จากผลกระทบของโควิด-19 ในปีที่ผ่านมา ซํ้าเติมด้วยการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ ทำให้นับเป็นเวลาร่วมปีแล้วที่ธุรกิจโรงแรมไทย ที่มี 3.04 หมื่นแห่ง รวมห้องพักกว่า 1.12 ล้านห้อง (ทั้งถูกกฎหมายและไม่ถูกกฎหมาย) ต้องเผชิญกับปัญหาการขาดสภาพคล่องอย่างหนัก จากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่หายไป
แม้รัฐบาลจะสนับสนุนให้คนไทยเดินทางเที่ยวในประเทศ แต่ก็ไม่เพียงพอที่จะชดเชยรายได้ที่หายไปได้ เนื่องจากธุรกิจโรงแรมและที่พักมีสัดส่วนรายได้ที่เกิดจากนักท่องเที่ยวต่างชาติสูงถึง70% ซึ่งคิดเป็นมูลค่าสูงถึง 572,820 ล้านบาท
ประกอบกับสภาวะของธุรกิจโรงแรมที่ต้องเผชิญกับปัญหาโอเวอร์ซัพพลายอยู่แล้วเดิม เมื่อยอดเข้าพักน้อยลง ก็ยิ่งตอกยํ้าให้อุปทานที่มีมากอยู่แล้วล้นขึ้นไปอีก แล้วไหนจะภาระเงินกู้เดิม ซึ่งธุรกิจโรงแรมมีมูลค่าสินเชื่อคงค้างอยู่มากถึง 4.19 แสนล้านบาท
ที่ผ่านมาธุรกิจโรงแรมต้องเลิกจ้างพนักงานต่อเนื่อง ส่งผลให้บุคลากรในธุรกิจโรงแรม ตกงานแล้วถึง 1 ล้านคน และมีแนวโน้มเสี่ยงตกงานเพิ่มขึ้นอีกราว 1 แสนคน
ขณะที่หลายโรงแรมก็เลือกปิดกิจการชั่วคราว หรือเปิดกิจการบางส่วน เพราะโรงแรมที่ยังเปิดกิจการอยู่ ก็ยอมที่จะขาดทุน แต่อย่างน้อยก็มีกระแสเงินสดเข้ามาจ่ายเงินเดือนพนักงาน เนื่องจากต้องลดราคาห้องพักลง เพื่อดึงกลุ่มลูกค้าคนไทย
โดยเห็นได้จากอัตราการเข้าพักเฉลี่ยของธุรกิจโรงแรมในภาพรวมทั้งประเทศในปีที่ผ่านมาอยู่ที่ 68.95% เหลือเพียงอยู่ที่ 27.87% และการขายราคาห้องพักเฉลี่ยโดยรวมทั้งประเทศ ราคาห้องพักเฉลี่ยตํ่าที่สุด 1,932.58 บาทต่อคืน เหลือ 781 บาทต่อคืน
ดังนั้นภาพรวมของการดำเนินธุรกิจโรงแรม ณ วันนี้ มีโรงแรมที่ยังคงเปิดกิจการปกติ คิดเป็นสัดส่วน 21.26% เปิดกิจการบางส่วน 14.65% (โดยเปิดให้บริการมากกว่าหรือเท่ากับครึ่งหนึ่งของภาวะปกติ) เปิดกิจการบางส่วน 33.83% (โดยเปิดให้บริการน้อยกว่าหรือเท่ากับครึ่งหนึ่งของภาวะปกติ) และปิดกิจการชั่วคราว 11.62%
โดยเฉพาะธุรกิจโรงแรมการพึ่งพานักท่องเที่ยวต่างชาติสูง ในเมืองท่องเที่ยวหลักต่างๆ ล้วนแต่ได้รับผลกระทบทั้งสิ้นแม้รัฐบาลจะมีการออกมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการ อย่างขยายเวลาชำระหนี้ ยกเว้นการจัดเก็บค่าธรรมเนียมโรงแรมก็ช่วยโรงแรมได้ระดับหนึ่ง หรือแม้แต่มาตรการซอฟต์โลนก็เป็นเรื่องยากสำหรับธุรกิจในระดับเอสเอ็มอีในการเข้าถึงแหล่งเงิน
ขณะที่โรงแรมขนาดใหญ่แม้จะเข้าถึงแหล่งเงินได้ แต่ด้วยความที่ต้องแบกรับการขาดทุนมาร่วมปีแล้ว ก็ทำให้ธุรกิจโรงแรมไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่ต่างก็ต้องเผชิญกับมรสุมโควิด-19 อย่างหนักเช่นกัน ทำให้บางโรงแรมที่ทนไม่ไหวก็ออกมาประกาศขายกิจการ
หากปล่อยไว้เช่นนี้ ท้ายสุดโรงแรมที่ยังเปิดให้บริการอยู่ในปัจจุบัน ก็จะมีเงินหมุนเวียนของธุรกิจลดน้อยลง อาจต้องกลายเป็นหนี้เสีย ปิดตัวลงหรือขายกิจการตามต่อกันไป
