3 เครื่องยนต์เศรษฐกิจดับ นักวิชาการ-เอกชนชี้ รัฐแก้ปัญหาไม่ถูกทาง

08 มิ.ย. 2567 | 01:25 น.
อัปเดตล่าสุด :08 มิ.ย. 2567 | 01:49 น.

รัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน เข้ามาบริหารประเทศ 9 เดือนแล้ว หลายคนตั้งคำถามว่า ทำไมเศรษฐกิจไม่ดี ข้าวของแพง กำลังซื้อหด หุ้นร่วง ขณะภาคธุรกิจอยู่ในอาการเครียด ต้นทุนพลังงาน ค่าขนส่งพุ่งสูงขึ้น ค่าแรงขั้นตํ่าเตรียมปรับขึ้น 400 บาททั่วประเทศ ภาคส่งออกยังต้องลุ้นรายไตรมาส

3 เครื่องยนต์เศรษฐกิจดับ นักวิชาการ-เอกชนชี้ รัฐแก้ปัญหาไม่ถูกทาง

“ฐานเศรษฐกิจ” สัมภาษณ์พิเศษ นักวิชาการ และตัวแทนภาคเอกชนถึงมุมมองเศรษฐกิจไทยในเวลานี้ ส่วนใหญ่แสดงความกังวล จากรัฐบาลไม่มีแผนยุทธศาสตร์ในทางปฏิบัติที่เป็นรูปธรรมในการขับเคลื่อน แก้ปัญหาเแค่เฉพาะหน้า

รองศาสตราจารย์ ดร.สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ นักวิชาการอิสระ ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจและการเมือง กล่าวว่า ภาพรวมเศรษฐกิจไทยเวลานี้ อยู่ในอาการ “หยอดข้าวต้ม” ดูจากการเติบโตของเศรษฐกิจไตรมาสแรกปีนี้ยังเติบโตช้า ทั้งปีอาจจะดีกว่าปีก่อนเล็กน้อย โดยปีก่อนจีดีพีไทยโต 1.9% ปีนี้น่าจะโตราว 2.6% (ยังไม่รวมดิจิทัล วอลเล็ต) ถ้ารวมเงินดิจิทัลไตรมาส 4 ปีนี้ จีดีพีทั้งปีอาจจะโตได้ 3% แต่อย่าลืมว่าเงินดิจิทัลนี้เป็นการแก้ปัญหาเศรษฐกิจเฉพาะหน้าเท่านั้น

อย่างไรก็ดี เงินดิจิทัลจะช่วยได้แค่ปีเดียว ที่สำคัญการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทย มีคนจน-คนรวยที่มีช่องว่างต่างกันมาก หนี้ครัวเรือนไทยสูงสุดในอาเซียน ในแง่กำลังซื้อจริงปี 2566 โต 7% ถือว่าขยายตัวดี แต่ปี 2567 การบริโภคภาคเอกชนลดลง ไตรมาสแรกโตแค่ 3% ถือว่ากำลังซื้ออืด คาดทั้งปี 2567 เฉลี่ยกำลังซื้ออาจขยายตัวเหลือเพียง 3%

รศ.ดร.สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ นักวิชาการอิสระ ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจและการเมือง

“ตัวเร่งในการกระตุ้นเศรษฐกิจในขณะนี้มีตัวเดียวคือภาคท่องเที่ยว ปีนี้นักท่องเที่ยวต่างประเทศจะกลับมา 80-90% ในแต่ละเดือนคาดจะเข้ามาราว 3 ล้านคน ก่อนโควิดเรามีนักท่องเที่ยวต่างประเทศเข้ามา 40 ล้านคน ปีนี้น่าจะเข้ามาไม่ตํ่ากว่า 36 ล้านคน ส่วนการบริโภคภาครัฐจะเป็นบวก ขณะที่การลงทุนภาครัฐจะติดลบน้อยลง การส่งออกทั้งปีคาดจะเป็นบวก 1% หรือ 2% การใช้จ่ายภาครัฐขยับตัวได้เล็กน้อย”

