มีคนถามมามากว่า เมื่อ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) (THAI) ยื่นศาลล้มละลายกลางเพื่อขอมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการแล้ว การบินไทยจะเดินหน้าอย่างไร
คำถามต่อมาคือ แล้วสถานะของกระทรวงคมนาคมที่กำกับดูแลหน่วยงานนี้ กับกระทรวงการคลังในฐานะผู้ถือหุ้นและเจ้าหนี้จะแตกต่างกันเช่นไร
ผมขออธิบายง่ายๆ แบบนี้นะครับ เมื่อศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการแล้วมีผลดังนี้
1.ห้ามมิให้ฟ้องหรือร้องขอให้ศาลพิพากษาสั่งให้เลิกนิติบุคคลที่เป็นลูกหนี้
2.ห้ามนายทะเบียนมีคำสั่งให้เลิกหรือจดทะเบียนเลิกนิติบุคคลที่เป็นลูกหนี้
3.ห้ามธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ กรมการประกันภัย หรือหน่วยงานของรัฐ แล้วแต่กรณี สั่งให้เพิกถอนใบอนุญาตประกอบกิจการของลูกหนี้ หรือสั่งให้ลูกหนี้หยุดประกอบกิจการ
4.ห้ามฟ้องลูกหนี้เป็นคดีแพ่งเกี่ยวกับทรัพย์สินของลูกหนี้ และห้ามฟ้องลูกหนี้เป็นคดีล้มละลาย
5.ห้ามเสนอข้อพิพาทที่ลูกหนี้อาจต้องรับผิด หรือได้รับความเสียหายให้อนุญาโตตุลาการชี้ขาด ถ้ามูลหนี้นั้นเกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผน
6.ห้ามเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาบังคับคดีแก่ทรัพย์สินของลูกหนี้ ถ้ามูลหนี้ตามคำพิพากษานั้น เกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผน
7.ห้ามเจ้าหนี้มีประกันบังคับคดีเอากับทรัพย์สินที่เป็นหลักประกัน
8.ห้ามมิให้เจ้าหนี้ที่บังคับชำระหนี้ได้บังคับได้เองตามกฎหมายยึดทรัพย์สิน หรือขายทรัพย์สินของลูกหนี้
แปลความว่าหลังจากนี้ไป คณะผู้ทำแผน 6 คนที่ถูกแต่งตั้งไปจะสำคัญมากในการเสนอแผนกิจการต่อเจ้าหนี้กว่า 2.2 แสนล้านบาทให้เห็นพ้องต้องกันและรวมพลังผลักดันให้การบินไทยเดินหน้าต่อไปได้
แต่การจะเดินหน้าไปได้ ผู้ถือหุ้นต้องยอมลดทุนด้วย และที่สำคัญต้องเพิ่มทุนอีกก้อน รวมถึงต้องเจรจากับแบงก์ให้อัดเงินกู้เข้าไปให้กิจการเดินหน้า ไม่เช่นนั้นก็ไปต่อไม่ได้ เพราะกระแสเงินสดตอนนี้เหลืออยู่ไม่ถึง 5,000 ล้านบาท
ผมได้ยินมาว่า ตามแผนงานแล้วการบินไทยจะต้องกู้เงินฉุกเฉินระยะสั้น มาใช้ในการทำธุรกิจวงเงิน 58,103 ล้านบาท เขาคุยกันไปไกลกับแบงก์ว่าให้คิดดอกเบี้ยอัตราดอกเบี้ยปีละ 4% เพื่อทำให้สภาพคล่องในการดำเนินงานการบินไทยเดินหน้าหารายได้ เงินกู้ฉุกเฉินดังกล่าวจะเป็นการกู้ระยะสั้นไม่เกิน 2-3 ปี แล้วจะมีการนำรายได้จากการขายตั๋วโดยสารมาค้ำประกัน
ผมจึงเชื่อว่าแผนการกู้ชีพการบินไทยไปได้ ถ้าช่วยกันจริง และรัฐบาลออกโรงมาช่วยจริงอีกทางหนึ่ง เพราะเจ้าหนี้ที่จะมาให้กู้ก็คือแบงก์รัฐ กรุงไทย ออมสิน เอ็กซิมแบงก์ นั่นแหละ
คำถามต่อมา หน่วยงานของรัฐ 2 แห่ง คือคมนาคม กับกระทรวงการคลังจะทำงานกันอย่างไร
ผมพามาดูการให้สัมภาษณ์ คุณถาวร เสนเนียม รมช.คมนาคม จากพรรคประชาธิปัตย์ ในเรื่องการจัดการ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) THAI แล้วต้องขอชื่นชมการทำงาน การตัดสินใจจริงๆ
ที่ชื่นชมเพราะคุณถาวร เป็นรัฐมนตรีถาวร เป็นนักการเมือง เป็นเสนาบดี ที่รู้ทั้งรู้ว่าการบินไทยมีปัญหาและต้องนำไปสู่การฟื้นฟู และเป็นการฟื้นฟูกิจที่ทำให้ตัวเองไม่มีอำนาจบัญชาการ เรื่องแบบนี้ ถ้าคนบ้าอำนาจ จะไม่ต้องการให้หน่วยงานที่ทำรายได้เป็น 2 แสนล้านบาทต่อปีต้องหลุดมือไปแน่ แต่คุณถาวรทำ!