ดังนั้นเมื่อภาครัฐ มีนโยบายที่จะผลักดันโครงการ “Asset Warehousing” หรือโครงการ “พักทรัพย์ พักหนี้” วงเงิน 1 แสนล้านบาทขึ้นมาที่จะเริ่มโครงการได้ในเดือนพ.ค.นี้
ผู้ประกอบการโรงแรมก็มองว่าน่าจะช่วยต่อลมหายใจให้ธุรกิจได้ ระหว่างที่ไทยกำลังเตรียมแผนจะเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติในช่วงปลายปีนี้
โครงการนี้จะเป็นการสร้างกลไกให้ลูกหนี้สามารถดำเนินธุรกิจได้ในอนาคต ซึ่งสถาบันการเงินจะรับซื้อหนี้ในทรัพย์สินที่มีศักยภาพ โดยจะต้องมีการทำสัญญาขายทรัพย์ให้กับเจ้าหนี้คนเดิม และกำหนดราคาทรัพย์เป็นต้นทุนที่ตีโอนในวันนี้ เพื่อให้ในอีก 3-5 ปี เจ้าของโรงแรมจะสามารถกลับซื้อคืนได้ราคาเดิม
แต่อาจมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมในการดูแลทรัพย์นั้น แต่จะอยู่ในค่าใช้จ่ายที่ตํ่ามากๆ อีกทั้งในระหว่างอยู่ในโครงการลูกหนี้ยังมีสิทธิมาขอเช่าทรัพย์นั้น เพื่อกลับไปประกอบธุรกิจได้ ก่อนจะมีความสามารถกลับมาซื้อคืนได้ในอนาคต
โครงการนี้จะช่วยให้ผู้ประกอบการธุรกิจลดภาระหนี้และดอกเบี้ย ประคองกิจการและรักษาการจ้างงาน ผู้ประกอบการธุรกิจมีโอกาสกลับมาเปิดกิจการในอนาคต ไม่ถูกกดราคาทรัพย์สิน
เพราะมีนักลงทุนต่างชาติมากดซื้อในราคาถูก หรือไม่ถูกขายทอดตลาดจนทำให้ราคาสินทรัพย์ในตลาดโดยรวมลดลง และไม่ทำให้สถาบันการเงินช่วยเหลือลูกหนี้ไม่เป็นเอ็นพีแอล เพื่อก้าวข้ามวิกฤตโควิด-19
นางมาริสา สุโกศล หนุนภักดี นายกสมาคมโรงแรมไทย (ทีเอชเอ) เผยว่า โครงการพักทรัพย์ พักหนี้ จะช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถลดภาระทางการเงินได้ชั่วคราว ด้วยการโอนทรัพย์ไว้กับธนาคารโดยมีสัญญาซื้อคืน เพื่อรอการฟื้นตัวของธุรกิจโดยไม่สูญเสียกิจการไป
ในส่วนของโรงแรมที่เป็นสมาชิกสมาคมโรงแรมไทย (ทีเอชเอ) เราได้มีการสำรวจความสนใจของสมาชิกต่อการเข้าร่วมโครงการดังกล่าว พบว่าผู้ประกอบการกว่า 79.63% มีความสนใจจะเช่าโรงแรมต่อจากธนาคาร ภายหลังการทำ Asset Warehousing
ทั้งนี้พบว่ามีโรงแรมแสดงความสนใจทั้งสิ้น 198 โรงแรม มีหนี้รวม 3.21 หมื่นล้านบาท มูลค่าสินทรัพย์ราว 8.24 หมื่นล้านบาท โดยเป็นโรงแรมระดับ 3 ดาวมากสุด คิดเป็นสัดส่วน 40.9% ตามมาด้วยโรงแรมระดับ 4 ดาว คิดเป็นสัดส่วน 30.3% โรงแรมระดับ 5 ดาว คิดเป็นสัดส่วน 16.7% ที่เหลือจะเป็นโรงแรมระดับ 1-2 ดาว
“ผู้ประกอบการโรงแรม อยากให้ธุรกิจสามารถซื้อโรงแรมคืนในราคาเดียวกับที่ทางสถาบันการเงินซื้อหนี้โรงแรมไป แต่อาจมีค่าดำเนินการเพิ่มนิดหน่อย เพื่อให้ธุรกิจอยู่ต่อไปได้ เพราะที่ผ่านมาธุรกิจโรงแรมไม่สามารถกลับมาเปิดให้บริการได้ทั้งหมด
เนื่องจากไม่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติ ตลาดในประเทศมีไม่เพียงพอ บางรายเปิดๆปิดๆ โดยเปิดเฉพาะวันหยุดยาว” นางมาริสา กล่าวทิ้งท้าย
นสพ.ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41 หน้า 8 ฉบับที่ 3,664 วันที่ 25 - 27 มีนาคม พ.ศ. 2564
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :