแล้ว

สังคมแต่ก่อนจะเลือกอะไรเอาไว้เป็นกำไร เขาใช้หลัก Bird Eye View (มุมมองจากตานก)

ล่วงมาถึงยุค AI ใครไม่สนใจ Human Eyes Action (บทกระทำตำตามนุษย์) มีแววล้าหลัง!