ทุนเกาหลีเข้าไปในกัมพูชา ช่วงปี 2000-2010 ที่เน้นการลงทุนในอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเป็นหลัก แต่ช่วง 10 ปีหลัง นักลงทุนจีนเข้ามาแทน และตอบโจทย์ในการพัฒนาเศรษฐกิจกัมพูชามากกว่าเกาหลีใต้ เพราะจีนไม่เน้นเฉพาะลงทุนในอุตสาหกรรม
ตัวเลขของสภาพัฒนาแห่งกัมพูชา (Council for the Development of Cambodia) รายงานว่า FDI ปี 2023 เท่ากับ 4.8 พันล้านเหรียญ (ASEAN Stat อยู่ที่ 3.9 พันล้านเหรียญ) ทุนจีนลงทุนเป็นอันดับหนึ่งในกัมพูชา มีสัดส่วน 40% ตามด้วยเกาหลีใต้และญี่ปุ่น
ในขณะที่นักลงทุนไทยหล่นจากอันดับ 5 มาอยู่อันดับ 7 นักลงทุนจีนลงทุนหลัก ๆ ใน 6 ประเภท คือ โครงสร้างพื้นฐาน อสังหาริมทรัพย์ อุตสาหกรรมการผลิต ท่องเที่ยว พลังงาน และเกษตรแปรรูป
ทุนจีนในกัมพูชามี 2 รูปแบบ คือ ลงทุนจากเงินกู้จีน และ ลงทุนโดยตรง โครงการลงทุนจากเงินกู้จีนคือ โครงการทางด่วนพนมเปญ-สีหนุวิลล์ เป็นเงินจาก Exim Bank จีน โครงการนี้ เชื่อมเมืองหลวงกับท่าเรือสีหนุวิลล์ ความยาว 190 กิโลเมตร (เส้นทางเดิม 230 กม. สร้างเมื่อปี 1970 มี 2 ช่องจราจร เงินทุนจาก UN) เป็นทางด่วน 4 เลน มูลค่าการลงทุน 1.9 พันล้านเหรียญ
โครงการนี้ร่วมทุนระหว่างจีน (สัดส่วน 60% อัตราดอกเบี้ย 2.5-3% ต่อปี) กัมพูชา (สัดส่วน 15%) และหน่วยงานอื่น ๆ สร้างโดยบริษัท China Road and Bridge Corporation (CRBC) ทางด่วนนี้ เปิดใช้เมื่อ เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2565
ส่วนโครงการที่ไม่มีการให้กู้ยืมเงิน ตัวอย่างเช่น เขตเศรษฐกิจพิเศษสีหนุวิลล์ (Sihanoukville Special Economic Zone) ลงทุนจาก China Cambodia Investment Corporation
ทุนจีนลงทุนในหลายจังหวัดกัมพูชา เช่น ใน พนมเปญ ลงทุนมากสุดสัดส่วน 35% ถือว่าเป็น “เมืองหลวงอสังหาริมทรัพย์จีน” ลงทุนที่อยู่อาศัย อาคารพาณิชย์ ถนนและสะพาน
สีหนุวิลล์ สัดส่วน 25% ถือว่าเป็น“เมืองหลวงคาสิโนจีน” ลงทุน คาสิโน โรงแรม เขตเศรษฐกิจพิเศษ กัมปอต (ติดสีหนุวิลล์) และ โพธิสัตว์ ถือว่าเป็น “เมืองหลวงพลังงานทางเลือกจีน” ลงทุนในโรงไฟฟ้าพลังงานลม แสงอาทิตย์
เสียมราฐ ถือว่าเป็น “เมืองหลวงท่องเที่ยวจีน” ลงทุนโรงแรม รีสอร์ท ที่อยู่อาศัย พระตะบอง (ติดไทย) ถือว่าเป็น “เมืองหลวงเกษตรจีน” ลงทุนโครงการการเพาะปลูก
สิ่งที่น่าจะเป็นข้อคิดสำหรับประเทศไทย คือ 1.ผลต่อการพัฒนาห่วงโซ่การผลิต เช่น อุตสาหกรรมมะม่วงอบแห้ง นำเข้าเครื่องจักร อุปกรณ์ทำการเกษตร สัดส่วน 80% จากจีน อุตสาหกรรมเสื้อผ้า และ อสังหาริมทรัพย์ 100% นำเข้ามาจากจีน
2.ศักยภาพแรงงานและการพัฒนาเทคโนโลยี เมื่อเปรียบเทียบทุนจีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ พบว่าทุนญี่ปุ่นเพิ่มทักษะฝีมือแรงงานและการพัฒนาเทคโนโลยีของกัมพูชาได้มากกว่าทุนจีน
3.ตลาดส่งออกเปลี่ยนแปลง การส่งออกสินค้าของกัมพูชาส่งออกเพิ่มขึ้นสูงในตลาดจีนตามด้วย ตลาดสหรัฐฯ แต่ลดลงในตลาดยุโรป และญี่ปุ่น 4.กับดักหนี้ ปี 2023 กัมพูชามีหนี้ต่างประเทศทั้งหมด 14 พันล้านเหรียญ สัดส่วน 45% ของ GDP โดย 50% เป็นหนี้จากประเทศจีน (7.2 พันล้านเหรียญ) ตามด้วยหนี้จากธนาคารโลก (15%) และ ADB (13%)
5.นำเข้าเพิ่ม ตั้งแต่ปี 2000 กับ 2023 กัมพูชานำเข้าจากจีนเพิ่มจาก 10% เป็น 35% แต่ลดการนำเข้าจากญี่ปุ่น และเกาหลี 6.SMEs เพิ่มขึ้น ทุนจีนทำให้เกิด SMEs กัมพูชา เพิ่มขึ้นกว่าทุนญี่ปุ่น และเกาหลี (ข้อนี้น่าจะแตกต่างจากไทย SMEs ไทยเลิกกิจการมากขึ้นเมื่อทุนจีนเข้ามา)