วงจรการพัฒนา ผู้สืบทอดธุรกิจครอบครัว

09 มี.ค. 2567 | 03:18 น.
อัปเดตล่าสุด :09 มี.ค. 2567 | 03:22 น.

วงจรการพัฒนา ผู้สืบทอดธุรกิจครอบครัว : Family Business Thailand รศ.ดร.เอกชัย อภิศักดิ์กุล คณบดีคณะวิทยพัฒน์ และผู้อำนวยการศูนย์ธุรกิจครอบครัว มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย [email protected]

สำหรับธุรกิจครอบครัวแล้ว ผู้นำถือเป็นส่วนสำคัญยิ่งในการอยู่รอดของธุรกิจครอบครัว เพราะแม้จะมีการวางแผนที่ดี แต่การสืบทอดที่ราบรื่นจะไม่สามารถเกิดขึ้นได้เลย เว้นแต่จะมีผู้สืบทอดที่เต็มใจ มีความสามารถ และเตรียมตัวมาอย่างดี ซึ่งการพัฒนาผู้สืบทอดธุรกิจครอบครัวที่มีประสิทธิผลจะต้องเริ่มต้นตั้งแต่เนิ่นๆ และเข้มข้นขึ้นเมื่อเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ ดังนั้นมาดูวงจรการพัฒนาผู้สืบทอดที่มีประสิทธิผลดังต่อไปนี้

การพัฒนาในช่วงวัยเด็ก (0 ถึง 20 ปี) รากฐานในการพัฒนาผู้สืบทอดธุรกิจครอบครัวที่ยิ่งใหญ่เริ่มต้นตั้งแต่อายุยังน้อย และค่านิยมที่ปลูกฝังโดยครอบครัว เช่น การทำงานหนัก (hard work) ความซื่อสัตย์ (integrity) ความพากเพียร (persistence) และความเห็นอกเห็นใจ (persistence) จะช่วยพัฒนาลักษณะนิสัยที่ประสบความสำเร็จได้ตลอดจนความสัมพันธ์ที่ดีในครอบครัวด้วย โดยลูกๆ มักจะรับสัญญาณจากพ่อแม่ และสัญญาณเหล่านี้สามารถสร้างความประทับใจไม่รู้ลืมเกี่ยวกับพัฒนาการของผู้สืบทอดในอนาคต

วงจรการพัฒนา ผู้สืบทอดธุรกิจครอบครัว

หากพ่อแม่มักบ่นและเน้นย้ำเกี่ยวกับปัญหาทางธุรกิจเป็นประจำ ลูกๆ ก็จะมีทัศนคติที่คล้ายกัน ในทางกลับกันหากพ่อแม่พูดคุยอย่างเปิดเผยแต่เฉพาะเรื่องความสำเร็จของธุรกิจ ลูกๆก็อาจเกิดการรับรู้ผิดๆ เกี่ยวกับธุรกิจ เจ้าของธุรกิจครอบครัวควรเน้นย้ำกับบุตรหลานของตนว่า การเข้าร่วมในธุรกิจเป็นเพียงทางเลือกเท่านั้น ไม่ใช่ภาระผูกพัน ไม่ควรชักจูงลูกให้เชื่อว่า ธุรกิจจะถูกส่งต่อให้พวกเขาอย่างแน่นอน ในขณะเดียวกันก็ไม่ควรถอดใจในการเปลี่ยนผ่านการบริหารและความเป็นเจ้าของให้ลูกไปเสียทีเดียวเช่นกัน

การพัฒนาส่วนบุคคล (20-30 ปี) แผนการพัฒนาส่วนบุคคลควรเริ่มดำเนินการเมื่อผู้สืบทอดอายุ 20 ปีต้นๆ เพื่อเตรียมเงื่อนไขที่ชัดเจนสำหรับก่อนจะเข้าสู่ธุรกิจครอบครัว สิ่งสำคัญคือครอบครัวควรจะต้องพิจารณาเลือกใช้องค์ประกอบตามความเหมาะสมของตนเอง สรุปตัวอย่างองค์ประกอบของแผนมีดังต่อไปนี้

• มีประสบการณ์จากธุรกิจภายนอก 3-5 ปี

• ได้รับการฝึกสอนจากที่ปรึกษาที่ไม่ใช่สมาชิกในครอบครัว

• ปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัย หลักสูตร 4 ปีในสาขาที่เกี่ยวข้อง

