วัฒนธรรมอุแว้ แชร์ วัฒนธรรมหลอดแก้ว ฉากที่ 8

11 ต.ค. 2567 | 23:00 น.

วัฒนธรรมอุแว้ แชร์ วัฒนธรรมหลอดแก้ว ฉากที่ 8 : คอลัมน์เปิดมุกปลุกหมอง โดย...ดร.สุรวงศ์ วัฒนกูล หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 4035

ผมรู้ดีว่า “นักท่องทิวา” เขาชอบดูวิวทิวทัศน์ “นักท่องราตรี” เขาชอบดูอะไรผมไม่รู้จริงจริ๊ง (ฮา)

รอบนี้ผมสวมบทบาท กูรูลูกครึ่ง เป็นทั้ง นักวิชาการ และ นักวิชาการ เรื่องของเรื่องมันมีอยู่ว่า มีบางท่านเขาสงสัยว่า วัฒนธรรม ไปเกี่ยวดองข้องญาติอะไรกับ การทำธุรกิจ ประเด็นนี้ผมต้องขอบคุณกูรูท่านนั้นที่ได้ช่วยเปิดทางธรรมชาติให้ผมลอดรั้วเข้ามาได้ (ฮา)

ท่านผู้อ่านเตรียมหนังสติ๊กเอาไว้ให้ดีๆ ได้ทีจุดไหนยิงเข้ามาเลย เพื่อนมันบอกผมว่า “หน้าตาอย่างเอ็งไม่ต้องลงนะหน้าทอง ไปให้หมอศัลยกรรมเอาหนังควายมาเปลี่ยนแทนดีกว่า” (ฮา) ท่านใดอยากดังให้ทัวร์ลง ขอแนะนำให้ทำคลิป “โอเลี้ยงยกล้อ” ปล่อยเข้าไปในออนไลน์ ผู้ชมสายม้วบๆ จะคิดเอาเองว่ามันเป็น หนังโป๊ ม่าย…ช่าย

โอเลี้ยงยกล้อ คือ โอเลี้ยงใส่นม คาดว่า ที่มาของชื่อคงจะมาจากยี่ห้อนมข้นจืดในสมัยก่อน ที่มีรูปจักรยานอยู่ด้านข้างของกระป๋องนม เมื่อคนชงเทนมลงไป ภาพจักรยานก็จะคล้ายกับกำลังยกล้ออยู่

 

อนึ่ง...อะนะ แบบว่า “จ้ำบ๊ะโอเลี้ยง” คือ โอเลี้ยงที่เอาน้ำหวานสีแดง หรือ สีเขียว มาผสมให้มันชื่นใจ ตอนแรกอ่านปั๊บจิตหวั่นไหวอีกละสิ (ฮา)

“จ้ำบ๊ะโอเลี้ยง” มันต่างกันลิบลับกับ “จ้ำบ๊ะอั๊วะเลี้ยง” เพราะว่า “จ้ำบ๊ะอั๊วะเลี้ยง” คือ สาวนักเต้นแบบวับๆ แวมๆ ที่เต้นออเซาะให้เฮียชุบเลี้ยง (ฮา) อย่างไรก็ตาม จำบ๊ะในยุคโบราณดีหน่อยตรงที่เธอยังนุ่งกางเกงใน (ปรบมือเลยครับ)

สมมุติว่า ถ้าตลาด SMEs จัดงานกิจกรรม “วันจ้ำบ๊ะโอเลี้ยง” พร้อมกันทั้ง 4 ภาค คนชงจะต้องออกแบบลีลาการชงให้ไม่น้อยหน้าไปกว่า “ชาชัก” เรียกความสนใจให้นักท่องเที่ยวไทยและเทศ แวะมาชมชิม

ในงานควรมีรายการพิเศษ ผู้อาวุโสเกิน 60 ปี ลดครึ่งราคา กลุ่มจิตอาสาให้ดื่มฟรี จัดมันทุกปีจนคนจำแม่นกลายเป็นแฟนคลับ กิจกรรมดำเนินการเช่นนี้ทุกปีไม่ว่างเว้น จัดว่าเป็น “วัฒนธรรมโภชนาการ?” หรือเปล่า

ติ๊งต่างว่าถ้าเป็น จะยอมรับไหมว่า “วัฒนธรรม คือ สะพานธุรกิจ!”

