พลโท ดร.ไชยสิทธิ์ ตันตยกุล ผู้เชี่ยวชาญด้านยุทธศาสตร์และการป้องกันประเทศ ได้ประมวลและนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับเจตนารมณ์ของจีนต่อความร่วมมือด้านความมั่นคงในเอเชีย-แปซิฟิก อันประกอบด้วย
1. การส่งเสริมพื้นฐานในการพัฒนาร่วมกันและเคียงข้างกันทางด้านเศรษฐกิจ เพื่อสันติภาพและเสถียรภาพในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก โดยเฉพาะการเร่งกระบวนการในการรวมกันทางเศรษฐกิจ ด้วยการสร้างเขตเสรีทางการค้าและการเชื่อมโยงกันอย่างรอบด้าน ในการพัฒนาทั้งทางเศรษฐกิจและสังคม
โดยดำเนินการตามแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติ ค.ศ.2030 เพื่อลดช่องว่างของความแตกต่างจากการพัฒนาในภูมิภาคนี้ อันเป็นผลประโยชน์ของประเทศต่างๆ ด้วยการประสานสอดคล้องในการปฏิบัติ ซึ่งจีนได้ผลักดันกิจกรรมส่งเสริมเรื่องดังกล่าว โดยดำเนินการโครงการริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (Belt and Road Initiative : BRI)
รวมทั้งได้จัดตั้งธนาคารเพื่อการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานแห่งเอเชีย (Asian Infrastructure Investment Bank : AIIB) และ กองทุนเส้นทางสายไหม (Silk Road Fund)
2. การร่วมกันส่งเสริมการสร้างการเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ และความเข้มแข็งบนพื้นฐานทางการเมือง เพื่อการรักษาสันติภาพและเสถียรภาพ ซึ่งกุญแจที่มีสำคัญคือ การดำรงไว้ซึ่งการปฏิบัติต่อกันอย่างเสมอภาคกันและผลประโยชน์ที่จะได้รับจากความร่วมมือกัน
โดยจีนจะทำงานร่วมกับสหรัฐฯ เพื่อสร้างรูปแบบความสัมพันธ์ของประเทศใหญ่ในการลดความขัดแย้งและไม่เผชิญหน้ากัน มีความเคารพต่อกันและร่วมมือกัน
นอกจากนี้ จีนเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ที่รอบด้านและมีความร่วมมืออย่างลึกซึ้งกับรัสเซีย และได้สถาปนาความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับอินเดีย รวมทั้ง มีการผลักดันเพื่อฟื้นฟูความสัมพันธ์กับญี่ปุ่น
ทั้งนี้ ผู้นำจีนมีความมุ่งมั่นต่อแนวคิดของการเป็นประชาคมที่มีความแตกต่างกัน ในอนาคต ดังที่จีนได้สร้างการเป็นประชาคมร่วมกับประเทศต่างๆ ในกลุ่มอาเซียน เช่น ความร่วมมือลุ่มแม่น้ำหลันชาง (ล้านช้าง)-แม่น้ำโขง เป็นต้น เช่นเดียวกับความร่วมมือในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกโดยรวม
3. การร่วมกันเพื่อทำให้มีทางออกที่ดีขึ้นของภูมิภาค โดยมีกลไกพหุภาคี รวมทั้งกรอบความร่วมมือเพื่อให้เกิดความเข้มแข็งสำหรับสันติภาพและเสถียรภาพในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ด้วยการมีระบบความมั่นคงร่วมกันหลายฝ่าย และต่อต้านการมีอำนาจแต่เพียงฝ่ายเดียว
จีนสนับสนุนความร่วมมือที่ใกล้ชิดเพื่อสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจและขยายความร่วมมือในการเจรจาหารือด้านความมั่นคงผ่านกลไกต่างๆ เช่น องค์การความร่วมมือเซี่ยงไฮ้ (Shanghai Cooperation Organization : SCO) เป็นต้น
นอกจากนี้ จีนสนับสนุนการประชุมว่าด้วยการส่งเสริมปฏิสัมพันธ์และมาตรการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างประเทศในภูมิภาคเอเชีย (Conference on Interaction and Confidence-Building Measures in Asia: CICA) เพื่อเป็นกลไกในการเจรจาหารือและความร่วมมือ