คุณถาวรบอกว่าอย่างนี้ครับ “ผมเข้ามาทำหน้าที่เป็น รมช.คมนาคม จนถึงตอนนี้ก็ร่วม 7 เดือน ผมพบร่องรอยของการบริหารที่ส่อทุจริตในช่วงประมาณ 2 ปีที่ผ่านมานี้ ร่องรอยการทุจริต เช่น กระบวนการจำหน่ายตั๋วโดยสารของสายการบินไทย
จึงได้แต่งตั้งคณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริงในการบริหารงานกิจการของบริษัท การบินไทย มี business unit อยู่ 5-6 business เช่น Cargo มีกำไร Catering มีกำไร ฝ่ายช่างปี 2562 ขาดทุนเล็กน้อย ส่วนสายการบินไทยสมายล์ ขาดทุนต่อเนื่องถึง 7,000 ล้านบาท
ส่วนกลุ่ม core business หรือธุรกิจหลักคือ ธุรกิจการบิน เช่น ในปี 2561 มีเส้นทางการบินที่ขาดทุน 48 เส้นทาง ส่วนเส้นทางที่ทำกำไรมี 59 เส้นทาง ในปี 2562 มีเส้นทางการบินขาดทุน 60 เส้นทาง มีกำไร 39 เส้นทาง
ในปี 2561 ขาดทุนประมาณ 11,000 ล้านบาท ส่วนปี 2562 ขาดทุน 12,000 ล้านบาท
...เมื่อไปดูเส้นทางต่างๆ ลอนดอน-กรุงเทพฯ ปี 2561 มีเที่ยวบินทั้งหมด 1,434 เที่ยวบิน ได้เงิน 8,718 ล้านบาท มาจากรายได้จากการขนผู้โดยสาร 7,689 ล้านบาท ขนสินค้าสัมภาระ 1,029 ล้านบาท ขาดทุน 669 ล้านบาท เฉลี่ยขาดทุนประมาณเที่ยวบินละ 4 แสน 6 หมื่นบาท
คุณถาวร ตามไปดูอีกว่าในปี 2562 มีเที่ยวบิน 1,434 เที่ยวเท่าเดิม มีรายได้รวม 8,546 ล้านบาท มาจากรายได้ผู้โดยสาร 7,715 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2561 โดยมีรายได้จากการขนสัมภาระ 831 ล้านบาท ของเดิมปีที่แล้ว 1,029 ล้านบาท ขาดทุน 1,313 ล้านบาท ขาดทุนเฉลี่ยเที่ยวละ 9 แสนบาท ขณะนี้ที่อัตราที่นั่งผู้โดยสารเต็ม 82.9% แต่ปี 2561 อยู่ที่ 77.7%
คุณถาวรบอกว่า ...ขาดทุนทุกเที่ยวบิน! ใน 1 ปีมี 1,434 เที่ยวบิน ถามว่าแล้วอยู่ได้อย่างไร
พบว่า การบินไทยขายตั๋วโดยสารเอง 20% นอกนั้นเป็นการขายโดยเอเยนซี ผมก็ถามผู้บริหารการบินไทยว่า ยกเลิกเอเยนซีได้ไหม เขาก็บอกว่า เป็นระบบ royalty พึ่งพากันมานาน เลิกไม่ได้ นี่คือปัญหา