สังคมไทยถ้ามีใครมาเยี่ยมเราถึงบ้าน ในฐานะเจ้าของบ้านเราจะจัดการต้อนรับ บอกแม่ครัวอย่างฉับไวให้รีบไปปรุง “จ้ำบ๊ะโอเลี้ยง” มาเสิร์ฟแขกด่วนจี๋ คิดว่าการต้อนรับขับสู้ด้วยเครื่องดื่มแบบนี้เหมือนกันทุกบ้าน ใครจะไปรู้จับพลัดจับผลูไทยเราอาจจะได้รับ “ถ้วยเกียรติบัตรจ้ำบ๊ะโอเลี้ยงแห่งโลก!” จาก UNESCO 

                                       วัฒนธรรมอุแว้ แชร์ วัฒนธรรมหลอดแก้ว ฉากที่ 8

ย้อนรอยไปดูกระแส ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ในช่วงนั้น มีการช่วงชิงเชิญนักธุรกิจให้ขนเงินมาลงทุนในประเทศกันนัวเนีย ลูกศิษย์ผมเป็นผู้ประสานงานการค้าระหว่างประเทศ เขาเล่าและถามผม
น่าสนใจไม่น้อยว่า “อาวุธในการรุกตลาด AEC มีอยู่สามอย่าง คือ

หนึ่ง มนุษย์เหนือมนุษย์ที่อ่านขาดว่าจะเดินเกมอย่างไร สอง ทุกฝ่ายต้องมีปฏิสัมพันธ์แบบ Engage หมายถึง หมั้นใจ ผูกเสี่ยว กับ ผู้กว้างขวางระหว่างประเทศและขาใหญ่ในพื้นที่ อาจารย์ลองเดาสิว่า อาวุธอย่างที่สาม คือ อะไร?” ผมตอบแบบไทยๆ ว่า

“เงินทุน?” ลูกศิษย์ผมยิ้มแป้นแล้วเฉลยว่า “ไม่ใช่ครับ อาวุธที่จะสู้กันต่อไปนี้ คือ วัฒนธรรม ครับ”

พื้นฐานวัฒนธรรมเริ่มมีสารนำร่องจากกิจกรรมที่ชาวบ้านใช้วิธีประสานไมตรีให้มาพบกัน เพื่อปฏิบัติดีปฏิบัติชอบต่อกัน จะได้มีพลังร่วมกันเป็นเครือข่าย หลังจากวัฒนธรรมในรูบแบบต่าง ๆ ผลิดอกออกผลแผ่สะพานใจขยายวงกว้าง ก็เกิดการแลกเปลี่ยนความคิดแตกฉานสร้างสรรค์ 

กิจกรรมแต่ละอย่างมักจะเริ่มต้นทำกันเองในชุมชน ครั้นเมื่อผู้นำชุมชนอื่นทัศนาจรมาดูผลงานก็สนใจ จึงเกิดการทาบทามให้แกนนำในชุมชนแรกช่วยไปสอนให้กับชุมชนต่างๆ ได้เรียนรู้ ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า คนที่ขอให้ต้นแบบช่วยเป็นโค้ช หรือ พี่เลี้ยง ย่อมจะได้รับสิ่งตอบแทนหรือค่าตอบแทน ผลงานที่นำไปแสดงเริ่มมีบทบาทในการทำกิจกรรมเชิงธุรกิจคล้ายๆ กับพิพิธภัณฑ์ที่ต้องซื้อตั๋วเข้าไปชมสิ่งของที่มีคุณค่า

ในทำนองที่คล้ายคลึงกัน ก็จะมีร้านค้าที่นำเอาสุดยอดศิลปะจากพิพิธภัณฑ์มาประยุกต์ใหม่ จะได้เปิดร้าน หรือ จัดตั้งบริษัทเพื่อจัดจำหน่าย คนรุ่นใหม่ที่สนใจ สินค้าวินเทจ คือ สินค้าลีลาอารมณ์ศิลป์ที่คนรุ่นเก่าชื่นชมว่า เป็นผลงานเชิงวัฒนธรรม แต่มันตกยุค นักธุรกิจหัวการค้าเอามาปลุกให้องค์ครูผู้จุดพลุออกแบบลงประทับ จัดมาประดับกันใหม่ กลายพันธุ์เล็กน้อยเป็น สินค้า “Vintage” 

วันดีคืนดีก็นัดกันมารวมกลุ่มชุมนุมเชยชมสีสัน และลวดลาย เช่นเดียวกับ เซียนซิ่งเอา โฟล์คสวาเกน รถเต่าเก๋ากึ๊กมาวิ่งโชว์กันร้อยคัน วัฒนธรรมนั้นๆ จึงไม่มีวันตาย ปรากฏการณ์เหล่านี้ถ้าไม่เรียกว่า ธุรกิจการค้า แล้วจะเรียกว่าอะไร

ส่งท้ายกันอย่างจริงจังว่า ในโลกนี้ไม่มีอะไรที่ไม่มีราคา มันขึ้นอยู่กับว่า เจ้าของรู้จักคุณค่าและวิธีทำให้เกิดประโยชน์สุขได้หรือเปล่า ถ้าเราโยน วัฒนธรรม ทิ้งไปว่าไม่เกี่ยวกับการตลาด เราก็จะกลายเป็นไก่ที่ไม่รู้จักอัญมณี