สำหรับการแก้ปัญหาเศรษฐกิจของรัฐบาลยังไม่ถูกทาง เป็นเพียงการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ช่วยแล้วแต่ก็ยังไปเพิ่มปัญหาอื่นเข้ามา เช่น การขึ้นค่าแรง 400 บาททั่วประเทศ ต้องปรับขึ้นในกลุ่มแรงงานมีฝีมือไม่ใช่ปรับขึ้นทั้งหมดแบบนี้

3 เครื่องยนต์เศรษฐกิจดับ นักวิชาการ-เอกชนชี้ รัฐแก้ปัญหาไม่ถูกทาง

3 ปัจจัยเชื่อมโยงเศรษฐกิจแย่

ศาสตราจารย์ ดร.พรายพล คุ้มทรัพย์ นักวิชาการอิสระ กล่าวสอดคล้องกันว่า ไทยผ่านพ้นวิกฤตโควิดมาเกือบ 2 ปีแล้ว สภาพเศรษฐกิจไทยในเวลานี้ยังไม่ถึงขั้น “หยอดนํ้าเกลือ” แต่น่าจะเรียกว่าอยู่ในสภาพที่เหมือนคนป่วยที่ต้องหยอดข้าวต้มมากกว่า เรียกว่ากำลังพักฟื้นอยู่ ประเด็นสำคัญคือจะฟื้นตัวอย่างไร

ปัญหาทั้งหมดประเมินว่าเกิดจาก 1.งบประมาณรัฐนำออกมาใช้ล่าช้า กว่าที่หน่วยงานราชการจะเบิกจ่ายได้ก็ใช้เวลา ทำให้ไตรมาสแรกปีนี้เศรษฐกิจขยายตัวเพียง 1.5% 2.ภาพรวมการส่งออกเติบโตช้า บางช่วงมีติดลบจากปัจจัยทั้งภายใน-ภายนอกรุมเร้า 3.ความเชื่อมั่นของนักลงทุนไทยและต่างประเทศ มีไม่มากพอที่จะทำให้อยากลงทุนในเวลานี้

ขณะที่รัฐบาลยังแก้ปัญหาเศรษฐกิจไม่ถูกทาง ระยะแรกไปหมกมุ่นกับเรื่องดิจิทัล วอลเล็ต เรื่องนี้ตนเป็นหนึ่งในผู้ที่ยื่นหนังสือคัดค้าน เพราะเงิน 5 แสนล้านบาท เป็นการใช้จ่ายฟุ่มเฟือย ไม่ได้สร้างเสริมเศรษฐกิจให้แข็งแกร่งระยะยาว แถมสร้างหนี้สินให้รัฐ ที่สำคัญอาจทำให้เกิดปัญหาคอรัปชั่นได้

ศาสตราจารย์ ดร.พรายพล คุ้มทรัพย์ นักวิชาการอิสระ

“มีหลายวิธีในการกระตุ้นเศรษฐกิจเช่น 1.ดูงบบางอย่างของรัฐ หรือมีกองทุนบางกองทุนมีเงินมีโครงการอยู่แล้ว แต่ยังไม่สามารถอนุมัติได้ เช่น กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานมีงบไม่กี่พันล้าน แต่ผ่านการกลั่นกรองมาแล้วรอเสนอเข้ากรรมการกองทุนฯเคาะก็สามารถดำเนินการได้เลย 2.โครงการบางอย่างสร้างเสร็จแล้วแต่กลับยังไม่ได้ใช้ประโยชน์ เช่น รถไฟฟ้าสายสีส้ม (ศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี) ติดตรงแค่การประมูลสายสีส้มอีกด้านเท่านั้น ลงทุนเป็นหมื่นล้าน ต้องเร่งผลักดันให้ขับเคลื่อนต่อได้ 3.มอเตอร์เวย์บางสายเกือบเสร็จแล้ว ควรไปเร่งให้เร็วขึ้น เช่น สายบางปะอิน-โคราช