"ถามว่านี่คืออะไร ที่ผ่านมา บอร์ดก็เดิมๆ ผู้บริหารก็เดิมๆ แต่ประเมินผ่านการทำงานกันได้ทั้งสองฝ่าย บอร์ดก็ประเมินผ่านหมด ยกเว้นตัวเองลาออก ดีดีการบินไทยก็เพิ่งลาออก ก็ประเมินผ่านหมด หมายความว่ายังไง ไปดู Catering ที่มีกำไร ประมาณ 2 พันล้านบาท คาร์โกกำไร 3 พันล้านบาท แค่นี้ก็พอแล้ว ฝ่ายช่างก็ขาดทุนไม่มาก 200-300 ล้านบาท น่าเศร้าไหม ที่ด้านปฏิบัติการการบินขาดทุนกันหมื่นกว่าล้านบาท แต่แค่ขยับนิดเดียวก็มีกำไรแล้ว
ผมจึงเห็นว่าควรที่การบินไทยต้องเข้าสู่การฟื้นฟูกิจการ"
และเป็นการฟื้นฟูกิจการที่นายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ต้องกล้าที่จะตัดสินใจ
คุณถาวรบอกว่า เรื่องผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการของการบินไทย สำคัญมาก
...ความคิดผม อยากให้นายกรัฐมนตรีเป็นคนแต่งตั้ง เพราะน่าจะเป็นที่เชื่อถือได้มากกว่าคนอื่นตั้ง หรือมีคณะทำงานในการบริหารแผน ที่ไม่จำเป็นต้องเป็นคนเดียว อาจสัก 1-3 คน ไม่ควรให้มีมากเกินไป หรือจะตั้งผู้บริหารแผนฟื้นฟูแค่คนเดียวก็ยังได้ ไม่อย่างนั้นมันจะเทอะทะ และระหว่างทำแผนอาจเถียงกันไม่จบ ส่วนผู้เชี่ยวชาญแต่ละด้านที่จะเข้าไปเป็นผู้บริหารแผนฟื้นฟู จริงๆ ถ้าจะมาจากตัวแทนเจ้าหนี้หนึ่งคนและตัวแทนลูกหนี้หนึ่งคนก็จะสวย
นี่คือความคิดเห็นของรัฐมนตรี เสนาบดี ที่กำกับดูแลการบินไทย ที่หลายคนไม่เคยรับทราบ
คุณถาวรรับรู้ว่า เมื่อกระทรวงการคลังได้ขายหุ้นบริษัทการบินไทยให้กองทุนรวมวายุภักษ์ 69 ล้านหุ้น คิดเป็นสัดส่วน 3.17% อันส่งผลให้กระทรวงการคลัง ถือหุ้นในการบินไทย เหลือแค่ 47.86% จากเดิม 51.03% ทำให้การบินไทยสิ้นสภาพการเป็นรัฐวิสาหกิจไปเรียบร้อยแล้ว และหมายถึงอำนาจในการกำกับดูแลของตัวเองหลุดมือไป แต่ไม่คิดที่จะยึดถือมาเป็นเรื่องใหญ่ หากแต่คิดที่จะผลักดันให้กิจการสายการบินแห่งชาติเดินหน้าต่อไปได้
ผมจึงขอคารวะแทนคนไทยว่า รัฐมนตรีต้องคิดแบบนี้ ไม่ใช่ยึดติดแต่เพียงว่าหน่วยงานนี้ของข้า ใครอย่าเตะ ไม่เช่นนั้นพังไปข้างหนึ่ง
ผมจึงเชื่อว่าการบินไทยมีทางออก ถ้าทุกคนช่วยกันอย่างมีสปิริตเหมือนคุณถาวร คุณละคิดอย่างไร!