• จบ MBA หรือศึกษาเพิ่มเติมจากโปรแกรมภาวะผู้นำสำหรับผู้บริหาร

• ได้รับการว่าจ้างในตำแหน่งงานว่างที่มีอยู่ (ไม่สร้างตำแหน่งขึ้นใหม่) โดยได้รับเงินเดือนที่ยุติธรรม

• ได้รับการมอบหมายงานที่มีการพัฒนาทักษะข้ามสายงาน (การขาย การบัญชี การผลิต ฯลฯ)

• การมีส่วนร่วมในการประชุมทางธุรกิจและบริษัท

• ความรู้เกี่ยวกับประวัติ กลยุทธ์ ปรัชญา และวัฒนธรรมของบริษัท

ในระหว่างการพัฒนาผู้สืบทอดควรได้รับการส่งเสริมให้เข้ารับการพัฒนาทักษะเพิ่มเติมร่วมกับทีมผู้บริหารปัจจุบัน ซึ่งแนวทางนี้ทำให้มั่นใจได้ว่าผู้สืบทอดจะมีโอกาสในการมีส่วนร่วมอย่างมีความหมายต่อธุรกิจมากขึ้น และลดโอกาสที่จะเกิดความขัดแย้งระหว่างทีมผู้บริหารได้

การพัฒนาภาวะผู้นำ (30-40 ปี) เมื่อผู้สืบทอดได้ดำเนินการตามแผนพัฒนาส่วนบุคคลเสร็จสิ้นเป็นส่วนใหญ่หรือทั้งหมดแล้ว ควรเริ่มโครงการพัฒนาภาวะผู้นำที่เป็นทางการมากขึ้น ทั้งนี้เมื่อแผนพัฒนาส่วนบุคคลทำอย่างถูกต้อง ผู้สืบทอดก็ควรมีความเข้าใจที่ชัดเจนได้ว่าเรื่องใดที่จำเป็นต้องพัฒนาอย่างต่อเนื่อง สรุปองค์ประกอบของโปรแกรมการพัฒนาภาวะผู้นำที่มีประสิทธิผลมีดังต่อไปนี้

• แผนที่ชัดเจนเพื่อสร้างจุดแข็งและปรับปรุงจุดอ่อน

• มาตรฐานการปฏิบัติงานที่เป็นลายลักษณ์อักษร ข้อเสนอแนะอย่างไม่เป็นทางการ และการประเมินผลอย่างเป็นทางการ

• โอกาสในการดำเนินธุรกิจในส่วนที่โดดเด่น

• การมีส่วนร่วมอย่างแข็งขันในกลุ่มเพื่อนร่วมงาน การประชุมแสดงความคิดเห็น และองค์กรอุตสาหกรรม

• ได้รับการฝึกสอนและการให้คำปรึกษาเป็นประจำจากแหล่งต่างๆ ทั้งในและนอกธุรกิจครอบครัว

• การมีส่วนร่วมกับทีมที่ปรึกษามืออาชีพ (ทนายความ นักบัญชี ที่ปรึกษาทางการเงิน ฯลฯ) เพื่อการอำนวยความสะดวกและให้ความรู้ตามความจำเป็น

จากตัวอย่างแผนในข้างต้นไม่ว่าปัจจุบันครอบครัวจะอยู่ที่จุดเริ่มต้น กลางทาง หรือสิ้นสุดกระบวนการสืบทอดแล้ว แนวคิดเหล่านี้ก็ยังสามารถใช้เป็นแนวทางในการช่วยให้พัฒนาผู้สืบทอดที่มีประสิทธิผลได้ หากสามารถนำไปปรับใช้ได้อย่างเหมาะสม

 

ที่มา: Stephen L. McClure, John L. Ward, Craig E. Aronoff . 2011. Family Business Succession: The Final Test of Greatness. Macmillan. 112 pages. as cited in EISNERAMPER. 2019. Developing Effective Successors for Family Businesses. Available: https://www.pncpa.com/insights/developing-effective-successors-part-1/

ข้อมูลเพิ่มเติม: www.famz.co.th

 

หน้า 17 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 44 ฉบับที่ 3,972 วันที่ 7 - 9 มีนาคม พ.ศ. 2567