3 เครื่องยนต์เศรษฐกิจดับ

ด้านตัวแทนภาคเอกชน นายพงษ์เทพ เทพบางจาก นายกสมาคมผู้ผลิตเหล็กแผ่นเคลือบสังกะสี  กล่าวว่าภาพรวมเศรษฐกิจไทยในขณะนี้อยู่ในสภาพเต็มไปด้วยปัญหาที่มาจากขาดการให้ความสำคัญภาพใหญ่ในเชิงโครงสร้างส่วนรวมและไม่มีแผนยุทธศาสตร์ในทางปฏิบัติที่เป็นรูปธรรม หากบริหารแบบนี้ต่อสิ่งที่เคยหวังว่าอาจจะมีแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์นั้น บอกได้เลยว่าน่าจะสิ้นหวัง และจะนำไปสู่ปัญหาทางสังคมที่หนักขึ้น

พงษ์เทพ เทพบางจาก นายกสมาคมผู้ผลิตเหล็กแผ่นเคลือบสังกะสี

วันนี้วิกฤตเศรษฐกิจเกิดมาจากปัญหาสะสมเชิงโครงสร้างที่ไม่ได้รับการแก้ไข การกระตุ้นเศรษฐกิจให้ GDP ขยายตัวจะหวังรายได้ท่องเที่ยวอย่างเดียวยังไม่พอ ต้องอาศัยมิติอื่น ๆ ตามตัวแปรสมการ GDP ซึ่งพอไปดูในมิติต่าง ๆ ก็จะเข้าใจว่าทำไมถึงมีปัญหา ทำไมเครื่องยนต์ตัวอื่นที่จะผลักดันถึงดับกันหมดคือ

1.มิติของการใช้จ่ายภาครัฐผ่านงบประมาณประจำปี ที่มีการตั้งงบขาดดุลต่อเนื่องมาหลายปี แต่ถ้าเข้าไปดูฝั่งรายจ่ายจะพบว่าเป็นรายจ่ายประจำเช่นเงินเดือนของบุคลากร งบครุภัณฑ์ ใช้หนี้ดอกเบี้ยจากเงินกู้ งบผูกพันต่าง ๆ เหลือเงินจริง ๆ ที่จะให้รัฐบาลใช้ทำอะไรใหม่ๆ น้อยมากน่าจะประมาณ 2 แสนล้านบาท ครั้นจะกู้เพิ่มก็ติดประเด็นสัดส่วนเพดานหนี้สาธารณะ

ฉะนั้นการแก้ปัญหาด้านงบประมาณถ้าไม่หารายได้เพิ่มจากการเก็บภาษี ก็ต้องมาเข้มงวดด้านรายจ่าย โดยต้องคิดใหม่ทำใหม่ ทำให้ทันโลกเพื่อให้ได้งบประมาณกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่ม ควรโฟกัสรายจ่ายแบบจริงจัง เช่นทำไมเราต้องอนุมัติสร้างอาคารเรียนสถานศึกษาต่าง ๆ เพิ่มขึ้นท่ามกลางข้อสรุปที่ชัดเจนแล้วว่าประชากรโดยเฉพาะเด็กเกิดใหม่มีแนวโน้มลดลง หรือทำไมเราต้องเพิ่มกระทรวง กรม กอง วิทยาเขตการศึกษา หรือองค์กรอิสระมากขึ้น ทั้ง ๆ ที่เทคโนโลยีก้าวหน้าขึ้นเรื่อย ๆ  ในขณะที่ประเทศอื่นมีแนวโน้มที่ทำให้หน่วยงานรัฐ fit & slim มากขึ้น สิ่งเหล่านี้เป็นตัวอย่างของปัญหาเชิงโครงสร้างที่ยังไม่เห็นรัฐบาลไหนเข้ามาจัดการอย่างจริงจัง