4. การร่วมกันสร้างกฎระเบียบเพื่อพัฒนาความเป็นสถาบันของการรักษาสันติภาพและเสถียรภาพในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ยึดมั่นในการปกครองโดยกฎหมายเป็นบรรทัดฐาน และการยึดถือกฎบัตรสหประชาชาติเป็นพื้นฐานด้วยความบริสุทธิ์ยุติธรรม
โดยจีนสนับสนุนการดำเนินกิจกรรมบนพื้นฐานของกฎหมายระหว่างประเทศ ดังที่จีนร่วมกับ อินเดีย และ เมียนมา ในการริเริ่มหลักการพื้นฐานของการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ 5 ประการ (the Five Principles of Peaceful Coexistence) ในปี ค.ศ.1954 เป็นต้น
นอกจากนี้ จีนและอาเซียนได้ร่วมมือกันในการจัดทำปฏิญญาว่าด้วยแนวปฏิบัติของภาคีในทะเลจีนใต้ (Declaration on the Conduct of Parties in the South China Sea: DOC) อันเป็นพื้นฐานที่สำคัญการเจรจาโดยถือเป็นระเบียบปฏิบัติอย่างเป็นทางการ (Code of Conduct: COC) ต่อไป
5. การร่วมกันแลกเปลี่ยนทางการทหารและความร่วมมือที่จะเป็นหลักประกันต่อสันติภาพและเสถียรภาพในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก โดยจีนเข้ามีส่วนร่วมในความร่วมมือด้านความมั่นคงระหว่างประเทศ และยึดหลักพื้นฐานของการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ 5 ประการ
รวมทั้งการดำเนินการเพื่อความร่วมมือในการลดการเผชิญหน้าทางทหาร โดยเฉพาะส่งเสริมการมีกลไกเพื่อสร้างความเชื่อมั่นทางทหารบนพื้นฐานของการเคารพซึ่งกันและกัน ความเสมอภาคกัน การมีผลประโยชน์ร่วมกัน และความร่วมมือเพื่อให้ได้มาซึ่งผลประโยชน์ร่วมกัน
โดยจีนยึดมั่นในการเจรจาหารือเพื่อความร่วมมือด้านความมั่นคงทางทะเล ความร่วมมือในภารกิจการรักษาสันติภาพของสหประชาชาติ ความร่วมมือในการต่อต้านการก่อการร้ายระหว่างประเทศ การปฏิบัติการเพื่อการบรรเทาภัยพิบัติ ตลอดจนการฝึกและศึกษาทางทหารร่วมกับประเทศต่างๆ
6. การร่วมกันแก้ไขปัญหาความแตกต่างและข้อพิพาทอย่างถูกต้อง เพื่อดำรงรักษาสภาพแวดล้อมของสันติภาพ และเสถียรภาพในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก โดยร่วมกันหาทางออกของปัญหาอย่างสันติ มีการเจรจาหารือ รวมทั้งปรึกษากันด้วยความเคารพและเข้าใจในความแตกต่างซึ่งกันและกัน
โดยเฉพาะหลักพื้นฐานและกระบวนการทางกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายระหว่างประเทศและกฎหมายเพื่อความมั่นคงทางทะเลใหม่ ตลอดจนอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทางทะเล เป็นต้น
ทั้งนี้ จีนได้เสนอว่า ทุกประเทศในภูมิภาคนี้ ควรจะมีเป้าหมายร่วมกันทางยุทธศาสตร์ ในการมุ่งส่งเสริมสันติภาพ การแสวงหาเสถียรภาพและการพัฒนา รวมทั้งมีความไว้เนื้อเชื่อใจซึ่งกันและกันในทางการเมืองระหว่างประเทศ แม้ว่าจะมีข้อกรณีพิพาทที่เป็นจุดประเด็นร้อนในภูมิภาค เช่น ปัญหานิวเคลียร์ในคาบสมุทรเกาหลี รวมทั้งข้อพิพาทเกี่ยวกับอำนาจอธิปไตยทั้งทางบกและทางทะเล เป็นต้น
ตลอดจนการเผชิญกับสิ่งท้าทายต่อความมั่นคง โดยเฉพาะภัยคุกคามต่อความมั่นคงในรูปแบบใหม่ เช่น การก่อการร้าย อาชญากรรมข้ามชาติ และภัยพิบัติทางธรรมชาติ เป็นต้น
ที่มาของข้อมูล : The State Council Information Office of the People’s Republic of China (2017) .China’s Policies on Asia-Pacific Security Cooperation. Beijing : Foreign Languages Press Co.Ltd.