2.มิติด้านการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ ก่อนวิกฤตต้มยำกุ้ง ไทยประกาศว่าจะเป็นเสือตัวที่ 5 ของเอเชีย วันนี้อย่าว่าแต่เสือเลย แมวก็น่าจะเป็นไปได้ยากแล้ว มาเลเซียเป็นตัวอย่างที่ดีในการปรับตัวเมื่อเทียบกับไทย เขายอมทิ้งอุตสาหกรรมยานยนต์มาตั้งหลักใหม่ในด้านอิเล็กทรอนิกส์ และการเป็นฮับด้านเซมิคอนดักเตอร์ที่เป็นกลางไม่ฝักใฝ่ขั้วอำนาจประเทศใด โดยประกาศเป็นแผนยุทธศาสตร์ชาติที่ชัดเจน

พอประกาศแล้วองคาพยพในด้านต่าง ๆ โดยเฉพาะคุณภาพการศึกษาก็ต้องพัฒนาคนมารองรับให้ทัน จึงทำให้เห็นแผนการดำเนินงานด้านการศึกษาของมาเลเซียไปได้เร็วแซงหน้าหลายประเทศรวมทั้งไทย โดยใช้ตัวชี้วัดจากหน่วยงานประเมินระดับสากล ปัจจุบันมาเลเซียดึงดูดนักลงทุนต่างชาติในด้านต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับซัพพลายเชนจากยุทธศาสตร์เป้าหมายหลักเข้ามาเพิ่มมากขึ้น

ย้อนกลับมามองประเทศไทยอุตสาหกรรมยานยนต์เดิมกินสัดส่วน 20% ของ GDP มีการจ้างแรงงานในระบบประมาณหนึ่งล้านคน พอรถ EV นำเข้าจากจีนเข้ามาตีตลาดด้วยนโยบายสนับสนุนจากภาครัฐ รัฐบาลต้องมาพิจารณาแล้วว่าจะเอายังไงต่อดี อุตสาหกรรมอื่น ๆ ก็เช่นกัน ต้องมีคำตอบที่ชัดเจน ค่าไฟฟ้าเราแพง ค่าแรงเริ่มมีปัญหา การเมืองยังเป็นที่น่ากังวลสำหรับนักลงทุน ถ้าไม่ชูยุทธศาสตร์ที่ชัดเจนและแข่งขันได้ การลงทุนก็จะมีปัญหาต่อไป

ดังนั้นเราต้องมาคิดว่าไทยมีอะไรที่เราได้เปรียบที่จะตอบโจทย์ด้านการแข่งขันและความมั่นคงในระบบห่วงโซ่อุปทาน อย่างกรณีความหลากหลายทางชีวภาพที่ไทยมีอยู่ สามารถนำไปต่อยอดและสนองตอบต่อแนวโน้มความต้องการในระดับโลก ไม่ว่าจะเป็นด้านอาหารหรือยา ถ้าประกาศเป็นแผนยุทธศาสตร์ชาติและแผนปฏิบัติที่ชัดเจน ช่วงแรกเทคโนโลยีอาจยังไปไม่ถึง จำเป็นต้องยอมขาดดุลทางเทคโนโลยีบ้างแต่ก็จะคุ้มค่าเพราะจะนำมาซึ่งการลงทุนอีกมาก

3.มิติการนำเข้า-ส่งออก ไทยมียอดสุทธิติดลบเพิ่มขึ้นต่อเนื่องคือมูลค่าส่งออกเราน้อยกว่าการนำเข้า เฉพาะคู่ค้าประเทศจีนอย่างเดียวไทยขาดดุลการค้าจีนกว่า 1 ล้านล้านบาท มิตินี้สะท้อนให้เห็นว่าโครงสร้างการทำงานในระดับนโยบายน่าจะมีอะไรที่เป็นปัญหา

“เมื่อโครงสร้างทั้ง 3 มิติไม่ได้ถูกแก้ไข ผลจึงมาตกอยู่กับสภาพเศรษฐกิจ และสังคม ปีนี้ถ้าไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ จะเป็นอีกปีที่นอกจากเราจะมีคนจนและคนแก่เพิ่มขึ้นแล้ว คงมีคนป่วยทางจิตเพิ่มขึ้นด้วย” นายพงษ์เทพ กล่าว